Home บทความคดีแพ่ง จุดใดบ้างที่ศาลฎีกาใช้วินิจฉัยองค์ประกอบความผิดฉ้อโกง

จุดใดบ้างที่ศาลฎีกาใช้วินิจฉัยองค์ประกอบความผิดฉ้อโกง

1375

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 3,100,000 บาท ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 800,000 บาท และบริษัทเอ้ก กรุ๊ป จำกัด จำนวน 600,000 บาท

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นางรัชนก นายลิลิต และบริษัทเอ้ก กรุ๊ป จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ลงโทษจำคุก 8 เดือน ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 500,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในส่วนของโจทก์ร่วมที่ 3

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี ให้จำเลยคืนเงิน 3,100,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และคืนเงิน 800,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าปรากฏข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ว่า เมื่อประมาณกลางเดือนสิงหาคม 2556 โจทก์ร่วมที่ 1 เคยติดต่อกับจำเลย จำเลยแจ้งว่าทำงานอยู่ที่รัฐสภา บริษัทเอ้ก กรุ๊ป จำกัด เคยเสนองานที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย แต่ไม่ได้รับการตอบรับ บริษัทเอ้ก กรุ๊ป จำกัด ประสงค์จะทำสื่อโฆษณาเกี่ยวกับป้ายที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยอีกส่วนหนึ่ง โจทก์ร่วมที่ 1 จึงเสนอโครงการดังกล่าวให้จำเลยทราบทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อขอให้ช่วยติดต่อเกี่ยวกับโครงการติดตั้งสื่อป้ายโฆษณาในพื้นที่ของทางราชการ จำเลยแจ้งว่าในการเสนอโครงการจะต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบวิจัยเรื่องสิ่งแวดล้อมกับพื้นที่ใกล้เคียง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคณะนักกฎหมายที่จะต้องร่างสัญญา ค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาโครงการระยะยาว 15 ปี ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโครงสร้างของป้ายทางวิศวกร และค่าใช้จ่ายในการรังวัดที่ดินที่จะติดตั้งป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ รวมประมาณ 4,500,000 บาท ต่อมาวันที่ 20 กันยายน 2556 จำเลยนัดโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ให้ไปพบที่รัฐสภา และแจ้งให้โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 นำเงิน 4,500,000 บาท ติดตัวไปด้วย โดยบอกว่าจะให้โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 พบกับเจ้านายของจำเลย โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 นำเงินสด 4,500,000 บาท บรรจุในถุงกระดาษเดินทางไปพบจำเลย แต่ไม่พบกับเจ้านายของจำเลย ในที่สุดโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 มอบเงินสด 4,500,000 บาท บรรจุอยู่ในถุงกระดาษให้แก่จำเลย แต่หลังจากวันที่ 22 กันยายน 2556 โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถติดต่อกับจำเลยได้อีก ซึ่งข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 บ่งชี้ให้เห็นว่า เหตุที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 มอบเงินสดจำนวน 4,500,000 บาท ให้แก่จำเลย เนื่องจากโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นฝ่ายติดต่อขอให้จำเลยช่วยเหลือ และจำเลยแจ้งว่าในการเสนอโครงการติดตั้งป้ายโฆษณาในพื้นที่ของทางราชการจะต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นเงินรวมประมาณ 4,500,000 บาท โดยมิได้เกิดจากเหตุที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 หลงเชื่อจากการถูกจำเลยหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยทำงานเป็นคณะกรรมาธิการอยู่ที่อาคารรัฐสภา และสามารถติดต่อช่วยเหลือให้โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ได้รับงานเกี่ยวกับการทำป้ายโฆษณาให้ส่วนราชการต่าง ๆ ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องแต่ประการใด ดังนั้น แม้จะรับฟังข้อเท็จจริงให้เป็นยุติตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่า จำเลยได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ก็มิใช่เป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ด้วยการยืนยันข้อเท็จจริงใดอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 การกระทำของจำเลยย่อมไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ด้วยเหตุนี้เอง ฎีกาในข้ออื่นของจำเลยจึงไม่อาจหักล้างเป็นอย่างอื่นและเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีไปได้ ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นฟ้อง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

สรุป

Facebook Comments