Home ข่าวสาร พฤติการณ์ที่ศาลฎีกาถือว่าเป็นการสมัครใจเลิกสัญญาในคดีก่อสร้าง

พฤติการณ์ที่ศาลฎีกาถือว่าเป็นการสมัครใจเลิกสัญญาในคดีก่อสร้าง

866

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน 992,737.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 690,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินค่าก่อสร้างล่วงหน้าจำนวน 992,737.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 690,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ยกฟ้องแย้งของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งคัดค้านในชั้นนี้ฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2552 จำเลยเสนอราคารับเหมาก่อสร้างต่อเติมและดัดแปลงรั้ว หลังคา และบริเวณทางเดินภายในโรงงาน ผลิตนมของโจทก์ โจทก์ต่อรองราคาและจำเลยลดราคาให้เหลือ 2,300,000 บาท (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตามสำเนาใบเสนอราคาพร้อมแบบแปลนการก่อสร้าง ตกลงกันว่าจำเลยจะเรียกเก็บค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าร้อยละ 30 จากโจทก์เป็นเงิน 690,000 บาท ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 70 จะเรียกเก็บเมื่อทำงานก่อสร้างแล้วเสร็จตามสำเนาใบสั่งซื้อ หลังจากนั้นวันที่ 30 ตุลาคม 2552 จำเลยได้รับเงินค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้า 690,000 บาท และค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 48,300 บาท รวมเป็นเงิน 738,300 บาท ไปจากโจทก์ตามใบสั่งซื้อ ต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน 2555 โจทก์ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล์) ไปถึงจำเลยแจ้งว่า จำเลยไม่ได้ก่อสร้างตามใบสั่งซื้อ ขอให้จำเลยคืนเงิน 690,000 บาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่โจทก์ วันที่ 18 กันยายน 2555 โจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยว่าจำเลยออกแบบไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนด จึงไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและขอให้จำเลยคืนเงินมัดจำตามหนังสือบอกเลิกสัญญา จำเลยได้รับแล้วตามใบตอบรับ แต่จำเลยไม่คืนเงิน โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา เห็นว่า โจทก์จำเลยทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง จำเลยรับเงินค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าร้อยละ 30 ของราคาค่ารับเหมาก่อสร้างพร้อมภาษีมูลค่าเพิ่มไปจากโจทก์เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2552 แล้ว จำเลยตกลงกับโจทก์ว่าจะทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 3 ถึง 4 สัปดาห์ แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์จำเลยได้กำหนดวันเดือนใดที่จะปฏิบัติการชำระหนี้ต่อกัน กล่าวคือ โจทก์ไม่ได้กำหนดวันเริ่มต้นก่อสร้างตามสัญญา จำเลยก็ไม่ได้บอกกล่าวกำหนดวันให้โจทก์ส่งมอบพื้นที่ให้แก่จำเลย ทั้งสองฝ่ายต่างเพิกเฉยปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาเป็นเวลานานเกือบ 3 ปี แสดงว่าคู่สัญญาไม่นำพาที่จะปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ดังนั้น การที่โจทก์จะใช้สิทธิเลิกสัญญาจึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 หากโจทก์ต้องการเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยทำการก่อสร้างภายในระยะเวลาพอสมควรก่อน ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติภายในเวลาที่กำหนด โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งตามหนังสือบอกเลิกสัญญาโจทก์หาได้บอกกล่าวกำหนดเวลาให้จำเลยก่อสร้างตามสัญญาก่อนไม่ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย แต่การที่โทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย จำเลยก็มิได้โต้แย้ง เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์จำเลยต่างต้องคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าร้อยละ 30 ของราคาค่ารับเหมาก่อสร้างพร้อมภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่โจทก์ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้จัดทำแบบแปลนการก่อสร้างต่อเติม ดัดแปลงรั้ว หลังคา และบริเวณทางเดินภายในโรงงานผลิตนมของโจทก์ และส่งมอบให้แก่โจทก์เรียบร้อยแล้ว จึงถือว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระค่าการงานในส่วนที่จำเลยได้ส่งมอบไปแล้วเป็นเงิน 690,000 บาท นั้น เห็นว่า โจทก์และจำเลยตกลงค่าดำเนินการและกำไรเป็นเงิน 173,746 บาท แบบแปลนการก่อสร้าง เป็นส่วนหนึ่งของค่าดำเนินการและกำไร และเป็นการงานอันจำเลยได้กระทำให้โจทก์แล้ว ที่จำเลยนำสืบว่าค่าแบบแปลนเป็นเงิน 690,000 บาท จึงเกินกว่าส่วนที่ตกลงกันดังกล่าว เมื่อจำเลยมิได้นำสืบว่าค่าแบบแปลนมีราคาเท่าใดที่แน่นอน จึงกำหนดค่าแบบแปลนให้แก่จำเลยเป็นเงิน 10,000 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 700 บาท รวมเป็นเงิน 10,700 บาท ซึ่งจำเลยมีสิทธิเรียกคืนในส่วนนี้ เมื่อหักกับเงินที่จำเลยต้องจ่ายคืนให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ 727,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 680,000 บาท นับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า เงินค่าจ้างล่วงหน้าที่โจทก์ฟ้องเรียกคืน ถือได้ว่าเป็นเงินทดรองจ่ายที่ผู้ว่าจ่างจ่ายไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) จึงมีอายุความสองปี โจทก์จ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2552 จนถึงวันที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและให้ชำระเงินคืนกำหนดระยะเวลาที่เกินกว่าสองปี ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าของโรงงานผลิตนม มิใช่ผู้ประกอบการค้ารับจ้างก่อสร้าง โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้ก่อสร้างต่อเติมและดัดแปลงรั้ว หลังคา และบริเวณทางเดินภายในโรงงานผลิตนมของโจทก์ โจทก์จ่ายค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าร้อยละ 30 ให้แก่จำเลยเป็นเงิน 690,000 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 48,300 บาท รวมเป็นเงิน 738,300 บาท หลังจากนั้นวันที่ 18 กันยายน 2555 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญา และเรียกให้จำเลยคืนเงิน แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงขอบังคับให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวคืน มิใช่เรื่องที่โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้รับจ้างเรียกเอาเงินที่ตนได้ออกทดรองจ่ายไปในการทำงานให้แก่ผู้ว่าจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ซึ่งมีอายุความสองปี แต่กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์เป็นผู้ว่าจ้างเรียกเอาเงินที่ตนได้จ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่ผู้รับจ้างคืน ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่สัญญาเป็นอันเลิกกัน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงิน 727,600 บาท พร้อมมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 680,000 บาท นับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

โจทก์จำเลยทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง จำเลยรับเงินค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าร้อยละ 30 ของราคาค่ารับเหมาก่อสร้าง แต่ไม่ได้กำหนดวันเดือนใดที่จะปฏิบัติการชำระหนี้ต่อกัน หากโจทก์ต้องการเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยทำการก่อสร้างภายในระยะเวลาพอสมควรก่อน กล่าวคือ โจทก์ไม่ได้กำหนดวันเริ่มต้นก่อสร้างตามสัญญา จำเลยก็ไม่ได้บอกกล่าวกำหนดวันให้โจทก์ส่งมอบพื้นที่ให้จำเลย ทั้งสองฝ่ายต่างเพิกเฉยปล่อยให้เวลาล่วงเลยมานานเกือบ 3 ปี แสดงว่าคู่สัญญาไม่นำพาที่จะปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ดังนั้น การที่โจทก์บอกเลิกสัญญา จำเลยก็ไม่ได้โต้แย้ง เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์จำเลยต่างต้องคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าให้แก่โจทก์ จำเลยได้จัดทำแบบแปลนการก่อสร้างต่อเติมดัดแปลงรั้ว หลังคา และบริเวณทางเดินภายในโรงงานและส่งมอบให้แก่โจทก์แล้ว เป็นการงานอันจำเลยได้กระทำให้โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยมิได้นำสืบว่าค่าแบบแปลนมีราคาเท่าใด จึงกำหนดค่าแบบแปลนให้จำเลย 10,700 บาท

โจทก์เป็นเจ้าของโรงงานผลิตนม มิใช่ผู้ประกอบการค้ารับจ้างก่อสร้าง โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้ก่อสร้างต่อเติมดัดแปลงรั้ว หลังคา และทางเดินภายในโรงงานผลิตนมของโจทก์ โจทก์จ่ายค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าให้แก่จำเลย โจทก์ขอบังคับให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวคืน มิใช่เรื่องที่โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้รับจ้างเรียกเอาเงินที่ตนได้ออกทดรองจ่ายไปในการทำงานให้แก่ผู้ว่าจ้างจากผู้ว่าจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ซึ่งมีอายุความ 2 ปี แต่กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์เป็นผู้ว่าจ้างเรียกเอาเงินที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าให้แก่ผู้รับจ้างคืน ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

  • มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายวิศวะ

    โทร 086-807-5928

    อ่านบทความเพิ่มเติม https://www.englawyers.com/

Facebook Comments