Home บทความคดีแพ่ง จุดใดบ้างที่ศาลฎีกาใช้วินิจฉัยความเป็นผู้เสียหายในคดีหมิ่นประมาท

จุดใดบ้างที่ศาลฎีกาใช้วินิจฉัยความเป็นผู้เสียหายในคดีหมิ่นประมาท

1129

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326

ระหว่างพิจารณา นางพรพิมล ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ร่วมอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำคุก 6 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ เห็นว่าการที่โจทก์ร่วมไปหาจำเลยที่ห้องพักซึ่งแม้จะได้ความตามที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ร่วมรบกวนการครอบครองห้องพักโดยปกติสุขของจำเลย แต่โจทก์ร่วมก็ไม่ได้บอกให้จำเลยกล่าวถ้อยคำอันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ร่วมมีส่วนร่วมหรือก่อให้เกิดการกระทำความผิดอันจะเป็นเหตุที่ทำให้โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาทตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) บัญญัติไว้แต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวตามฟ้องเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับโจทก์ร่วมและเคยมีเพศสัมพันธ์กันมาก่อน เพียงแต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากันเท่านั้น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับโจทก์ร่วมในลักษณะดังกล่าวก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิที่จะกล่าวประจานโจทก์ร่วมแก่บุคคลที่สามด้วยถ้อยคำว่า ไม่รู้จักโจทก์ร่วม แต่โจทก์ร่วมมานั่งเฝ้าจำเลยที่ห้องทุกคืน จนจำเลยต้องไปนอนที่อื่นและมาเฝ้าตั้งแต่เช้า มาเฝ้าถึงที่ทำงานของจำเลยโดยอ้างว่าเป็นภริยาจำเลย และโจทก์ร่วมมาคอยตามตื๊อจำเลยตลอดเวลา อันเป็นถ้อยคำที่ทำให้บุคคลที่สามเข้าใจว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้หญิงไม่ดีคอยตามตื๊อจำเลยซึ่งเป็นผู้ชายตลอดเวลา และแอบอ้างเป็นภริยาของจำเลยแม้คำว่า “ใส่ความ” ตามที่บัญญัติในความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้นิยามศัพท์ว่ามีความหมายอย่างไร แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายไว้ว่า หมายถึงการพูดหาเหตุร้าย กล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย เมื่อการกล่าวถ้อยคำดังกล่าวของจำเลยดังกล่าวเป็นการกล่าวที่ทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายถ้อยคำที่จำเลยกล่าวจึงเป็นการใส่ความโจทก์ร่วม และการกล่าวถ้อยคำดังกล่าวนั้นเห็นได้ชัดว่าจำเลยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ร่วมได้รับความอับอาย อันเป็นการทำลายชื่อเสียงของโจทก์ร่วมและทำให้โจทก์ร่วมถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ทั้งเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว ไม่มีลักษณะไปในทำนองแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

สรุปการที่โจทก์ร่วมไปหาจำเลยที่ห้องพักซึ่งแม้จะได้ความตามที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ร่วมรบกวนการครอบครองห้องพักโดยปกติสุขของจำเลย แต่โจทก์ร่วมก็ไม่ได้บอกให้จำเลยกล่าวถ้อยคำอันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ร่วมมีส่วนร่วมหรือก่อให้เกิดการกระทำความผิด อันจะเป็นเหตุที่ทำให้โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)

Facebook Comments