Home คดีอาญา จอดรถไหล่ทาง โดยไม่เปิดไฟส่องสว่าง เป็นการประมาทหรือไม่

จอดรถไหล่ทาง โดยไม่เปิดไฟส่องสว่าง เป็นการประมาทหรือไม่

2920

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2210/2544โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2540 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยขับรถบรรทุก 10 ล้อ พร้อมรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 80-3632 ยโสธร ไปตามถนนวารีราชเดชจากทางด้านอำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร มุ่งหน้าไปทางด้านอำเภอเลิงนกทาจังหวัดยโสธร เมื่อจำเลยขับถึงบริเวณบ้านหนองซ้งแย้ หมู่ที่ 7ตำบลคำเตย อำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร ยางเส้นในล้อหลังรถพ่วงด้านขวาแตก จำเลยจึงจอดรถบนถนนดังกล่าวในลักษณะกีดขวางการจราจรและไม่เปิดไฟสัญญาณฉุกเฉินของรถเพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่ทราบ โดยรู้อยู่แล้วว่าในขณะนั้นเป็นเวลามืดค่ำแสงสว่างไม่เพียงพอที่ผู้ขับขี่จะมองเห็นรถที่จอดในทางเดินรถได้โดยชัดแจ้งในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร และด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังของจำเลยดังกล่าวเป็นเหตุให้นายอนุรักษ์สมสอน ซึ่งขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนยโสธร ช-2962ไปตามถนนดังกล่าวมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกัน ไม่อาจระมัดระวังและมองเห็นรถบรรทุกพร้อมรถพ่วงที่จำเลยจอดอยู่ได้ จึงพุ่งเข้าชนท้ายรถบรรทุกพร้อมรถพ่วงอย่างแรง ทำให้รถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหายและนายอนุรักษ์ถึงแก่ความตาย ตามรายงานการชันสูตรพลิกศพท้ายฟ้อง หลังจากนั้นจำเลยหลบหนีไปไม่ให้ความช่วยเหลือนายอนุรักษ์ตามสมควร และไม่แสดงตัว ทั้งไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที กับไม่แจ้งชื่อตัวชื่อสกุลและที่อยู่ของจำเลยแก่ผู้ได้รับความเสียหาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและจำเลยใช้รถบรรทุกพร้อมรถพ่วงดังกล่าวซึ่งเป็นรถที่ใช้ในการขนส่ง บรรทุกหินแล่นไปตามถนน โดยที่ยังมิได้เสียภาษีประจำปีเหตุทั้งหมดเกิดที่ตำบลคำเตย อำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 78, 157, 160 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 71, 85, 148

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 78 วรรคหนึ่ง, 157, 160 วรรคหนึ่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 71, 148ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหายและผู้อื่นถึงแก่ความตาย ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ฐานหลบหนีไม่หยุดให้ความช่วยเหลือฯ จำคุก 2 เดือน ฐานใช้รถที่จดทะเบียนแล้วแต่มิได้เสียภาษีประจำปีปรับ 8,000 บาท รวมจำคุก 1 ปี 2 เดือนและปรับ 8,000 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยจอดรถบรรทุกพร้อมรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 80-3632 ยโสธรในไหล่ทางในเวลาที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอที่จะมองเห็นได้โดยชัดแจ้งในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร ต่อมาผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ชนท้ายรถคันที่จำเลยขับมาจอดไว้ดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยกระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายหรือไม่ ปัญหาข้อนี้จำเลยฎีกาในทำนองว่าจำเลยได้เปิดไฟสัญญาณฉุกเฉินเพื่อให้ผู้ขับรถคันอื่นสามารถมองเห็นได้แล้ว แต่เหตุเกิดเพราะความประมาทของผู้ตายเองนั้น เห็นว่า ในข้อที่ว่าจำเลยเปิดไฟสัญญาณไว้หรือไม่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยจอดรถไว้โดยไม่ได้เปิดไฟสัญญาณฉุกเฉิน และขณะเกิดเหตุเป็นเวลามืดค่ำแล้ว จำเลยมีหน้าที่ต้องเปิดไฟฉุกเฉินไว้เป็นสัญญาณป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุ แต่จำเลยงดเว้นไม่ปฏิบัติตามจนเกิดเหตุขึ้น ถือว่าเหตุเกิดเพราะความประมาทของจำเลยด้วย จำเลยอุทธรณ์เพียงว่าขณะเกิดเหตุยังไม่มืด ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยเปิดไฟสัญญาณฉุกเฉินไว้หรือไม่จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า เหตุเกิดเพราะความประมาทของผู้ตายเองนั้นเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจุดที่จำเลยจอดรถและเกิดเหตุชนกันอยู่ในไหล่ทางด้านซ้ายของถนน แสดงว่าจำเลยได้จอดรถในลักษณะที่ไม่กีดขวางการจราจรแล้ว แต่การที่จำเลยจอดรถในเวลามืดค่ำโดยไม่ได้เปิดไฟหรือใช้แสงสว่างตามที่กำหนดในกฎกระทรวงเพื่อเป็นสัญญาณให้ผู้ขับขี่มองเห็นรถที่จอดอยู่จนเป็นเหตุให้ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์พุ่งเข้าชนท้ายรถคันที่จำเลยจอดทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นผลจากความประมาทของจำเลยไม่ว่าจะฟังว่าผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วยหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องถือว่าเหตุที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเกิดเพราะความประมาทของจำเลยด้วยไม่ทำให้จำเลยพ้นผิดไปได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯมาตรา 43(4), 157 มาด้วยนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุที่ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์พุ่งเข้าชนท้ายรถคันที่จำเลยขับซึ่งจอดอยู่ในไหล่ทางจนถึงแก่ความตายเกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวังของจำเลยที่ไม่เปิดไฟสัญญาณของรถให้ผู้ตายซึ่งขับรถมาทางด้านหลังสามารถมองเห็นรถคันที่จำเลยจอดไว้ในระยะห่างเพียงพอที่ผู้ตายจะหยุดรถหรือหลบหลีกไปได้แล้วการที่ผู้ตายขับรถชนถึงแก่ความตายจึงเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากความประมาทของจำเลยที่งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น หาใช่ผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการขับรถของจำเลยไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 43(4), 157 คงผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่าจำเลยมีความผิดฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น แล้วไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควร ฯลฯ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 78หรือไม่ ปัญหาข้อนี้จำเลยฎีกาในข้อเท็จจริงว่าไม่มีเจตนาหลบหนีเห็นว่า แม้พระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 78 กำหนดให้ผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นต้องหยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือไม่ก็ตาม แต่ผู้ขับรถที่จะถือว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย และต้องหยุดรถปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ขับรถที่กำลังแล่นอยู่ หาใช่กรณีผู้ขับรถที่จอดรถอยู่หรือหยุดอยู่ไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ตายขับรถจักรยานยนต์มาชนท้ายรถคันที่จำเลยขับขณะจอดเสียอยู่มิใช่ขณะกำลังแล่นอยู่ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย อันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯมาตรา 78 ปัญหาข้อนี้และข้อแรกที่วินิจฉัยข้างต้นแม้จำเลยจะไม่ได้ฎีกาขึ้นมาในข้อกฎหมาย ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ ทั้งสองข้อหาดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 215, 225

ส่วนที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่าการที่จำเลยทราบว่าผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ชนท้ายรถคันที่จำเลยขับแล้ว ขับรถหลบหนีไปปล่อยให้ผู้ตายซึ่งได้รับบาดเจ็บนอนอยู่ในที่เกิดเหตุ เช่นนี้แสดงถึงความไม่มีมนุษยธรรมของจำเลย จึงไม่สมควรรอการลงโทษให้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 78, 157, 160 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

สรุป

แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจุดที่จำเลยจอดรถและเกิดเหตุชนกันอยู่ในไหล่ทางด้านซ้ายของถนนในลักษณะที่ไม่กีดขวางการจราจรแล้วก็ตาม แต่การที่จำเลยจอดรถในเวลามืดค่ำโดยไม่ได้เปิดไฟหรือใช้แสงสว่างตามที่กำหนดในกฎกระทรวงเพื่อเป็นสัญญาณให้ผู้ขับขี่มองเห็นรถที่จอดอยู่ จนเป็นเหตุให้ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์พุ่งเข้าชนท้ายรถคันที่จำเลยจอดทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นผลจากความประมาทของจำเลยไม่ว่าจะฟังว่าผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วยก็ตามก็ต้องถือว่าเหตุที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเกิดเพราะความประมาทของจำเลยด้วยจึงเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากความประมาทของจำเลยที่งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น หาใช่ผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการขับรถของจำเลยไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 43(4),157 คงผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291

ความผิดฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น แล้วไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯมาตรา 78 กำหนดให้ผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นต้องหยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือไม่ก็ตามแต่ผู้ขับรถที่จะถือว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายจะต้องเป็นผู้ขับรถที่กำลังแล่นอยู่ หาใช่กรณีผู้ขับรถที่จอดรถอยู่หรือหยุดรถอยู่ไม่จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายอันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 78

Facebook Comments