Home บทความ ความชำรุดบกพร่องของอาคารตามสัญญาก่อสร้าง เกิดจากสภาพของพื้นดินที่ทำการก่อสร้าง ผู้รับจ้างต้องรับผิดหรือไม่?

ความชำรุดบกพร่องของอาคารตามสัญญาก่อสร้าง เกิดจากสภาพของพื้นดินที่ทำการก่อสร้าง ผู้รับจ้างต้องรับผิดหรือไม่?

1834

ความชำรุดบกพร่องของอาคารตามสัญญาก่อสร้าง เกิดจากสภาพของพื้นดินที่ทำการก่อสร้าง ผู้รับจ้างต้องรับผิดหรือไม่?

บทกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นนี้คือ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 600 ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาไซร้ ท่านว่าผู้รับจ้างจะต้องรับผิด เพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องเพียงแต่ที่ปรากฏขึ้นภายในปีหนึ่งนับแต่วันส่งมอบ หรือที่ปรากฏขึ้นภายใน 5 ปี ถ้าการที่ทำนั้นเป็นสิ่งปลูกสร้างกับพื้นดิน นอกจากเรือนโรงทำด้วยเครื่องไม้

แต่ข้อจำกัดนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ เมื่อปรากฏว่าผู้รับจ้างได้ปิดบังความชำรุดบกพร่องนั้น

 

มาตรา 601 ท่านห้ามมิให้ฟ้องผู้รับจ้างเมื่อพ้นปีหนึ่ง นับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้น

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นตัวอย่างให้ศึกษา มีดังต่อไปนี้  คือ

คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๑๓๖๑๙/๒๕๕๓

การฟ้องร้องให้ผู้รับจ้างรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องตามสัญญาจ้างทำของอันมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 601 นั้น ใช้บังคับแก่เฉพาะกรณีความรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดที่เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 600 กล่าวคือ ในกรณีที่มิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาและงานที่ทำปรากฏการชำรุดบกพร่องขึ้นภายหลัง 1 ปี นับแต่วันส่งมอบหรือที่ปรากฏขึ้นภายใน 5 ปี สำหรับสิ่งปลูกสร้างในพื้นดิน กรณีตามคำฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องตามข้อสัญญาซึ่งกำหนดความรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องไว้เป็นอย่างอื่น กรณีดังกล่าวจึงไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะต้องใช้อายุความทั่วไปคือ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

 

 

.

.

ส่วนประเด็นที่ว่า ความชำรุดของอาคารตามสัญญาก่อสร้าง เกิดจากสภาพของพื้นดินที่ทำการก่อสร้าง ผู้รับจ้างต้องรับผิดหรือไม่ วันนี้ขอหยิบยกตัวอย่างจากการตอบข้อหารือของอัยการตามวินิจฉัย คำวินิจฉัยอัยการที่ 59/2534

ข้อเท็จจริงปรากฏว่าความชำรุดบกพร่องซึ่งเกิดกับอาคารสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจ้าง เกิดจากสาเหตุการเคลื่อนตัวทางด้านข้างของดินถม เพื่อทำการก่อสร้างอาคารที่ถมไปบนดินอ่อนบริเวณชายทะเลสาบเมื่อถูกกระทบจากภายนอกอาจทำให้เคลื่อนตัวทางด้านข้างของชั้นดินและเกิดความเสียหายแก่เสาเข็มประเภทเสาเข็มสั้น เพราะจะทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของฐานรากด้วยซึ่งความเสียหายนี้จะไม่เกิดแก่อาคารที่ใช้เสาเข็มชนิดยาวซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ทางผู้ว่าจ้างก็ทราบดีอยู่แล้ว

ในการดำเนินการก่อสร้างก็ปรากฏว่าผู้รับจ้างได้ทำการก่อสร้างตามรูปแบบและรายละเอียดท้ายสัญญาโดยคณะกรรมการตรวจรับงานก็ชี้แจงว่าการก่อสร้างไม่มีปัญหาทางด้านฐานรากเพียง แต่ตำหนิว่าฝีมือไม่เรียบร้อยเท่าที่ควรใช้ช่างฝีมือต่ำเปลี่ยนช่างบ่อยทำให้งานไม่สมบูรณ์เท่าที่ควรแต่ไม่ถึงกับผิดแบบแปลน

ส่วนพื้นของอาคารที่แตกร้าวเสียหายนั้นก็ปรากฏว่าเป็นพื้นที่ออกแบบให้วางพื้นลงบนดินหรือให้ถ่ายน้ำหนักลงบนพื้นดินโดยตรงเมื่อพื้นดินทรุดตัวลงจึงแตกร้าวส่วนพื้นอาคารบางหลังที่ออกแบบไว้ให้พื้นถ่ายน้ำหนักลงบนคานก็ไม่ปรากฏว่ามีการแตกร้าวแต่อย่างใด

จึงเห็นได้ว่าผู้รับจ้างได้ทำการก่อสร้างอาคารตามสัญญาจ้างตามแบบแปลนรูปแบบและรายละเอียดตามสัญญาแล้ว แต่ความชำรุดของอาคารตามสัญญาจ้างเกิดจากสภาพของพื้นดินที่ทำการก่อสร้างและแบบแปลนที่กำหนดให้ใช้เสาเข็มชนิดสั้นและการออกแบบให้พื้นของอาคารชั้นติดดินถ่ายน้ำหนักลงบนพื้นดินโดยตรง

เมื่อดินที่ถมเคลื่อนตัวทางด้านข้างจึงทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของฐานรากและทำให้พื้นอาคารทรุดตัวแตกร้าวด้วย

ดังนั้นการที่อาคารที่ก่อสร้างชำรุดบกพร่องจึงไม่ใช่ความผิดของผู้รับจ้างผู้รับจ้างจึง ไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 600

.

.

ดังนั้นสรุปได้ว่า ความชำรุดของอาคารตามสัญญาจ้างเกิดจากสภาพของพื้นดินที่ทำการก่อสร้างและแบบแปลนที่กำหนดให้ใช้เสาเข็มชนิดสั้น ดังนั้นการที่อาคารก่อสร้างชำรุดบกพร่องจึงไม่ใช่ความผิดของผู้รับจ้าง ผู้รับจ้างจึงไม่ต้องรับผิด

 

 

Facebook Comments