Home บทความคดีแพ่ง ทำยอมในคดีแพ่งเกี่ยวกับเช็คระบุว่าคดีอาญาไม่เลิกกัน มีผลทำให้คดีเช็คระงับหรือไม่

ทำยอมในคดีแพ่งเกี่ยวกับเช็คระบุว่าคดีอาญาไม่เลิกกัน มีผลทำให้คดีเช็คระงับหรือไม่

1675

ทำยอมในคดีแพ่งเกี่ยวกับเช็คระบุว่าคดีอาญาไม่เลิกกัน มีผลทำให้คดีเช็คระงับหรือไม่

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2537 จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขานครปฐม จำนวน 3 ฉบับ มอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมที่มีอยู่จริงตามสัญญากู้ยืมเงินและบันทึกการสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญา เมื่อเช็คทั้งสามฉบับถึงกำหนดเรียกเก็บเงินโจทก์นำไปเรียกเก็บเงินที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขานครปฐม แต่ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสามฉบับ โดยให้เหตุผลว่าโปรดติดต่อผู้สั่งจ่ายการกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 3 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่า เมื่อสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไป จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ภาค 7

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า หลังจากโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งให้รับผิดตามเช็คพิพาทต่อศาลจังหวัดนครปฐม คดีแพ่งดังกล่าวโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย จ.16 ของสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1757/2538 ของศาลจังหวัดนครปฐม คดีถึงที่สุดแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยกข้อกฎหมายขึ้นวินิจฉัยว่าหนี้ตามเช็คพิพาทเป็นอันระงับสิ้นผลผูกพันไปก่อนคดีนี้ถึงที่สุด คดีจึงเป็นอันเลิกกันนั้น เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือไม่ เห็นว่า ความรับผิดในทางอาญามีผลกระทบกระเทือนต่อชีวิตเสรีภาพหรือทรัพย์สินของบุคคล ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคแรก บัญญัติว่า ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดก็ดี การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ดี ฯลฯ ให้ศาลยกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยไป ดังนั้น ปัญหาข้อกฎหมายว่าจำเลยกระทำความผิดตามโจทก์ฟ้องหรือไม่ จึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีอำนาจที่จะยกปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นได้แม้จะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นก็ตาม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า สิทธิในการดำเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเป็นอันระงับและเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 หรือไม่เห็นว่า หลังจากโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้แล้ว โจทก์ได้นำเช็คทั้ง 3 ฉบับฟ้องให้จำเลยรับผิดเป็นคดีแพ่ง และมีการตกลงประนีประนอมยอมความตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.16 คดีถึงที่สุดไปแล้วดังนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามมูลหนี้เช็คทั้ง 3 ฉบับ จึงเป็นอันระงับสิ้นไปโดยการประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 852 แม้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีเงื่อนไขว่า โจทก์จะถอนฟ้องคดีคดีนี้ต่อเมื่อได้รับชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงทำให้คดีนี้ไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) เท่านั้น แต่เมื่อผลของการทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวทำให้สิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้เช็คระงับสิ้นไป กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 ซึ่งบัญญัติว่าถ้าหนี้ที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลคดีอาญามีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าคดีอาญาเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เมื่อหนี้ตามเช็คได้สิ้นผลผูกพันไปแล้ว คดีของโจทก์จึงเป็นอันระงับไปเพราะคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

สรุแป

Facebook Comments