Home บทความคดีแพ่ง กรณี” การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม“จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องพิจารณาอย่างไร?

กรณี” การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม“จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องพิจารณาอย่างไร?

2747

 

กรณีการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องพิจารณาอย่างไร?

ประเด็นดังกล่าวนี้มีบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวโดยตรง คือ

ประมวลกฎหมายอาญา

 

มาตรา ๓๒๖   ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๓๒๘  ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

 

การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม ที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันทำให้เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา ๓๒๖  แห่งประมวลกฎหมายอาญา จะต้องได้ความว่า การใส่ความ ดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้ แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ได้ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง  การใส่ความ ก็ต้องได้ความว่า หมายถึง บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ (ฎ.๒๖๗๓/๒๕๖๓)

 

จากกรณีตามประเด็นดังกล่าวมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ศึกษาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๒๗๖/๒๕๖๒

การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ และมาตรา ๓๒๘ ต้องเป็นการใส่ความระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าบุคคลที่ถูกใส่ความเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ

ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘ ผู้กระทำต้องเผยแพร่ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทออกไปยังสาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป การที่จำเลยส่งข้อความลงในแอปพลิเคชั่นไลน์กลุ่มโพสท์นิวส์ออนไลน์ มีลักษณะเป็น เพียงเจตนาการแจ้งหรือไขข่าวไปยังเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในกลุ่มไลน์เท่านั้น ยังไม่ถึงกับเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป คดีโจทก์ไม่มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๘

 

            ดังนั้นพอสรุปได้ว่า การใส่ความ ดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้ แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ได้ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง  การใส่ความ ก็ต้องได้ความว่า หมายถึง บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ

 

 

Facebook Comments