Home บทความคดีแพ่ง ท้าทายเจ้าพนักงาน ว่าแน่จริงมึงถอดเสื้อมาต่อยกับกูเลย มีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานหรือไม่

ท้าทายเจ้าพนักงาน ว่าแน่จริงมึงถอดเสื้อมาต่อยกับกูเลย มีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานหรือไม่

2211

 

ท้าทายเจ้าพนักงาน ว่าแน่จริงมึงถอดเสื้อมาต่อยกับกูเลย มีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานหรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 136, 138

 

จำเลยให้การรับสารภาพ

 

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 136, 138 (ที่ถูกมาตรา 138 วรรคสอง) เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ปรับ 1,000 บาท ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 2 เดือน ปรับ1,000 บาท คำให้การรับสารภาพของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน ปรับ500 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

 

จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ

 

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง เป็นเงิน 2,000 บาท อีกสถานหนึ่ง เมื่อลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งแล้ว คงปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ยกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

 

โจทก์ฎีกา

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาเพียงประการเดียวว่า ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อสิบตำรวจตรีมินตรา เจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ว่า “แน่จริงมึงถอดเสื้อมาต่อยกับกูเลย” เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำอันเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของความผิดตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวก็คือ “ดูหมิ่น”ซึ่งหมายถึงการด่า ดูถูกเหยียดหยาม หรือสบประมาทให้อับอาย พิจารณาถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อสิบตำรวจตรีมินตราแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นการกล่าวท้าทายให้สิบตำรวจตรีมินตราออกมาต่อสู้กับจำเลย อันเป็นเพียงคำกล่าวที่ไม่สุภาพและไม่สมควรเท่านั้นยังไม่ถึงขั้นที่พอจะให้เข้าใจว่าจำเลยมีความมุ่งหมายที่จะด่า ดูถูกเหยียดหยามหรือสบประมาทให้สิบตำรวจตรีมินตราอับอายแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดตามมาตราดังกล่าวนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

 

พิพากษายืน

Facebook Comments