Home บทความคดีแพ่ง หลอกลวงโดยแสดงตนในสัญญากู้ปลอม มีความผิดฐานฐานฉ้อโกงหรือไม่

หลอกลวงโดยแสดงตนในสัญญากู้ปลอม มีความผิดฐานฐานฉ้อโกงหรือไม่

1686

หลอกลวงโดยแสดงตนในสัญญากู้ปลอม มีความผิดฐานฐานฉ้อโกงหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5255/2540

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 341 และให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 374,500 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นางสาวมะดัน ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ4 เดือน, 2 เดือน, 6 เดือน และ 8 เดือน ตามลำดับ รวมจำคุก 24 เดือนให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 374,500 บาท แก่โจทก์ร่วม

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ฎีกาในข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาข้อกฎหมายว่าความผิดข้อหาฉ้อโกงต้องมีการหลอกลวงด้วยเจตนาทุจริต หลอกลวงให้ผู้ถูกหลอกลวงหลงเชื่อข้อเท็จจริงที่ตนหลอกลวง แล้วยอมส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้หลอกลวงเพราะเหตุที่ผู้ถูกหลอกลวงเชื่อข้อเท็จจริงที่ผู้หลอกลวงได้หลอกลวงนั้น ผู้หลอกลวงจึงมีความผิด แต่จากข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่า แม้จำเลยจะแสดงตนเป็นแพทย์ชื่อประเสริฐ มีลาภ ประจำอยู่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จนโจทก์ร่วมหลวงเชื่อ และจำเลยได้เงินจากโจทก์ร่วมไปทุกครั้ง อันเป็นผลมาจากการที่จำเลยจะได้เงินไปจากโจทก์ร่วมนั้นเป็นการกู้ยืมเงินและการนำเช็คแลกเงินสดจากโจทก์ร่วม ซึ่งจำเลยจะต้องจะคืนเงินแก่โจทก์ร่วมอยู่ดี หาใช่จำเลยจะเอาไปโดยทุจริตโดยไม่คืนเงินแก่โจทก์ร่วมแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ความผิดนั้น เห็นว่า โจทก์ร่วมเบิกความยืนยันว่าสัญญากู้ที่จำเลยทำให้ไว้จำเลยทำในนามนายเทา มีลาภ ซึ่งไม่มีตัวจริงทั้งเช็คที่จำเลยนำมาแลกจำเลยยืมของบุคคลอื่นมาเป็นเช็คที่บัญชีปิดแล้ว ลายมือชื่อที่จำเลยลงในเช็คก็ใช้ภาษาจีนไม่เป็นไปตามตัวอย่างที่ให้ไว้กับธนาคาร เช็คที่ใช้แลกเงินจากโจทก์ร่วมไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ การหลอกลวงเอาเงินจากโจทก์ร่วมโดยทำหลักฐานการกู้หรือมอบเช็คให้โจทก์ร่วมดังกล่าวก็เป็นการหลอกลวงเพื่อให้ได้เงินนั่นเอง จำเลยมิได้มีเจตนาจะผูกพันตามสัญญากู้หรือเช็คที่นำไปแลกแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยครบองค์ความผิดดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว ฎีกาจำเลยปัญหานี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

สรุป

สัญญากู้ที่จำเลยทำให้ไว้แก่โจทก์ร่วมนั้น จำเลยทำในนามของ ป. ซึ่งไม่มีตัวจริง ทั้งเช็คที่จำเลยนำมาแลกจำเลยยืมของบุคคลอื่นมาเป็นเช็คที่ปิดบัญชีแล้ว ลายมือชื่อที่จำเลยลงในเช็คก็ใช้ภาษาจีนไม่เป็นไปตามตัวอย่างที่ให้ไว้กับธนาคารเช็คที่ใช้แลกเงินจากโจทก์ร่วมไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ การหลอกลวงเอาเงินจากโจทก์ร่วมโดยทำหลักฐานการกู้หรือมอบเช็คให้โจทก์ร่วมดังกล่าวก็เป็นการหลอกลวงเพื่อให้ได้เงินนั่งเอง จำเลยมิได้มีเจตนาจะผูกพันตามสัญญากู้ หรือเช็คที่นำไปแลกแต่อย่างใดการกระทำของจำเลยครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 แล้ว

Facebook Comments