Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ขับรถเร็วในขณะฝนตกและเป็นทางโค้ง ถือว่าประมาทหรือไม่

ขับรถเร็วในขณะฝนตกและเป็นทางโค้ง ถือว่าประมาทหรือไม่

1403

ขับรถเร็วในขณะฝนตกและเป็นทางโค้ง ถือว่าประมาทหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1562/2539

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2533 เวลากลางคืนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-4655 นครราชสีมา ของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังกล่าวคือจำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วสูงในขณะฝนตกเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10-2222 อุดรธานีของโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 124,400 บาท นอกจากนี้โจทก์ยังขาดประโยชน์ที่อาจนำรถยนต์โดยสารไปให้บุคคลภายนอกเช่าได้ในอัตราเดือนละ 35,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน คิดเป็นเงิน105,000 บาท และค่าเสื่อมราคาอีก 100,000 บาท รวมค่าเสียหาย329,400 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวและค่าขาดประโยชน์จากค่าเช่าอีกเดือนละ 35,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าโจทก์จะสามารถนำรถยนต์โดยสารไปให้บุคคลอื่นเช่าได้

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10-2222 อุดรธานีวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน80-4655 นครราชสีมา ไปด้วยความเร็วปกติและระมัดระวัง ขณะเกิดเหตุฝนหยุดตกแล้ว จำเลยที่ 1 เห็นรถยนต์โดยสารของโจทก์จอดเสียอยู่บนถนนล้อขึ้นมาบนผิวจราจรเกือบถึงเส้นแบ่งถนน ไม่มีสัญญาณไฟหรือเครื่องหมายอื่นที่แสดงว่ามีรถจอดอยู่ จำเลยที่ 1 เห็นในระยะกระชั้นชิดได้หักรถออกมาทางขวา แต่มีรถยนต์บรรทุกแล่นสวนมา จำเลยที่ 1 จึงหลบมาทางซ้ายแล้วเฉี่ยวชนเข้ากับรถยนต์โดยสารของโจทก์ทางด้านขวา จำเลยที่ 1 ไม่ได้ประมาทเลินเล่อโจทก์เสียค่าซ่อมรถยนต์โดยสารไม่เกิน 30,000 บาท การซ่อมไม่ทำให้รถยนต์โดยสารเสื่อมราคาและโจทก์อ้างค่าขาดประโยชน์อย่างเลื่อนลอยขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 40,000 บาท

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1อนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เหตุที่รถยนต์บรรทุกซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับเฉี่ยวชนรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10-2222 อุดรธานี เพราะรถยนต์โดยสารจอดอยู่บนผิวจราจรอยู่ในที่มืด และไม่แสดงเครื่องหมายหรือสัญญาณตามกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2525) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกมาด้วยความเร็วต่ำ เมื่อเห็นรถยนต์โดยสารจอดอยู่ในระยะใกล้และมีรถยนต์บรรทุกแล่นสวนมาจำเลยที่ 1 ไม่อาจจะหักหลบรถยนต์โดยสารได้ จึงเฉี่ยวชนรถยนต์โดยสาร จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อนั้นเห็นว่า ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ข้อ 2 (1)(ก) กำหนดให้รถยนต์ต้องมีโคมไฟแสงพุ่งไกลหน้ารถมีแสงสว่างให้เห็นพื้นทางได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 100 เมตร และตามกฎกระทรวงฉบับที่ 6(พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522ข้อ 1(1) กำหนดให้รถยนต์บรรทุกที่มีน้ำหนักรถรวมทั้งน้ำหนักบรรทุกเกิน 1,200 กิโลกรัม ใช้ความเร็วนอกเขตกรุงเทพมหานครเขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาลไม่เกินชั่วโมงละ 80 กิโลเมตรได้ความว่ารถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 1 ขับบรรทุกมันอัดเม็ดมาเต็มคันเชื่อได้ว่าเมื่อรวมน้ำหนักของมันอัดเม็ดและน้ำหนักรถจะต้องมีน้ำหนักเกิน 1,200 กิโลกรัม จำเลยที่ 1 จึงต้องขับรถยนต์บรรทุกด้วยความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ 80 กิโลเมตร และถ้าโคมไฟแสงพุ่งไกลของรถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 1 ขับมีแสงสว่างเห็นพื้นทางได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 100 เมตร จำเลยที่ 1จะต้องมองเห็นรถยนต์โดยสารจอดอยู่ในระยะไม่น้อยกว่า 100 เมตรเมื่อจำเลยที่ 1 เห็นรถยนต์โดยสารจอดอยู่ ในขณะเดียวกันมีรถยนต์บรรทุกแล่นสวนมาซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่อาจจะหักหลบรถยนต์โดยสารได้ จำเลยที่ 1 ก็ต้องเหยียบห้ามล้อซึ่งถ้าจำเลยที่ 1ขับรถยนต์บรรทุกมาด้วยความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ 80 กิโลเมตรรถยนต์บรรทุกก็ย่อมจะหยุดได้โดยไม่เฉี่ยวชนรถยนต์โดยสาร การที่รถยนต์บรรทุกไปเฉี่ยวชนรถยนต์โดยสารซึ่งตามภาพถ่ายหมาย จ.4และ จ.5 แสดงว่ารถยนต์โดยสารถูกเฉี่ยวชนแรงมาก ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกมาด้วยความเร็วมากทั้งได้ความว่าขณะเกิดเหตุมีฝนตกและที่เกิดเหตุเป็นทางโค้งซึ่งโดยวิสัยของผู้ขับรถจะต้องชะลอความเร็วของรถลงกว่าปกติตามรูปคดีน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 หาได้ชะลอความเร็วของรถยนต์บรรทุกไม่ เป็นการไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในภาวะเช่นนั้น ศาลฎีกาจึงเห็นว่าเหตุที่เกิดขึ้นจำเลยที่ 1 มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย

ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาในเรื่องค่าเสียหายว่า รถยนต์โดยสารของโจทก์ไม่ได้ซ่อม โจทก์ตีราคาเองสูงเกินไป ตามสภาพรถยนต์โดยสารสามารถซ่อมได้ในราคา 90,000 บาท นั้น ฎีกาของจำเลยทั้งสองดังกล่าวไม่ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่าไม่ถูกต้องอย่างไร และที่ถูกควรจะเป็นอย่างไรจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายืน

สรุป

ตามกฎกระทรวงฉบับที่2(พ.ศ.2522)ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ.2522ข้อ2(1)(ก)กำหนดให้รถยนต์ต้องมีโคมไฟแสงพุ่งไกลหน้ารถมีแสงสว่างให้เห็นพื้นทางได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า100เมตรและตามกฎกระทรวงฉบับที่6(พ.ศ.2522)ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ.2522ข้อ1(1)กำหนดให้รถยนต์บรรทุกที่มีน้ำหนักรถรวมทั้งน้ำหนักบรรทุกเกิน1,200กิโลกรัมใช้ความเร็วนอกเขตกรุงเทพมหานครเขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาลไม่เกินชั่วโมงละ80กิโลเมตรรถยนต์บรรทุกที่จำเลยขับรถบรรทุกมันอัดเม็ดรวมน้ำหนักของมันอัดเม็ดและน้ำหนักรถเกิน1,200กิโลกรัมจำเลยจึงต้องขับรถยนต์บรรทุกด้วยความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ80กิโลเมตรและถ้าโคมไฟแสงพุ่งไกลของรถยนต์บรรทุกที่จำเลยขับมีแสงสว่างเห็นพื้นทางได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า100เมตรจำเลยจะต้องมอบเห็นรถยนต์โดยสารจอดอยู่ในระยะไม่น้อยกว่า100เมตรเมื่อจำเลยเห็นรถยนต์โดยสารจอดอยู่ในขณะเดียวกันมีรถยนต์บรรทุกแล่นสวนมาซึ่งจำเลยไม่อาจจะหักหลบรถยนต์โดยสารได้จำเลยก็ต้องเหยียบห้ามล้อถ้าจำเลยขับรถยนต์บรรทุกมาด้วยความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ80กิโลเมตรรถยนต์บรรทุกก็ย่อมจะหยุดได้โดยไม่เฉี่ยวชนรถยนต์โดยสารการที่จำเลยที่1ขับรถยนต์บรรทุกมาด้วยความเร็วมากมีฝนตกและเป็นทางโค้งซึ่งโดยวิสัยของผู้ขับรถจะต้องชะลอความเร็วของรถลงกว่าปกติแต่จำเลยที่1หาได้ชะลอความเร็วของรถยนต์บรรทุกไม่เป็นการไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในภาวะเช่นนั้นจำเลยที่1จึงมีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย ที่จำเลยทั้งสองฎีกาในเรื่องค่าเสียหายว่ารถยนต์โดยสารของโจทก์ไม่ได้ซ่อมโจทก์ตีราคาเองสูงเกินไปตามสภาพรถยนต์โดยสารสามารถซ่อมได้ในราคา90,000บาทนั้นฎีกาของจำเลยทั้งสองดังกล่าวไม่ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค1ว่าไม่ถูกต้องอย่างไรและที่ถูกควรจะเป็นอย่างไรจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

Facebook Comments