Home บทความ การเลิกสัญญา กระทบสิทธิในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือไม่

การเลิกสัญญา กระทบสิทธิในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือไม่

2040

การเลิกสัญญา กระทบสิทธิในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2956/2548

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยทำสัญญาเช่าแบบลิสซิ่ง รถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน 8ฬ-0562 กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ ตกลงชำระค่าเช่าและภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือน เดือนละ 22,577 บาท เป็นค่าเช่า 21,100 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,477 บาท มีกำหนด 60 เดือน เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่า ผู้เช่ามีสิทธิเลือกซื้อทรัพย์สินที่เช่าได้ในราคา 92,990.65 บาท และมีข้อตกลงว่าหากจำเลยผิดสัญญาข้อใดข้อหนึ่งถือว่าค่าเช่าบางส่วนหรือทั้งหมดที่ต้องชำระตามสัญญาเช่า และค่าใช้จ่ายอื่นถึงกำหนดชำระโดยไม่ต้องมีคำบอกกล่าวไปยังจำเลยและในกรณีที่โจทก์ขายทรัพย์สินที่เช่าจำนวนเงินสุทธิที่โจทก์ได้รับจากการขายทรัพย์สินนั้นลบด้วยค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่โจทก์จะต้องเสียไปในการขายจะถูกนำไปหักจากจำนวนเงินซึ่งผู้เช่าเป็นหนี้โจทก์อยู่ตามสัญญา ภายหลังทำสัญญาจำเลยชำระค่าเช่าตั้งแต่งวดประจำวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2539 ถึงงวดประจำวันที่ 12 กรกฎาคม 2540 รวม 18 งวด เป็นเงิน 379,800 บาท จำเลยคืนรถยนต์ที่เช่าแก่โจทก์เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2540 จำเลยยังมีค่าเช่าชำระอีก 42 เดือน รวมเป็นเงิน 886,200 บาท จำเลยคืนรถยนต์ก่อนกำหนดทำให้โจทก์เสียหาย เป็นการผิดสัญญา ถือว่าค่าเช่าที่เหลือจำนวน 886,200 บาท ถึงกำหนดชำระทันที โจทก์มีสิทธิได้รับราคาซื้อขาย 92,990.65 บาท จำเลยเป็นหนี้โจทก์รวม 979,190.65 บาท เมื่อโจทก์ประมูลขายรถยนต์ที่เช่าได้เงินเพียง 549,000 บาท จำเลยจึงต้องชำระค่าเสียหาย 430,190.65 บาท แต่โจทก์ขอคิดเพียง 330,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 330,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้ผิดนัดเนื่องจากได้แจ้งการบอกเลิกการเช่ารถยนต์พิพาทและส่งมอบรถยนต์คืนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2540 จำเลยชำระค่าเช่าพร้อมภาษีมูลค่าเพิ่มมาตลอดโดยไม่ผิดนัด รวม 18 งวด เป็นเงินค่าเช่า 379,800 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 26,586 บาท และโจทก์รับเงินค่าขายรถอีก 549,000 บาท รวมเป็นเงิน 928,800 บาท โจทก์ซื้อรถยนต์ดังกล่าว 929,906.54 บาท จึงขาดทุนเพียง 1,106.54 บาท เท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกราคาซื้อสินค้าจำนวน 92,990.65 บาท เพราะเป็นราคาเลือกซื้อในอนาคต ไม่ใช่ค่าเสียหายที่แท้จริง จำเลยไม่เคยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 32,660 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองอุทธรณ์ของจำเลยว่า มีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (ฟ้องวันที่ 15 ธันวาคม 2541) ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าโจทก์ให้จำเลยเช่าทรัพย์ตามฟ้อง มีกำหนด 60 งวด จำเลยชำระค่าเช่าให้โจทก์ครบ 18 งวดแล้ว โจทก์กับจำเลยตกลงเลิกสัญญาเช่าโดยโจทก์ได้รับทรัพย์ที่ให้เช่าคืนแล้วในวันที่ 1 สิงหาคม 2540 คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 ได้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสี่ บัญญัติว่า การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่ บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายเพียงว่าการเลิกสัญญานั้นไม่ลบล้างความรับผิดที่ลูกหนี้ได้ก่อขึ้นมาแล้ว กล่าวคือ ถ้าลูกหนี้มีความรับผิดที่ตนเองไม่ชำระหนี้แล้วการไม่ชำระหนี้เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย เจ้าหนี้ก็มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213, 215 และ 216 บทบัญญัติมาตรา 391 มิได้ให้สิทธิพิเศษที่จะเรียกค่าเสียหายในกรณีที่คู่สัญญาตกลงเลิกสัญญากัน โดยลูกหนี้มิได้ค้างชำระหนี้หรือผิดสัญญาด้วย ดังนั้น การที่โจทก์กับจำเลยสมัครใจเลิกสัญญากัน แม้โจทก์จะอ้างว่าได้รับความเสียหายเพราะจำเลยเลิกสัญญาก่อนกำหนด ทำให้โจทก์ไม่ได้รับค่าเช่าอีก 42 งวด แต่เมื่อเป็นการเลิกสัญญาโดยความสมัครใจทั้งสองฝ่ายโดยจำเลยไม่ได้ผิดสัญญา อีกทั้งค่าเช่า 42 งวด เป็นหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระในเวลาที่มีการเลิกสัญญากัน จึงไม่ใช่หนี้ค้างชำระที่จำเลยต้องรับผิด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสี่ เป็นเงิน 100,000 บาท จากจำเลยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคดี จึงไม่จำต้องวินิจฉัย”

สรุป

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสี่ มิได้ให้สิทธิพิเศษที่จะเรียกค่าเสียหายในกรณีที่คู่สัญญาตกลงเลิกสัญญากันโดยลูกหนี้มิได้ค้างชำระหนี้หรือผิดสัญญา การที่โจทก์กับจำเลยสมัครใจเลิกสัญญากัน แม้โจทก์จะอ้างว่าได้รับความเสียหายเพราะจำเลยเลิกสัญญาก่อนกำหนด ทำให้โจทก์ไม่ได้รับค่าเช่าอีก 42 งวด แต่เมื่อเป็นการเลิกสัญญาโดยจำเลยไม่ได้ผิดสัญญา อีกทั้งค่าเช่า 42 งวด เป็นหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระในเวลาที่มีการเลิกสัญญากัน จึงไม่ใช่หนี้ค้างชำระที่จำเลยต้องรับผิด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

Facebook Comments