Home บทความ เงินค้ำประกันตามสัญญารับเหมาก่อสร้าง ถือเป็นส่วนหนึ่งในเงินประกันความเสียหายหรือไม่

เงินค้ำประกันตามสัญญารับเหมาก่อสร้าง ถือเป็นส่วนหนึ่งในเงินประกันความเสียหายหรือไม่

2088

เงินค้ำประกันตามสัญญารับเหมาก่อสร้าง ถือเป็นส่วนหนึ่งในเงินประกันความเสียหายหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4246/2549

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2526 บริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด ทำสัญญารับจ้างโจทก์ก่อสร้างปรับปรุงถนนประชาชื่น (ตอนที่ 2) จากคลองบางเขนถึงถนนงามวงศ์วาน โดยนำหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันของจำเลยเลขที่ 28-42-0489-1 จำนวน 1,910,000 บาท และเลขที่ 29-42-0846-1 จำนวน 422,900 บาท มอบให้โจทก์เป็นหลักประกันในการดำเนินงานตามสัญญา หากบริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาหรือผิดเงื่อนไขมีสิทธิถูกริบหลักประกันหรือเรียกค่าปรับ หรือค่าเสียหาย จำเลยยอมชำระแทนทันที บริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด ไม่ดำเนินการตามสัญญาเกี่ยวกับการติดตั้งไฟฟ้าให้แสงสว่างบนสะพานข้ามคลองบางเขนให้เสร็จเรียบร้อย ถูกต้องครบถ้วนตามแบบแปลนและรายการที่กำหนดไว้ โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2532 และจ้างการไฟฟ้านครหลวงติดตั้งไฟฟ้าแทนเป็นค่าจ้างเพิ่ม 192,300 บาท ซึ่งต่อมาเมื่อบริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลผิดสัญญาดังกล่าวจากโจทก์ โจทก์ได้ฟ้องแย้งให้บริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด ชดใช้เงิน 192,300 บาท พร้อมค่าปรับวันละ 116,645 บาท นับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2530 รวม 547 วัน เป็นค่าปรับ 63,804,815 บาท รวมเงินที่ต้องชำระให้โจทก์ 63,997,115 บาท ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้บริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด ชำระเงินจำนวน 192,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 เมษายน 2534 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ การที่โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาไปยังบริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด นั้น โจทก์มีสิทธิริบหลักประกันตามข้อ 6 (1) ของสัญญาจ้างอีกด้วย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 4,082,575 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 2,332,900 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยออกหนังสือค้ำประกันให้แก่บริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด เพื่อมอบให้โจทก์เป็นหลักประกัน แต่โจทก์ไม่มีหลักฐานของหนังสือค้ำประกันที่ลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญมาแสดงที่จะนำมาฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิริบหลักประกัน โจทก์มีสิทธิเรียกเงินประกันจากจำเลยได้เพียงเท่าที่โจทก์เสียหายตามคำพิพากษาศาลฎีกา ไม่มีสิทธิเรียกเต็มจำนวนที่ค้ำประกัน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 เมษายน 2534 ซึ่งเป็นวันที่บริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด ผิดนัด การค้ำประกันเป็นการจำกัดวงเงิน โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินกว่าวงเงินค้ำประกัน โจทก์ฟ้องเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์บอกเลิกสัญญากับบริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด คดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 192,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 เมษายน 2534 เป็นต้นไป จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,140,600 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2526 โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด ก่อสร้างปรับปรุงถนนประชาชื่น ตอนที่ 2 และได้ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2) กับสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 3) ตามสัญญาจ้างและสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 ในการทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 บริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด ได้นำหลักประกันเป็นหนังสือสัญญาค้ำประกันของจำเลยจำนวน 2 ฉบับ ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2528 และ 8 กันยายน 2529 จำนวนเงิน 1,910,000 บาท และ 422,900 บาท มามอบให้โจทก์ยึดถือไว้เพื่อประกันการปฏิบัติตามสัญญา ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 ต่อมาบริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด ผิดสัญญาไม่ก่อสร้างงานเกี่ยวกับการติดตั้งไฟฟ้าบนสะพานข้ามคลองบางเขน เมื่อส่งมอบงานงวดที่ 10 ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย โจทก์ไม่ตรวจรับงานและมีหนังสือแจ้งให้แก้ไขงานเกี่ยวกับไฟฟ้าให้ถูกต้อง แต่บริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด เพิกเฉย โจทก์บอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2532 และว่าจ้างการไฟฟ้านครหลวงติดตั้งไฟฟ้าแทนเป็นเงินค่าจ้าง 192,300 บาท บริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น เรียกให้โจทก์ชำระเงินงวดที่ 10 พร้อมค่าเสียหาย โจทก์ให้การและฟ้องแย้งให้บริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด ชำระค่าจ้างที่โจทก์ต้องจ่ายให้การไฟฟ้านครหลวงเพิ่มเติมเป็นจำนวนเงิน 192,300 บาท และเรียกค่าปรับตามสัญญาเป็นรายวัน วันละ 116,645 บาท รวม 547 วัน เป็นค่าปรับจำนวน 63,804,815 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกามีคำพิพากษาตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1741/2540 ให้บริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด ชำระเงินจำนวน 192,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 เมษายน 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หลังจากที่โจทก์บอกเลิกสัญญากับบริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด แล้ว วันที่ 20 เมษายน 2532 โจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาจ้างให้จัดส่งเงินประกันตามสัญญาจำนวน 2,332,900 บาท เพื่อเป็นค่าปรับและค่าเสียหายแก่โจทก์ ตามหนังสือให้ส่งเงินประกันและใบตอบรับในประเทศเอกสารหมาย จ.6 แต่จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า บริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด แจ้งว่าไม่ได้เป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา ขอให้จำเลยระงับการจ่ายเงินตามเอกสารหมาย จ.7

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยมีว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันให้แก่โจทก์เพียงใด เห็นว่า ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับบริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด ในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 ข้อ 2 ระบุว่า เพื่อเป็นหลักประกันในการดำเนินการตามสัญญา ผู้รับจ้างได้นำหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ (จำเลย) เลขที่ 28-42-0489-1 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2528 เป็นจำนวน 1,910,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 5 ของราคาค่าจ้าง (38,200,000 บาท) มามอบให้ผู้ว่าจ้าง (โจทก์) ยึดถือไว้เพื่อประกันการปฏิบัติตามสัญญา หลักประกันดังกล่าวต้องมีอายุประกันหลังจากวันกิจการแล้วเสร็จภายในกำหนดความรับผิดตามสัญญา และสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 ข้อ 18 ระบุว่า เพื่อเป็นหลักประกันในการดำเนินงานตามสัญญา ผู้รับจ้างได้นำหลักประกันเป็นหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ (จำเลย) เลขที่ 28-42-0489-1 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2528 เป็นจำนวน 1,910,000 บาท และหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ (จำเลย) เลขที่ 29-42-0846-1 ลงวันที่ 8 กันยายน 2529 เป็นจำนวน 422,900 บาท คิดรวมเป็นร้อยละ 5 ของราคาค่าจ้าง (46,657,998.75 บาท) มามอบให้ผู้ว่าจ้าง (โจทก์) ยึดถือไว้เพื่อประกันการปฏิบัติตามสัญญา หลักประกันดังกล่าวต้องมีอายุประกันหลังจากวันกิจการแล้วเสร็จภายในกำหนดความรับผิดตามสัญญา ดังนี้ จำนวนเงินตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว มิใช่เงินที่บริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด มอบให้โจทก์ทันทีขณะทำสัญญา แต่เป็นเพียงหลักประกันเบื้องต้นเพื่อที่จะให้โจทก์เชื่อได้ว่าบริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด จะปฏิบัติตามสัญญาและหากบริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด ผิดสัญญาโจทก์จะได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยซึ่เงป็นธนาคารพาณิชย์ผู้ออกหนังสือค้ำประกันนั้นแทนนั่นเอง จำนวนเงินตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงไม่ใช่เงินมัดจำที่บริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด ให้ไว้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 และ 378 และที่ในสัญญาค้ำประกันของจำเลยข้อ 1 ระบุว่าหากบริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดของสัญญาดังกล่าวซึ่งโจทก์มีสิทธิริบหลักประกัน หรือเรียกค่าปรับและค่าเสียหายใด ๆ จากบริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด ได้แล้ว จำเลยยอมชำระเงินแทนให้ทันทีโดยมิต้องเรียกร้องให้บริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด ชำระก่อนนั้น เห็นว่า เมื่อสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่บริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด มอบให้ไว้แก่โจทก์ไม่ใช่มัดจำดังกล่าวแล้วนั้น จำนวนเงินตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงมิใช่หลักประกันที่โจทก์จะริบได้ทันทีเมื่อบริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด ผิดสัญญาตามสัญญาจ้าง ข้อ 6 (1) แต่จะถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายฐานผิดสัญญา หากมี และเป็นเพียงข้อตกลงที่ให้ความสะดวกในวิธีการบังคับชำระหนี้เท่านั้น หาใช่ข้อตกลงที่ให้สิทธิโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันของจำเลยโดยไม่คำนึงว่าบริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด จะมีหนี้ค่าเสียหายจากการปฏิบัติผิดสัญญาที่ต้องรับผิดชำระแก่โจทก์หรือไม่ การจะพิจารณาว่าโจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากหลักประกันตามสัญญาได้เพียงใด จึงต้องพิจารณาว่าบริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้างจำกัด ต้องรับผิดชำระหนี้ต่อโจทก์เพียงใดหรือไม่ก่อน ข้อเท็จจริงปรากฏว่าค่าเสียหายในส่วนที่บริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด ต้องรับผิดชำระแก่โจทก์นั้น โจทก์ได้ฟ้องแย้งให้บริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด ชำระค่าเสียหายที่ต้องว่าจ้างการไฟฟ้านครหลวงให้ดำเนินการติดตั้งไฟฟ้าเป็นค่าจ้างเพิ่มเติมจำนวน 192,300 บาท และค่าเสียหายเป็นค่าปรับตามสัญญาเป็นรายวัน วันละ 116,645 บาท รวม 547 วัน เป็นค่าปรับ 63,804,815 บาท ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1741/2540 โดยวินิจฉัยว่า ความเสียหายของโจทก์นอกจากที่โจทก์ต้องว่าจ้างการไฟฟ้านครหลวงทำการแก้ไขให้แล้วเสร็จสมบูรณ์แล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างอื่นอีกแต่อย่างใด ส่วนค่าปรับรายวันนั้นแม้โจทก์ยังไม่ได้รับเงินประกันสัญญาจำนวน 2,332,900 บาท ก็ตาม แต่โจทก์ก็ไม่ต้องชำระค่าจ้างงานงวดที่ 10 ที่บริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด ทำงานแล้วเสร็จภายในกำหนดสัญญาคิดเป็นเงินจำนวนสูงมากถึง 7,710,085.35 บาท เพราะสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างจำนวนดังกล่าวของบริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด ขาดอายุความแล้ว ศาลฎีกาพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ทุกอย่างโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดค่าปรับรายวันให้แก่โจทก์เป็นการใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับที่กำหนดไว้สูงเกินส่วนลงเป็นจำนวนพอสมควรชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 แล้ว และศาลฎีกาพิพากษาในคดีดังกล่าวยืนตามศาลอุทธรณ์ให้บริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพียง 192,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 เมษายน 2534 เป็นต้นไป ในคดีนี้ จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันบริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด ต่อโจทก์จึงต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเท่ากับความรับผิดที่บริษัทลักษณ์ขนส่งและก่อสร้าง จำกัด ต้องรับผิดต่อโจทก์เท่านั้นดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น ส่วนฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง จำเลยฎีกาขอให้พิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงต้องชำระค่าขึ้นศาลเป็นทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาโดยคิดจากจำนวนเงินที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลบด้วยจำนวนเงินที่ศาลชั้นต้นพิพากษา แต่จำเลยชำระค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาตามจำนวนเงินที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ จึงชำระค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาเกิน”

พิพากษาแก้เป็น ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่ชำระเกินให้แก่จำเลย.

สรุป

จำนวนเงินตามสัญญาค้ำประกันมิใช่เงินที่บริษัท ล. มอบให้โจทก์ทันทีขณะทำสัญญา แต่เป็นเพียงหลักประกันว่าบริษัท ล. จะปฏิบัติตามสัญญาและหากบริษัท ล. ผิดสัญญาโจทก์จะได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ผู้ออกหนังสือค้ำประกันนั้นแทน จึงไม่ใช่เงินมัดจำที่บริษัท ล. ให้ไว้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 และ 378 ที่โจทก์จะริบได้ทันทีเมื่อบริษัท ล. ผิดสัญญาตามสัญญาจ้าง แต่ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายฐานผิดสัญญา และมิใช่ข้อตกลงที่ให้สิทธิโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันโดยไม่คำนึงว่าบริษัท ล. จะมีหนี้ที่ต้องรับผิดชำระแก่โจทก์หรือไม่จึงต้องพิจารณาว่าบริษัท ล. ต้องรับผิดชำระหนี้ต่อโจทก์เพียงใดหรือไม่ก่อน เพราะจำเลยต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเพียงเท่าที่บริษัท ล. ต้องรับผิดต่อโจทก์เท่านั้น

Facebook Comments