Home บทความคดีแพ่ง นำเช็คที่เคยเด้งแล้วมาแก้ไขลงวันที่ การกระทำถือเป็นความผิดสองครั้งหรือไม่

นำเช็คที่เคยเด้งแล้วมาแก้ไขลงวันที่ การกระทำถือเป็นความผิดสองครั้งหรือไม่

943

นำเช็คที่เคยเด้งแล้วมาแก้ไขลงวันที่ การกระทำถือเป็นความผิดสองครั้งหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13/2553

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (3) จำคุก 3 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2541 นายดาวเรือง สามีจำเลยได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถแบ็คโฮและรถแทรกเตอร์ รวม 3 คัน ไปจากผู้เสียหาย โดยจำเลยออกเช็คฉบับพิพาทลงวันที่ 25 กันยายน 2541 สั่งจ่ายเงินจำนวน 400,000 บาท กับเช็คอีก 2 ฉบับลงวันที่ต่างกันให้แก่ผู้เสียหายเพื่อชำระค่าเช่าซื้อดังกล่าว ต่อมานายดาวเรืองผิดสัญญาเช่าซื้อจำเลยจึงเข้าทำสัญญาเช่าซื้อกับผู้เสียหายเพื่อใช้ประโยชน์รถทั้งสามคันตามสัญญาเช่าซื้อเดิมต่อไปโดยตกลงค่าเช่าซื้อจำนวน 850,000 บาท แบ่งชำระค่าเช่าซื้อเป็น 2 งวด ในการชำระค่าเช่าซื้องวดแรกได้นำเช็คพิพาทซึ่งธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินมาแล้วมาแก้ไขวันที่เป็นวันที่ 15 กันยายน 2544 โดยจำเลยลงนามกำกับการแก้ไขมอบให้ผู้เสียหาย ต่อมาเมื่อถึงกำหนดใช้เงินตามวันที่แก้ไข ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเนื่องจากเงินในบัญชีไม่พอจ่าย

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยนำเช็คที่ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้วมาแก้ไขวันที่และลงชื่อกำกับวันที่แก้ไขไว้ แม้จะเจตนาให้มีผลผูกพันเพื่อชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่จำเลยทำสัญญากับผู้เสียหาย และเป็นการแก้ไขวันสั่งจ่ายซึ่งเป็นข้อสำคัญในเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1007 ก็ตาม แต่การลงวันที่ใหม่และลงนามกำกับการแก้ไขโดยจำนวนเงินและลายมือชื่ออันเป็นรายการที่มีอยู่ในเช็คเดิมจึงเป็นเพียงการแก้วันที่ในเช็คเพียงอย่างเดียว เช็คพิพาทยังคงเป็นเช็คฉบับเดิมไม่เป็นการออกเช็คฉบับใหม่แต่อย่างใด เมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินมาครั้งหนึ่งแล้ว ความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ย่อมเกิดขึ้นนับแต่วันนั้นแล้ว การที่ผู้เสียหายนำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินอีกและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นครั้งที่สอง จึงหาได้เกิดความผิดขึ้นใหม่อีกไม่ เพราะเป็นการกระทำอันเดียวกันนั้นเอง การกระทำอันเดียวกันจะเป็นความผิดสองครั้งหาได้ไม่การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาแต่ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185, 195 วรรคสองประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ที่โจทก์ฎีกาว่าคดีไม่ขาดอายุความจึงไม่จำต้องวินิจฉัยเนื่องจากไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นด้วยในผล”

พิพากษายืน

สรุป

การที่จำเลยนำเช็คที่ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้วมาแก้ไขวันที่และลงชื่อกำกับวันที่แก้ไขไว้ แม้จะเจตนาให้มีผลผูกพันเพื่อชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่จำเลยทำสัญญากับผู้เสียหาย และเป็นการแก้ไขวันสั่งจ่ายซึ่งเป็นข้อสำคัญในเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 1007 ก็ตาม แต่การลงวันที่ใหม่และลงนามกำกับการแก้ไขโดยจำนวนเงินและลายมือชื่ออันเป็นรายการที่มีอยู่ในเช็คเดิมจึงเป็นเพียงการแก้วันที่ในเช็คเพียงอย่างเดียว เช็คยังคงเป็นเช็คฉบับเดิม ไม่เป็นการออกเช็คฉบับใหม่แต่อย่างใด เมื่อเช็คถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินมาครั้งหนึ่งแล้ว ความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ย่อมเกิดขึ้นนับแต่วันนั้นแล้ว การที่ผู้เสียหมายนำเช็คไปเรียกเก็บเงินอีกและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นครั้งที่สองจึงหาได้เกิดความผิดขึ้นใหม่อีกไม่ เพราะเป็นการกระทำอันเดียวกันนั้นเอง การกระทำอันเดียวกันจะเป็นความผิดสองครั้งหาได้ไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

Facebook Comments