Home บทความคดีแพ่ง ศาลฎีกาวางหลักการนับอายุความคดีเช็คไว้อย่างไร

ศาลฎีกาวางหลักการนับอายุความคดีเช็คไว้อย่างไร

878

 

ศาลฎีกาวางหลักการนับอายุความคดีเช็คไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 150/2550

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (3) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา บริษัทยูนิเวอร์แซลสตีล จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (3) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 60,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ซึ่งความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 เกิดขึ้นเมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน มิใช่เกิดขึ้นในวันที่ลงในเช็คพิพาท ดังนี้ เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินวันที่ 24 กรกฎาคม 2538 จึงถือว่าความผิดของจำเลยทั้งสองเกิดขึ้นในวันดังกล่าว ฉะนั้น การเริ่มนับอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นต้นไป มิใช่นับแต่วันที่ 25 เมษายน 2538 อันเป็นวันที่ลงในเช็คพิพาท เมื่อโจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในวันที่ 20 ตุลาคม 2538 ภายในกำหนดระยะเวลา 3 เดือน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ แต่อย่างไรก็ตาม จำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คพิพาทสั่งจ่ายเงินจำนวน 729,000 บาท การที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 60,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน นั้นยังหนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขโทษจำเลยทั้งสองให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 40,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

สรุป

คดีความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 96 ซึ่งความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 เกิดขึ้นเมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน มิใช่เกิดขึ้นในวันที่ลงในเช็คพิพาท ดังนี้ เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินวันที่ 24 กรกฎาคม 2538 จึงถือว่าความผิดของจำเลยทั้งสองเกิดขึ้นในวันดังกล่าว ฉะนั้น การเริ่มนับอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นต้นไป มิใช่นับแต่วันที่ 25 เมษายน 2538 อันเป็นวันที่ลงในเช็คพิพาท เมื่อโจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในวันที่ 20 ตุลาคม 2538 ภายในกำหนดระยะเวลา 3 เดือน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

Facebook Comments