Home บทความคดีแพ่ง ศาลฎีกาวางหลักเรื่องการป้องกันการระดมเงินในคดีแชร์ไว้อย่างไร

ศาลฎีกาวางหลักเรื่องการป้องกันการระดมเงินในคดีแชร์ไว้อย่างไร

1109

ศาลฎีกาวางหลักเรื่องการป้องกันการระดมเงินในคดีแชร์ไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1361/2552

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 31 มีนาคม 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,200 บาท ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 31 มีนาคม 2546) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,200 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2539 จำเลยที่ 2 ตั้งวงแชร์ 1 วง เป็นแชร์ดอกหัก มีสมาชิกร่วมเล่นแชร์ 21 คน มีหุ้น 31 หุ้น หุ้นละ 100,000 บาท โจทก์เล่นแชร์ 2 หุ้น ส่วนจำเลยที่ 1 เล่นแชร์ 1 หุ้น เริ่มชำระเงินค่าแชร์งวดแรกในวันที่ 20 มกราคม 2539 การชำระเงินค่าแชร์งวดแรกสมาชิกต้องสั่งจ่ายเช็คฉบับละ 250,000 บาท มอบให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 จะสั่งจ่ายเช็คจำนวนเงิน 250,000 บาท ให้แก่สมาชิกวงแชร์ทุกคน จำเลยที่ 2 มีสิทธิได้รับเงินประมูลงวดแรกโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยและมีหน้าที่รวบรวมเช็คจากสมาชิกวงแชร์ที่ประมูลได้ส่งให้แก่สมาชิกวงแชร์ที่ประมูลไม่ได้หรือที่ยังไม่ได้ประมูล สมาชิกวงแชร์สามารถนำเช็คไปเรียกเก็บเงินทุกวันที่ 25 ของเดือนที่มีการประมูลในงวดที่ 2 เป็นต้นไป สมาชิกวงแชร์ที่ประมูลได้จะต้องสั่งจ่ายเช็คจำนวนเงิน 100,000 บาท ให้แก่สมาชิกวงแชร์ที่ประมูลไม่ได้และที่ยังไม่ได้ประมูล จำเลยที่ 2 จะสลักหลังเช็คและนำเช็คของสมาชิกวงแชร์ที่ประมูลได้ไปมอบให้แก่สมาชิกวงแชร์ที่ประมูลไม่ได้และที่ยังไม่ได้ประมูล หากเช็คเงินวงแชร์ฉบับใดถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน สมาชิกวงแชร์ผู้สั่งจ่ายเช็คและจำเลยที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินตามเช็คนั้นให้แก่สมาชิกวงแชร์ผู้ทรงเช็ค หากวงแชร์ล้มหรือไม่สามารถเล่นต่อไปได้ไม่ว่ากรณีใดๆ สมาชิกวงแชร์ผู้สั่งจ่ายเช็คและจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมกันรับผิดจ่ายเงินค่าแชร์ตามเช็คแก่สมาชิกวงแชร์ผู้ทรงเช็คด้วย จำเลยที่ 1 ประมูลแชร์ได้ในงวดที่ 11 ประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 โดยเสนอดอกเบี้ย 24,500 บาท และได้ออกเช็คชำระหนี้ค่าแชร์จำนวนเงินฉบับละ 100,000 บาท 2 ฉบับมอบให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้สลักหลังเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้วนำไปมอบให้แก่โจทก์ซึ่งยังไม่ได้ประมูล ส่วนโจทก์สั่งจ่ายเช็คค่าแชร์ซึ่งหักดอกเบี้ยออกแล้วเป็นจำนวนเงิน 151,500 บาท มอบให้แก่จำเลยที่ 2 นำไปมอบให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 นำเช็คของโจทก์ไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงินได้แล้ว ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม 2540 วงแชร์ล้ม โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และสมาชิกวงแชร์ตกลงกันให้โจทก์นำเช็คที่ยึดถือไว้ 2 ฉบับ ไปเรียกเก็บเงิน ซึ่งสามารถเรียกเก็บเงินได้ 1 ฉบับ แต่อีก 1 ฉบับ ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ โดยธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 โดยให้เหตุผลว่า มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงิน

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) บัญญัติห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่า 300,000 บาท และมาตรา 7 บัญญัติว่า บทบัญญัติในมาตรา 6 ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกวงแชร์จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้น หาได้ให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ที่จะเรียกร้องระหว่างกันเองไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 เป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประชาชนและเพื่อมิให้มีการประกอบธุรกิจการเล่นแชร์ที่กระทบต่อการระดมเงินออมของสถาบันการเงินที่ทางราชการสนับสนุนและรับผิดชอบซึ่งส่งผลกระทบไปถึงระบบเศรษฐกิจโดยส่วนรวม แต่การเล่นแชร์ของประชาชนโดยทั่วไปที่มิได้ดำเนินการเป็นธุรกิจยังให้กระทำต่อไปได้ ดังนั้น มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงบัญญัติห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเช่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดใน 4 ประการ เช่น ตามมาตรา 6 (3) มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งกฎกระทรวง (พ.ศ.2534) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 กำหนดวงเงินไว้ 300,000 บาท และมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติเอาความผิดแก่นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่ฝ่าฝืนมาตรา 6 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าประสงค์จะเอาความผิดเฉพาะผู้เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้น ดังนั้น นิติกรรมการเล่นแชร์ของนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้นที่ตกเป็นโมฆะ แต่นิติกรรมการเล่นแชร์ของโจทก์และจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ไม่ตกเป็นโมฆะไปด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 สิทธิหรือหน้าที่ของสมาชิกวงแชร์มีความผูกพันตามกฎหมายอยู่อย่างไรความผูกพันย่อมมีอยู่เช่นนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ประมูลแชร์ได้และสั่งจ่ายเช็คเงินค่าแชร์มอบให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อนำไปมอบให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ที่ยังไม่ได้ประมูล เพื่อให้โจทก์นำไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงินถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงต้องรับผิดชำระเงินค่าแชร์แก่โจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้ว ศาลฎีกาไม่จำต้องกล่าวซ้ำอีก ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าการเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งเกิดจากการตกลงกันระหว่างผู้เล่น สามารถบังคับกันได้ตามกฎหมาย แต่อายุความเกี่ยวกับการฟ้องเรียกเงินค่าแชร์ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ข้อเท็จจริงได้ความว่า วงแชร์ล้มเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินในวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 และเช็คดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินในวันเดียวกัน โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้นับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป เมื่อนับถึงวันที่ 31 มีนาคม 2546 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 เป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประชาชนและเพื่อมิให้มีการประกอบธุรกิจการเล่นแชร์ที่กระทบต่อการระดมเงินออมของสถาบันการเงินที่ทางราชการสนับสนุนและรับผิดชอบซึ่งส่งผลกระทบไปถึงระบบเศรษฐกิจโดยส่วนรวม แต่การเล่นแชร์ของประชาชนโดยทั่วไปที่มิได้ดำเนินการเป็นธุรกิจยังให้กระทำต่อไปได้ ดังนั้น มาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว จึงบัญญัติห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดใน 4 ประการ เช่น ตามมาตรา 6 (3) อีกทั้งมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้บัญญัติเอาความผิดแก่นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่ฝ่าฝืนมาตรา 6 แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าประสงค์จะเอาความผิดเฉพาะผู้เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้น ดังนั้น นิติกรรมการเล่นแชร์ของนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้นที่ตกเป็นโมฆะ แต่นิติกรรมการเล่นแชร์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ไม่ตกเป็นโมฆะไปด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 สิทธิหรือหน้าที่ของสมาชิกวงแชร์มีความผูกพันตามกฎหมายอยู่อย่างไรความผูกพันย่อมมีอยู่เช่นนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ประมูลแชร์ได้และสั่งจ่ายเช็คเงินค่าแชร์มอบให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อนำไปมอบให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ที่ยังไม่ได้ประมูล เพื่อให้โจทก์นำไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงิน ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงต้องรับผิดชำระเงินค่าแชร์แก่โจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง การเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งเกิดจากการตกลงกันระหว่างผู้เล่น สามารถบังคับกันได้ตามกฎหมาย แต่อายุความเกี่ยวกับการฟ้องเรียกเงินค่าแชร์ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อวงแชร์ล้มในวันที่ 20 กรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินในวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 และเช็คดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินในวันเดียวกัน โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้นับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป เมื่อนับถึงวันที่ 31 มีนาคม 2546 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

Facebook Comments