Home บทความ ผู้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาไม่ใช่ผู้มีหน้าที่กระทำแทน บอกเลิกสัญญาชอบหรือไม่

ผู้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาไม่ใช่ผู้มีหน้าที่กระทำแทน บอกเลิกสัญญาชอบหรือไม่

1373

ผู้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาไม่ใช่ผู้มีหน้าที่กระทำแทน บอกเลิกสัญญาชอบหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 134/2549

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง บ้านรังสิยาโครงการรังสิตคลอง 15 แบบไอลดา แปลงหมายเลข เอฟ 24 กับจำเลยในราคา 1,270,000 บาท ชำระเงินในวันจองจำนวน 10,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละงวด รวม 16 งวด โจทก์ชำระค่างวดให้แก่จำเลยไปจนถึงการชำระงวดที่สิบห้า จำเลยก่อสร้างบ้านไม่แล้วเสร็จ และจำเลยขอขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปโดยให้โจทก์แบ่งชำระเงินค่างวดที่สิบห้าเป็น 8 งวด โจทก์ผ่อนชำระค่างวดให้แก่จำเลยตามตกลง แต่จำเลยไม่ก่อสร้างบ้านต่อ และปล่อยทิ้งร้างเรื่อยมา เมื่อโจทก์ทวงถาม จำเลยให้โจทก์เปลี่ยนที่ดินจากที่ทำสัญญาไว้เป็นแปลงที่ ดี 94 โดยแจ้งว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จและโอนกรรมสิทธิ์ได้ก่อนที่ดินแปลงเดิม โจทก์ยินยอมและได้ชำระเงินค่างวดแก่จำเลยจนครบถ้วน แต่จำเลยไม่ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จตามที่ตกลงกัน โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยดำเนินการตามสัญญาโดยกำหนดวันแล้วเสร็จและเข้าดำเนินการก่อสร้างภายใน 15 วัน หากไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาได้ให้คืนเงินที่ได้รับชำระไว้ทั้งหมดแก่โจทก์ภายใน 15 วัน จำเลยเพิกเฉย และไม่แจ้งกำหนดวันแล้วเสร็จให้ทราบถือว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และให้จำเลยคืนเงินทั้งหมดภายใน 15 วัน จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 323,409.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 258,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยก่อสร้างบ้านตามสัญญาไปแล้วร้อยละ 75 เหลืองานที่ต้องใช้เวลาก่อสร้างอีกประมาณ 2 เดือน ก็แล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ โจทก์บอกเลิกสัญญาโดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยดำเนินการก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 323,409.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 258,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 มกราคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาข้อแรกว่า ผู้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาของโจทก์มิใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย ถือว่าจำเลยไม่เคยทราบถึงการบอกเลิกสัญญานั้น เห็นว่า ปัญหานี้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่จำเลยฎีกาต่อมาว่า การบอกเลิกสัญญาของโจทก์ไม่ได้กำหนดระยะเวลาการก่อสร้างบ้านให้แก่จำเลยจึงไม่ชอบ ค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยใช้แทนโจทก์สูงเกินไปนั้น เห็นว่า ปัญหานี้ศาลล่างทั้งสอง ได้พิจารณาพยานหลักฐานถ้อยคำเบิกความพยานบุคคลของโจทก์ และพยานจำเลยที่นำสืบมาโดยละเอียดชัดเจนแล้วฟังยุติว่า โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยก่อสร้างบ้านต่อภายหลังจากทำสัญญาประมาณเกือบ 4 ปี แต่จำเลยไม่ลงมือก่อสร้าง แสดงว่าจำเลยเป็นฝ่ายเลินเล่อหยุดการก่อสร้างไว้เองเป็นฝ่ายผิดสัญญา และหนังสือแจ้งให้จำเลยเริ่มก่อสร้างภายใน 15 วันนั้น เป็นการกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้ว และศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาเรื่องการกำหนดค่าทนายความของศาลชั้นต้นนั้น เหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ยกข้อโต้เถียงคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์มานั้น ไม่มีเหตุผลที่จะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองได้ ศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของรองประธานศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมาย เห็นว่า ฎีกาของจำเลยเป็นสาระแก่คดีอันไม่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายกฎีกาของจำเลย ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

สรุป

จำเลยฎีกาว่าผู้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาของโจทก์มิใช่ผู้มีอำนาจกระทำแทนจำเลย ถือว่าจำเลยไม่เคยทราบถึงการบอกเลิกสัญญา ปัญหานี้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

Facebook Comments