Home ทั้งหมด กฎหมายกำหนดรูปแบบในการร้องทุกข์ไว้หรือไม่อย่างไร

กฎหมายกำหนดรูปแบบในการร้องทุกข์ไว้หรือไม่อย่างไร

640

กฎหมายกำหนดรูปแบบในการร้องทุกข์ไว้หรือไม่อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22267/2555

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และให้จำเลยคืนเงิน 450,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นายดาวกระจาย ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก จำคุก 1 ปี ให้จำเลยคืนเงิน 450,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วม

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2550 โจทก์ร่วมซึ่งเป็นคนสัญชาติอังกฤษได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย รู้จักจำเลยและอยู่กินฉันสามีภริยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรส ต่อมาโจทก์ร่วมซื้อที่ดินที่อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมาและปลูกสร้างบ้านอยู่กับจำเลย ประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2550 โจทก์ร่วมต้องเดินทางกลับประเทศอังกฤษ ต่อมาจำเลยได้รับเงินตามฟ้องจากโจทก์ร่วม และเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2550 จำเลยนำเงินดังกล่าวฝากธนาคารในนามของจำเลย เมื่อโจทก์ร่วมทวงถามจำเลยไม่ยินยอมคืนเงินให้แก่โจทก์ร่วม และไม่กลับไปอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ร่วมอีก วันที่ 27 ธันวาคม 2550 โจทก์ร่วมไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อให้ติดตามจำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวมาคืน แต่จำเลยไม่ยอมคืนให้ ต่อมาวันที่ 11 มกราคม 2551 โจทก์ร่วมจึงแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาฐานยักยอกทรัพย์เงินจำนวนดังกล่าวของโจทก์ร่วมไปเป็นคดีนี้

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ จำเลยแก้ฎีกาโดยโต้แย้งว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเนื่องจากไม่มีหลักฐานว่าโจทก์ร่วมได้มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลย ซึ่งเป็นคดีความผิดอันยอมความได้ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวน และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกมินตรา พนักงานสอบสวนว่า เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2550 ขณะที่พยานปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวน โจทก์ร่วมมาแจ้งว่าถูกจำเลยซึ่งเป็นภริยายักยอกเงินไป 450,000 บาท ขอให้เรียกจำเลยมาเพื่อเจรจาตกลงกัน ต่อมาวันที่ 11 มกราคม 2551 โจทก์ร่วมมาพบพยานอีกครั้งหนึ่งแจ้งว่าประสงค์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย พยานจึงสอบปากคำผู้เสียหายไว้ หลังจากนั้นได้มีหนังสือขอเอกสารทางบัญชีจากธนาคาร และมีคำสั่งแจ้งอายัดเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าว และธนาคารได้รับแจ้งการอายัดไว้แล้ว เห็นว่า การร้องทุกข์นั้น กฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ดังนี้ การที่โจทก์ร่วมมาแจ้งต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 11 มกราคม 2551 ว่า ประสงค์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเป็นคดีนี้ และพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำโจทก์ร่วมไว้ดังกล่าว จึงถือว่าเป็นการร้องทุกข์แล้ว แม้พนักงานสอบสวนจะไม่ได้ทำบันทึกการมอบคดีความผิดอันยอมความไว้ก็ตาม พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยเบียดบังยักยอกเอาเงินของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริตตามฟ้องหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีตัวโจทก์ร่วมเบิกความเป็นพยานว่า หลังจากโจทก์ร่วมอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยแล้ว โจทก์ร่วมได้ออกเงินซื้อที่ดินและปลูกสร้างบ้านโดยใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เนื่องจากโจทก์ร่วมไม่สามารถถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ ต่อมาหลังจากโจทก์ร่วมเดินทางจากประเทศอังกฤษกลับมาประเทศไทย เมื่อวันที่17 ธันวาคม 2550 โจทก์ร่วมได้มอบเงิน 400,000 บาท กับเงินที่เหลือจากการตกแต่งบ้านอีก 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 450,000 บาท ให้จำเลยนำไปฝากธนาคารในชื่อบัญชีโจทก์ร่วมร่วมกับจำเลยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายร่วมกัน แต่จำเลยอ้างว่าโจทก์ร่วมเป็นชาวต่างชาติไม่สามารถเปิดบัญชีได้ จำเลยจึงเปิดบัญชีและฝากเงินในชื่อของจำเลยเพียงคนเดียว ต่อมาวันที่ 19 ธันวาคม 2550 โจทก์ร่วมทราบว่าโจทก์ร่วมสามารถเปิดบัญชีเงินฝากได้เอง จึงเปิดบัญชีเงินฝากในชื่อของโจทก์ร่วม หลังจากนั้นโจทก์ร่วมบอกจำเลยให้นำเงิน 450,000 บาท ซึ่งอยู่ในบัญชีของจำเลยนำเข้าบัญชีของโจทก์ร่วม แต่จำเลยผัดผ่อนเรื่อยมาอ้างว่าจะไปดำเนินการให้ในวันรุ่งขึ้น แต่สุดท้ายจำเลยไม่ยอมโอนเงินให้แก่โจทก์ร่วม หลังจากนั้นจำเลยได้หนีออกจากบ้านไป ไม่กลับมาที่บ้านอีก โจทก์ร่วมโทรศัพท์บอกให้จำเลยคืนเงินให้แก่โจทก์ร่วม แต่จำเลยปิดโทรศัพท์ไม่ยอมพูดคุยด้วย โจทก์ร่วมจึงไม่ได้อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยอีก จากคำเบิกความของโจทก์ร่วมโดยมีนางเขียว ญาติของจำเลย พยานโจทก์และโจทก์ร่วมอีกปากหนึ่งเบิกความสนับสนุนว่าโจทก์ร่วมมอบเงินเข้าบัญชีของจำเลยเนื่องจากเข้าใจว่าชาวต่างชาติไม่สามารถเปิดบัญชีได้ อันแสดงให้เห็นว่าโจทก์ร่วมไม่ได้ประสงค์ที่จะมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่จำเลยทั้งหมดเพียงคนเดียว โจทก์ร่วมยังประสงค์ที่จะนำเงินฝากมาใช้จ่ายร่วมกันในส่วนของโจทก์ร่วมด้วย แต่เมื่อจำเลยอ้างว่าโจทก์ร่วมเป็นชาวต่างชาติไม่สามารถเปิดบัญชีได้ ทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อ ดังนั้น การที่จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากในชื่อของจำเลยเพียงคนเดียวจึงถือได้ว่าจำเลยครอบครองเงินตามฟ้องที่โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย พฤติการณ์ของจำเลยที่ว่าหลังจากโจทก์ร่วมบอกให้จำเลยคืนเงินและนำเงินจำนวนดังกล่าวไปเข้าบัญชีของโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยผัดผ่อนเรื่อยมา ไม่ยอมโอนเงินให้แก่โจทก์ร่วมและหาเหตุหนีออกจากบ้านไป ไม่ยอมกลับมาอยู่กับโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมโทรศัพท์ให้จำเลยคืนเงิน จำเลยก็ปิดเครื่องโทรศัพท์ไม่ยอมพูดคุยด้วย อันส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะเอาเงินดังกล่าวเป็นของจำเลยคนเดียวทั้งหมด ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า หลังเกิดเหตุ 3 ถึง 4 เดือน จำเลยก็ได้แต่งงานใหม่กับสามีคนไทย การที่จำเลยอยู่กินกับโจทก์ร่วมก็เพียงเพื่อต้องการได้ผลประโยชน์จากโจทก์ร่วมเท่านั้น เมื่อโจทก์ร่วมขอให้จำเลยโอนเงินที่ฝากไว้ในชื่อจำเลยเข้าบัญชีของโจทก์ร่วม จำเลยก็บ่ายเบี่ยงหาทางเลิกกับโจทก์ร่วมโดยหนีออกจากบ้านไม่มาอยู่กับโจทก์ร่วมเพื่อไม่ต้องการคืนเงินให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อเงินในบัญชีเงินฝากในชื่อของจำเลยเป็นเงินของโจทก์ร่วมและจำเลยร่วมกัน จำเลยได้ถอนเงินของโจทก์ร่วมไปและไม่ยอมถอนเงินคืนให้แก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังยักยอกเอาเงินซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริต อันเป็นความผิดฐานยักยอกตามที่โจทก์ฟ้อง หาใช่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่ ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ร่วมมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยไว้ใช้อะไรก็ได้ จำเลยก็เบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่เห็นว่าตามพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องภายในครอบครัวระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย ทั้งการลงโทษจำคุกจำเลยในระยะสั้นไม่เป็นผลดีต่อสังคมโดยรวมและไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้โดยให้ลงโทษปรับอีกสถานหนึ่ง ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนเงิน 450,000 บาท แก่โจทก์ร่วม เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เงินดังกล่าวเป็นเงินที่โจทก์ร่วมมอบให้จำเลยไว้ใช้จ่ายร่วมกันในครอบครัว โจทก์ร่วมและจำเลยจึงเป็นเจ้าของร่วมกันในเงินดังกล่าว โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเพียงกึ่งหนึ่งของเงินจำนวนดังกล่าวเท่านั้น

พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก จำคุก 3 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้จำเลยคืนเงิน 225,000 บาท แก่โจทก์ร่วม

สรุป

กฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบของการร้องทุกข์ว่าต้องดำเนินการอย่างไร การที่โจทก์ร่วมแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า ประสงค์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย และพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำโจทก์ร่วมไว้ จึงถือว่าเป็นการร้องทุกข์แล้ว แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้บันทึกการมอบคดีความผิดอันยอมความไว้ก็ตาม พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง

โจทก์ร่วมมอบเงินให้จำเลยไว้ใช้จ่ายร่วมกันในครอบครัว การที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ร่วมเป็นชาวต่างชาติไม่สามารถเปิดบัญชีได้ จำเลยจึงเปิดบัญชีและฝากเงินในชื่อของจำเลยเพียงคนเดียว ถือได้ว่าจำเลยครอบครองเงินที่โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เมื่อโจทก์ร่วมบอกให้จำเลยคืนเงินแต่จำเลยไม่ยอมคืนให้แก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังยักยอกเอาเงินซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่ แต่เมื่อโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันในเงินดังกล่าว โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเพียงกึ่งหนึ่งในเงินจำนวนดังกล่าวเท่านั้น

Facebook Comments