เส้นทางชีวิต ‘กว่าจะมาเป็น…ผู้พิพากษา’ ของศิษย์รามฯ
จากเด็กบ้านนอกในถิ่นทุรกันดารเข้ากรุงเทพฯเพื่อหางานทำและเรียนหนังสือเริ่มต้นด้วยการเป็นสาวโรงงาน ปัจจุบันความตั้งใจ มุ่งมั่น และความบากบั่นของเธอ พลิกชีวิตให้เธอก้าวสู่อาชีพที่ทรงเกียรติและเป็นที่พึ่งของประชาชน คือ การเป็นผู้พิพากษา
‘ข่าวรามคำแหง’
ขอเสนอชีวิตผู้พิพากษาลัดดาวรรณ หลวงอาจศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหงปัจจุบันอายุ 37 ปี เป็นผู้พิพากษาศาลแพ่ง ซึ่งได้ออกอากาศรายการเจาะใจ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์
กองทัพบก ช่อง 5 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2556 ลัดดาวรรณ เล่าว่า
ชีวิตของดิฉันเริ่มต้นในหมู่บ้านเล็กๆที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ที่บ้าน
ทำไร่ข้าวโพดอยู่บนภูเขา ซึ่งคนในหมู่บ้านไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ดิฉันเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ และฟังรายการวิทยุมาตั้งแต่เด็ก พอเรียนจบชั้น ป.6 พ่อแม่ไม่ให้เรียนต่อเพราะต้องช่วยที่บ้านทำงาน แต่ก็ขอจนที่บ้านให้ จึงเข้าเรียน กศน.ทางไกลที่อำเภอหล่มเก่าจังหวัดเพชรบูรณ์ ต้องเดินจากหมู่บ้านไป 3 กิโลเมตรขึ้นรถประจำทางไปที่หล่มเก่าอีก 30 กิโลเมตร ใช้เวลาเรียนอยู่ 1 ปี ก็ได้วุฒิ ม.3
“พอเรียนจบดิฉันอยากไปหางานทำที่กรุงเทพฯ
และอยากเรียนหนังสือต่อ โดยรับปากกับที่บ้านว่าจะ
ส่งเงินมาให้พ่อแม่ทุกเดือน ก็ไปหางานที่สำนักงาน
จัดหางาน อำเภอด่านซ้าย เพื่อเข้ามาทำงานที่โรงงาน
ปลาทูน่ากระป๋องที่จังหวัดนครปฐม เป็นพนักงาน
ขูดปลา ยืนทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 2 ทุ่มไปพร้อม
กับการเรียน กศน.ด้วยตนเอง เรียนเฉพาะวันอาทิตย์
เวลาว่างทั้งหมด คือ การอ่านหนังสือ ถ้าเราทำงาน
เหนื่อยๆพอได้อ่านหนังสือแล้วรู้สึกมีพลัง เหมือนมี
โลกส่วนตัวของตนเอง เวลาหาเงินได้ก็จะส่งให้พ่อแม่
ก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุด”
ผู้พิพากษาศาลแพ่ง เล่าด้วยว่า บางครั้งที่รู้สึกท้อเรียนจบ กศน.แล้ว ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อก็คิดว่าคนที่จบปริญญาตรียังตกงาน จึงมีความคิดที่อยากเรียนจบปริญญาตรี ช่วงที่ท้อมากๆก็กลับบ้าน พอหายเหนื่อยก็เข้ามาทำงานก่อสร้าง โรงงานอิเล็กทรอนิกส์ สมุทรปราการและโรงงานผลิตเครื่องแฟกซ์ บางปะกง พอทำงานไปได้ระยะหนึ่งก็ตัดสินใจมาสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ตอนนั้นคิดว่าคงเรียนสาขารัฐศาสตร์ไม่ได้เพราะวิชาพื้นฐานเยอะมาก ไม่ได้เรียนมัธยมในระบบโรงเรียน คงตามเพื่อนไม่ทัน ส่วนคณะนิติศาสตร์วิชาพื้นฐานน้อย วิชาหลักก็ไม่มีสอนในชั้นมัธยม มาเริ่มต้น
พร้อมกันคงพอเรียนได้ ปีแรกลงทะเบียนเรียนตามวันเวลาว่างเพื่อจะได้ลางานให้น้อยที่สุด บางครั้งลงทะเบียนเรียนสองวิชาที่สอบวันเดียวกัน ผลสอบในปีหนึ่งเป็นที่น่าพอใจ สามารถสอบผ่านเป็นส่วนใหญ่
“พอเริ่มปีสอง วิชาเรียนเริ่มยากขึ้น คิดว่าการทำงาน
โรงงานหนักเกินไป และไม่เหมาะแก่การเรียน จึงตัดสินใจ
ลาออกจากงานโรงงาน มาทำงานร้านเซเว่นใกล้กับ
มหาวิทยาลัย ช่วงไหนที่เข้ากะดึกและกะบ่าย ก็จะหา
โอกาสไปนั่งฟังคำบรรยาย ตอนนั้นไม่มีเพื่อนเลยแม้แต่
คนเดียว จึงตัดสินใจเข้าไปฝึกอบรมการพูดที่ศูนย์พัฒนา
การพูดรามคำแหง ทำให้มีเพื่อนมากขึ้นและไม่อยากจะ
ทำงานอีกต่อไป ประกอบกับช่วงนั้นมีโครงการกู้ยืม
เงินเพื่อการศึกษาจึงตัดสินใจลาออกจากงานและ
กู้เงินเรียน”
ผู้พิพากษาศาลแพ่งกล่าวต่อไปว่า สมัยเรียนที่รามคำแหงได้มีโอกาสเรียนกับผู้พิพากษาท่านหนึ่ง ท่านเป็นผู้จุดประกายความฝันทำให้
อยากเป็นผู้พิพากษา ท่านบอกไว้ว่า การเป็นผู้พิพากษาต้องใช้ความสามารถเท่านั้น ไม่มีการใช้เส้นสาย และการเลื่อนตำแหน่งก็เป็นไปตามระบบอาวุโส จากนั้นดิฉันก็ตั้งใจเข้าเรียนกับอาจารย์ทุกวิชา ได้อะไรจากที่อาจารย์สอนเยอะมาก พอเรียนเสร็จก็ไปอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบใช้เวลาเรียนเพียง 3 ปี และไปสอบเนติบัณฑิตไทยโดยใช้เวลา 1 ปี
“ถ้าถามว่ามีเคล็ดลับอะไรในการเรียน นักศึกษา
รามคำแหงรู้ดีว่า เราต้องฝึกทำข้อสอบเก่า ฝึกเขียน
ข้อสอบกฎหมาย สมองเรามี 2 ส่วน คือ ส่วนถ่ายทอด
ข้อมูลกับรับข้อมูล ถ้าอ่านอย่างเดียวไม่เคยฝึกถ่ายทอด
สมองก็จะวนไปวนมา ก็จะสอบไม่ผ่าน และหลังจาก
ที่สอบเนติบัณฑิตไทยได้แล้ว ก็เข้าทำงานที่สำนักงาน
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
(ป.ป.ช.) ไปพร้อมกับการสอบผู้พิพากษา ซึ่งดิฉัน
ก็ได้ปฏิบัติธรรมไปด้วยการตื่นตี 4 มานั่งสมาธิ-สวดมนต์
ทุกวันอ่านหนังสือทุกครั้งก็ใช้สมาธิ อ่านให้เข้าใจ
เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ถ่ายทอดออกมาสั้นกระชับ
ได้ใจความ บางครั้งก็คิดว่าเป็นเรื่องของโชคชะตา ต่อให้เรา
เตรียมตัวแค่ไหนก็อาจจะมีผิดพลาดได้ ตอนที่สอบ
ผู้พิพากษา ทุกคนที่สอบจะต้องจบเนติบัณฑิตไทยและ
ทำงานด้านกฎหมายมาแล้วอย่างน้อย 2 ปี ต้องมีอายุ
25 ปีบริบูรณ์ ซึ่งสมัยที่สอบมีคนสอบประมาณ 6 พันคน
คนที่สอบผ่านเกณฑ์มีแค่ 101 คน ดิฉันก็เป็นหนึ่ง
ในนั้น”
ผู้พิพากษาศาลแพ่ง กล่าวด้วยว่า ดิฉันสามารถสอบเป็นผู้พิพากษาได้ตั้งแต่อายุ 27 ปี โดยเริ่มจากการอบรมเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา 2 ปี ประจำที่ศาลจังหวัดนาทวี จังหวัดสงขลา 2 ปี และเป็นผู้พิพากษาศาลแพ่ง 5 ปี รวมแล้ว 9 ปี มาคิดอีกที ชีวิตก็เหมือนฝันจากเด็กบ้านนอกแล้วกลายมาเป็นผู้พิพากษา เป็นชีวิตการทำงานที่มีความสุข เป็นความภูมิใจที่สุดในชีวิตเพราะเกินกว่าที่เราหวังไว้ จากนี้ต่อไปตั้งใจจะอุทิศชีวิตเพื่อรับใช้ประชาชนและบ้านเมือง
“สิ่งสำคัญที่ทำให้เดินมาถึงตรงนี้ได้นั้น คือ
ยึดมั่นในคำที่ว่า ‘ถ้าวันไหนทุกสิ่งเกิดผิดพลาด ใจที่ดี
จะนำสิ่งนั้นกลับคืนมา’ มาถึงทุกวันนี้ได้ด้วยใจที่ไม่ยอมแพ้
ชีวิตต้องมีหวัง ถ้าเหนื่อยก็พัก พักแล้วเริ่มใหม่ ถ้าไม่
ล้มเลิกวันหนึ่งก็จะถึงจุดหมาย ทุกสิ่งอยู่ที่ใจถ้าใจเราสู้
ก็จะไปต่อได้ ทุกครั้งที่ทุกอย่างไม่เป็นไปดังหวัง ก็จะ
บอกกับตัวเองว่า มันต้องมีวิธีการอื่นที่ให้เราเดินไป
สู่ความสำเร็จได้ ทุกเรื่องราวในชีวิตที่ผ่านมาไม่ว่าดี
หรือร้ายก็สามารถเป็นครูสอนเราได้ ขอให้มองหา
ข้อดีในสิ่งที่เรามี นั่นคือ ‘ลมหายใจ’ ถ้าเรายังมีลมหายใจ
เราก็ต้องมีหวังแล้วทำสิ่งนั้นต่อไป”
ศิษย์เก่านิติรามฯกล่าวในที่สุด