Home ทริบเทคนิค/บทความ เส้นทางชีวิต ‘กว่าจะมาเป็น…ผู้พิพากษา’ ของศิษย์รามฯ

เส้นทางชีวิต ‘กว่าจะมาเป็น…ผู้พิพากษา’ ของศิษย์รามฯ

83156

เส้นทางชีวิต ‘กว่าจะมาเป็น…ผู้พิพากษา’ ของศิษย์รามฯ

image

image

จากเด็กบ้านนอกในถิ่นทุรกันดารเข้ากรุงเทพฯเพื่อหางานทำและเรียนหนังสือเริ่มต้นด้วยการเป็นสาวโรงงาน ปัจจุบันความตั้งใจ มุ่งมั่น และความบากบั่นของเธอ พลิกชีวิตให้เธอก้าวสู่อาชีพที่ทรงเกียรติและเป็นที่พึ่งของประชาชน คือ การเป็นผู้พิพากษา

‘ข่าวรามคำแหง’
ขอเสนอชีวิตผู้พิพากษาลัดดาวรรณ หลวงอาจศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหงปัจจุบันอายุ 37 ปี เป็นผู้พิพากษาศาลแพ่ง ซึ่งได้ออกอากาศรายการเจาะใจ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์
กองทัพบก ช่อง 5 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2556 ลัดดาวรรณ เล่าว่า

ชีวิตของดิฉันเริ่มต้นในหมู่บ้านเล็กๆที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ที่บ้าน
ทำไร่ข้าวโพดอยู่บนภูเขา ซึ่งคนในหมู่บ้านไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ดิฉันเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ และฟังรายการวิทยุมาตั้งแต่เด็ก พอเรียนจบชั้น ป.6 พ่อแม่ไม่ให้เรียนต่อเพราะต้องช่วยที่บ้านทำงาน แต่ก็ขอจนที่บ้านให้ จึงเข้าเรียน กศน.ทางไกลที่อำเภอหล่มเก่าจังหวัดเพชรบูรณ์ ต้องเดินจากหมู่บ้านไป 3 กิโลเมตรขึ้นรถประจำทางไปที่หล่มเก่าอีก 30 กิโลเมตร ใช้เวลาเรียนอยู่ 1 ปี ก็ได้วุฒิ ม.3

“พอเรียนจบดิฉันอยากไปหางานทำที่กรุงเทพฯ
และอยากเรียนหนังสือต่อ โดยรับปากกับที่บ้านว่าจะ
ส่งเงินมาให้พ่อแม่ทุกเดือน ก็ไปหางานที่สำนักงาน
จัดหางาน อำเภอด่านซ้าย เพื่อเข้ามาทำงานที่โรงงาน
ปลาทูน่ากระป๋องที่จังหวัดนครปฐม เป็นพนักงาน
ขูดปลา ยืนทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 2 ทุ่มไปพร้อม
กับการเรียน กศน.ด้วยตนเอง เรียนเฉพาะวันอาทิตย์
เวลาว่างทั้งหมด คือ การอ่านหนังสือ ถ้าเราทำงาน
เหนื่อยๆพอได้อ่านหนังสือแล้วรู้สึกมีพลัง เหมือนมี
โลกส่วนตัวของตนเอง เวลาหาเงินได้ก็จะส่งให้พ่อแม่
ก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุด”

ผู้พิพากษาศาลแพ่ง เล่าด้วยว่า บางครั้งที่รู้สึกท้อเรียนจบ กศน.แล้ว ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อก็คิดว่าคนที่จบปริญญาตรียังตกงาน จึงมีความคิดที่อยากเรียนจบปริญญาตรี ช่วงที่ท้อมากๆก็กลับบ้าน พอหายเหนื่อยก็เข้ามาทำงานก่อสร้าง โรงงานอิเล็กทรอนิกส์ สมุทรปราการและโรงงานผลิตเครื่องแฟกซ์ บางปะกง พอทำงานไปได้ระยะหนึ่งก็ตัดสินใจมาสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ตอนนั้นคิดว่าคงเรียนสาขารัฐศาสตร์ไม่ได้เพราะวิชาพื้นฐานเยอะมาก ไม่ได้เรียนมัธยมในระบบโรงเรียน คงตามเพื่อนไม่ทัน ส่วนคณะนิติศาสตร์วิชาพื้นฐานน้อย วิชาหลักก็ไม่มีสอนในชั้นมัธยม มาเริ่มต้น
พร้อมกันคงพอเรียนได้ ปีแรกลงทะเบียนเรียนตามวันเวลาว่างเพื่อจะได้ลางานให้น้อยที่สุด บางครั้งลงทะเบียนเรียนสองวิชาที่สอบวันเดียวกัน ผลสอบในปีหนึ่งเป็นที่น่าพอใจ สามารถสอบผ่านเป็นส่วนใหญ่

“พอเริ่มปีสอง วิชาเรียนเริ่มยากขึ้น คิดว่าการทำงาน
โรงงานหนักเกินไป และไม่เหมาะแก่การเรียน จึงตัดสินใจ
ลาออกจากงานโรงงาน มาทำงานร้านเซเว่นใกล้กับ
มหาวิทยาลัย ช่วงไหนที่เข้ากะดึกและกะบ่าย ก็จะหา
โอกาสไปนั่งฟังคำบรรยาย ตอนนั้นไม่มีเพื่อนเลยแม้แต่
คนเดียว จึงตัดสินใจเข้าไปฝึกอบรมการพูดที่ศูนย์พัฒนา
การพูดรามคำแหง ทำให้มีเพื่อนมากขึ้นและไม่อยากจะ
ทำงานอีกต่อไป ประกอบกับช่วงนั้นมีโครงการกู้ยืม
เงินเพื่อการศึกษาจึงตัดสินใจลาออกจากงานและ
กู้เงินเรียน”

ผู้พิพากษาศาลแพ่งกล่าวต่อไปว่า สมัยเรียนที่รามคำแหงได้มีโอกาสเรียนกับผู้พิพากษาท่านหนึ่ง ท่านเป็นผู้จุดประกายความฝันทำให้
อยากเป็นผู้พิพากษา ท่านบอกไว้ว่า การเป็นผู้พิพากษาต้องใช้ความสามารถเท่านั้น ไม่มีการใช้เส้นสาย และการเลื่อนตำแหน่งก็เป็นไปตามระบบอาวุโส จากนั้นดิฉันก็ตั้งใจเข้าเรียนกับอาจารย์ทุกวิชา ได้อะไรจากที่อาจารย์สอนเยอะมาก พอเรียนเสร็จก็ไปอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบใช้เวลาเรียนเพียง 3 ปี และไปสอบเนติบัณฑิตไทยโดยใช้เวลา 1 ปี

“ถ้าถามว่ามีเคล็ดลับอะไรในการเรียน นักศึกษา
รามคำแหงรู้ดีว่า เราต้องฝึกทำข้อสอบเก่า ฝึกเขียน
ข้อสอบกฎหมาย สมองเรามี 2 ส่วน คือ ส่วนถ่ายทอด
ข้อมูลกับรับข้อมูล ถ้าอ่านอย่างเดียวไม่เคยฝึกถ่ายทอด
สมองก็จะวนไปวนมา ก็จะสอบไม่ผ่าน และหลังจาก
ที่สอบเนติบัณฑิตไทยได้แล้ว ก็เข้าทำงานที่สำนักงาน
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

(ป.ป.ช.) ไปพร้อมกับการสอบผู้พิพากษา ซึ่งดิฉัน

ก็ได้ปฏิบัติธรรมไปด้วยการตื่นตี 4 มานั่งสมาธิ-สวดมนต์

ทุกวันอ่านหนังสือทุกครั้งก็ใช้สมาธิ อ่านให้เข้าใจ
เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ถ่ายทอดออกมาสั้นกระชับ
ได้ใจความ บางครั้งก็คิดว่าเป็นเรื่องของโชคชะตา ต่อให้เรา
เตรียมตัวแค่ไหนก็อาจจะมีผิดพลาดได้ ตอนที่สอบ
ผู้พิพากษา ทุกคนที่สอบจะต้องจบเนติบัณฑิตไทยและ
ทำงานด้านกฎหมายมาแล้วอย่างน้อย 2 ปี ต้องมีอายุ
25 ปีบริบูรณ์ ซึ่งสมัยที่สอบมีคนสอบประมาณ 6 พันคน
คนที่สอบผ่านเกณฑ์มีแค่ 101 คน ดิฉันก็เป็นหนึ่ง
ในนั้น”

ผู้พิพากษาศาลแพ่ง กล่าวด้วยว่า ดิฉันสามารถสอบเป็นผู้พิพากษาได้ตั้งแต่อายุ 27 ปี โดยเริ่มจากการอบรมเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา 2 ปี ประจำที่ศาลจังหวัดนาทวี จังหวัดสงขลา 2 ปี และเป็นผู้พิพากษาศาลแพ่ง 5 ปี รวมแล้ว 9 ปี มาคิดอีกที ชีวิตก็เหมือนฝันจากเด็กบ้านนอกแล้วกลายมาเป็นผู้พิพากษา เป็นชีวิตการทำงานที่มีความสุข เป็นความภูมิใจที่สุดในชีวิตเพราะเกินกว่าที่เราหวังไว้ จากนี้ต่อไปตั้งใจจะอุทิศชีวิตเพื่อรับใช้ประชาชนและบ้านเมือง

“สิ่งสำคัญที่ทำให้เดินมาถึงตรงนี้ได้นั้น คือ
ยึดมั่นในคำที่ว่า ‘ถ้าวันไหนทุกสิ่งเกิดผิดพลาด ใจที่ดี
จะนำสิ่งนั้นกลับคืนมา’ มาถึงทุกวันนี้ได้ด้วยใจที่ไม่ยอมแพ้
ชีวิตต้องมีหวัง ถ้าเหนื่อยก็พัก พักแล้วเริ่มใหม่ ถ้าไม่
ล้มเลิกวันหนึ่งก็จะถึงจุดหมาย ทุกสิ่งอยู่ที่ใจถ้าใจเราสู้
ก็จะไปต่อได้ ทุกครั้งที่ทุกอย่างไม่เป็นไปดังหวัง ก็จะ
บอกกับตัวเองว่า มันต้องมีวิธีการอื่นที่ให้เราเดินไป
สู่ความสำเร็จได้ ทุกเรื่องราวในชีวิตที่ผ่านมาไม่ว่าดี
หรือร้ายก็สามารถเป็นครูสอนเราได้ ขอให้มองหา
ข้อดีในสิ่งที่เรามี นั่นคือ ‘ลมหายใจ’ ถ้าเรายังมีลมหายใจ
เราก็ต้องมีหวังแล้วทำสิ่งนั้นต่อไป”

ศิษย์เก่านิติรามฯกล่าวในที่สุด

Facebook Comments