Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ ถูกฟ้องขับไล่ ทำอย่างไรได้บ้าง

ถูกฟ้องขับไล่ ทำอย่างไรได้บ้าง

30315

ถูกฟ้องขับไล่ ทำอย่างไรได้บ้าง

ข้อเท็จจริงและประเด็นคำถาม:
ข้อเท็จจริง ผู้ร้องอยู่ในที่ดินผืนนี้มาแล้ว 30กว่าปีและมีครอบครัวอื่นอยู่ร่วมกันอีก 16 หลังคาเรือน โดยทั้งหมดไม่มีบ้านเลขที่ ต่อมาผู้ร้องถูกขับไล่ออกจากที่ดินโดยเจ้าของที่ดินซึ่งเพิ่งซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมมาได้ 1 ปีเศษ และผู้ขับไล่บอกว่าจะไม่มีการจ่ายเงินชดเชยใดๆแก่ผู้ร้องทั้งสิ้น และตัวผู้ร้องไม่มีเงินจ้างทนายความมาสู้คดีที่ถูกฟ้องขับไล่นี้

ประเด็นคำถาม
ข้อ 1 กรณีไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ต้องต่อสู้คดี ผลของคดีจะเป็นเช่นไร ผู้ร้องมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นค่ารื้อถอนบ้านหรือไม่
ข้อ 2 มีทนายความบริการประชาชนที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือไม่
ข้อ 3 ในการต่อสู้คดีถ้าไม่ใช้ทนายความ ผู้ร้องพูดเองต่อศาลได้หรือไม่
ข้อ 4 และถ้าแพ้คดีมีเวลานานเท่าใดกว่าศาลจะบังคับคดี

ความเห็นและข้อเสนอแนะ:
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 มาตรา 1299
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา มาตรา 296 ทวิ มาตรา 296 ตรี มาตรา 296 จัตวา

การให้คำปรึกษา
ข้อ 1 การจะบอกผลของคดีนั้นไม่สามารถบอกได้ ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่ต่อสู้กันในชั้นศาล
เมื่อพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่ได้จากผู้ร้อง ถ้าเจ้าของที่ดินคนใหม่เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิใช้สอย จำหน่าย ได้ซึ่งดอกผล ติดตามเอาคืนทรัพย์สินของตน รวมถึงขัดขวางไม่ให้ผู้อื่นเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 เมื่อเจ้าของที่ดินคนใหม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เจ้าของที่ดินย่อมมีสิทธิขับไล่ผู้ร้องและผู้อยู่อาศัยอื่นให้ออกจากที่ดินได้
หรือถ้าผู้ร้องและผู้อาศัยอื่นยกประเด็นการครอบครองปรปักษ์ขึ้นอ้างว่าตนเข้าครอบครองที่ดินโดยสงบ เปิดเผย ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 แต่เมื่อการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์นั้นเป็นการได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมโดยผู้ร้องและผู้อาศัยอื่นยังไม่ได้จดทะเบียน กรรมสิทธิ์นี้จึงไม่สามารถยกขึ้นต่อสู้เจ้าของที่ดินคนใหม่ซึ่งได้ที่ดินมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิแล้ว ตามมาตรา 1299 วรรค 2 ผู้ร้องและผู้อาศัยอื่นยังคงต้องถูกขับไล่ออกจากที่ดินแปลงนี้อยู่ดี
การฟ้องขับไล่นั้นกฎหมายแพ่งไม่ได้กำหนดให้โจทก์ต้องจ่ายค่าชดเชยใดๆในการรื้อถอน แต่ผู้ร้องและผู้อาศัยรายอื่นอาจตกลง เจรจากับเจ้าของที่ดินผู้ฟ้องขับไล่ว่าตนเป็นคนยากจน การรื้อถอนบ้านและการขนย้ายมีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ขอให้มีการชดเชยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้โดยตกลงกันเป็นสัญญาขึ้นต่างหาก หรือผู้ร้องและผู้อาศัยอื่นอาจร้องขอต่อศาลให้ช่วยไกล่เกลี่ยกับผู้ฟ้องขับไล่เพื่อการจ่ายค่ารื้อถอนดังกล่าวก็ได้
ข้อ 2 เรื่องขอใช้บริการทนายความโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้ร้องอาจร้องขอทนายความอาสาที่สภาทนายความหรือหน่วยงานที่ให้ความทางด้านกฎหมายเพื่อดำเนินการเรื่องดังกล่าว
ข้อ 3 ในชั้นศาลผู้ร้องสามารถพูดเองต่อศาลได้ แต่ผู้ร้องอาจจะไม่ทราบกระบวนการพิจารณาในชั้นศาลซึ่งจะมีข้อจำกัดในการดำเนินการและอาจถูกตัดสินให้แพ้คดีทางเทคนิคเพราะการดำเนินในชั้นศาลจะมีกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ต้องใช้ผู้มีความรู้ด้านกฎหมาย จึงแนะนำว่าควรมีทนายความมาช่วยเหลือ
ข้อ 4 การมีทนายความหรือไม่มีทนายความไม่มีผลใดๆต่อเวลาในการปฏิบัติตามคำพิพากษา ซึ่งเมื่อศาลพิพากษาให้ผู้ร้องแพ้คดีแล้ว ผู้ร้องก็ต้องปฏิบัติตามนั้น ถ้าผู้ร้องไม่ยอมปฏิบัติตาม ผู้ขับไล่สามารถยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อเข้าจัดการบังคับให้ออกจากที่ดิน และถ้าผู้ร้องยังไม่ยอมออกไปจากที่ดินอีก เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจรายงานต่อศาลเพื่อขอให้มีคำสั่งจับกุมและกักขังผู้ร้อง และศาลมีอำนาจสั่งจับกุมและกักขังได้ทันที เมื่อผู้ร้องถูกจับกุมและกักขังแล้วเจ้าพนักงานบังคับคดีจะเข้าจัดการเพื่อส่งมอบทรัพย์สินนั้นทั้งหมดให้เจ้าหนี้ได้เข้าครอบครองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ทวิประกอบ มาตรา 296 ตรี และ มาตรา 296 จัตวา

Facebook Comments