Home ทริบเทคนิค/บทความ เทคนิคการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเพื่อฝึกการวินิจฉัยปรับหลักกฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริง

เทคนิคการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเพื่อฝึกการวินิจฉัยปรับหลักกฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริง

11966

 

คำพิพากษาศาลฎีกา คือ ตัวอย่าง การนำหลักกฎหมายที่บัญญัติไว้ มาปรับใช้กับเรื่องราวที่เกิดข้อโต้แย้งขึ้นระหว่างคนในสังคม  ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกา  เป็นเรื่องราวของคนในสังคม ที่เกิดขึ้นจริง และมีการต่อสู้คดีกันในข้อกฎหมายที่ศาล ตั้งแต่ศาลชั้นต้น  ศาลอุทธรณ์ จนถึงศาลฎีกา  ผู้เขียนคำพิพากษา ศาลฎีกา นั้น คือผู้พิพากษา ที่มีประสบการณ์สูง ซึ่งพิจารณาและพิพากษาคดี มาเป็นเวลานาน นอกจากนี้ ก่อนที่คำพิพากษาศาลฎีกา เรื่องหนึ่งจะออกมาได้นั้น ก็ผ่านการตรวจสอบหลายขั้นตอน ดังนั้น คำพิพากษาศาลฎีกา จึงเป็นงานเขียนที่ใช้ถ้อยคำสละสลวย กระชับ ตรงประเด็น ได้ใจความ เหมาะแก่การนำมาศึกษาเพื่อฝึกการนำกฎหมายที่มีอยู่ มาปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้อย่างมีเหตุผล ในที่นี้ กรณีที่ผู้ศึกษาจะเห็นด้วยกับความเห็นของศาลฎีกาหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ต้องวิเคราะห์กันต่อไป แต่ในเบื้องต้น อยากให้ใช้คำพิพากษา ศาลฎีกามาเป็นแบบฝึกการปรับหลักกฎหมายให้เข้ากับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น อย่างมีเหตุมีผล กันก่อน เพื่อเราฝึกแบบนี้จนคล่องแล้ว ค่อยพัฒนา ขึ้นต่อไปว่าเราจะเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกาหรือไม่ สิ่งสำคัญที่สุดในการวินิจฉัยกฎหมาย คือ การใช้เหตุผล ไม่ว่าเราจะให้เหตุผลไปในทางใดต้องมีหลักกฎหมายมาสนับสนุน

ในคำพิพากษาฎีกาเรื่องหนึ่ง นั้น จะมีประเด็นข้อกฎหมาย ตามที่คู่ความโต้แย้งขึ้นมาในชั้นฎีกาเท่านั้น แต่ในข้อเท็จจริงตามฎีกานั้น อาจยังมีข้อกฎหมายอีกหลายข้อ ที่ศาลฎีกาไม่ได้วินิจฉัยเพราะไม่มีใครขอให้วินิจฉัย ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ในการออกข้อสอบ สนามต่างๆ จึงมีการนำเอาคำพิพากษาศาลฎีกาหลายเรื่อง มาผูกเรื่องราว เป็นคำถาม เพื่อทดสอบความรู้ทางกฎหมายของผู้เข้าสอบ

ในการเตรียมตัวสอบ หากเราอ่านคำพิพากษาฎีกาในเชิงรุก คืออ่านและวิเคราะห์ไปด้วยว่า ฎีกาเรื่องนี้ หากนำไปตั้งเป็นข้อสอบ จะโยงกับฎีกาเรื่องอะไรได้อีก  และลอง แยกข้อเท็จจริงในฎีกาออกมา ให้เห็นภาพว่า ในเบื้องต้น คู่ความพิพาทกันเรื่องอะไร ประเด็นข้อกฎหมาย ที่คู่ความโต้แย้งกันคืออะไร ศาลฎีกาให้เหตุผลในคำวินิจฉัย ว่าอย่างไร โดยสรุปแล้ว หลักกฎหมายตามที่ศาลฎีกาวินิจฉัยคืออะไร เคยมีฎีกาใกล้เคียงกับเรื่องดังกล่าวหรือไม่  หลักกฎหมายตามฎีกาที่ว่านี้ จะนำไปโยงกับเรื่องอะไรได้อีกหรือไม่

 

อ่านมาถึงตรงนี้ คงเริ่ม งง กันแล้วใช่มั้ย โดยหลักการเหมือนจะดูดีแต่ แต่ถ้าให้ทำเอง ก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย ใช่ป่ะ  แต่มันก็ไม่ยากเกินความสามารถเราหรอก ในเบื้องต้น เราก็หา หนังสือที่เค้าวิเคราะห์ฎีกา ตามที่กล่าวข้างต้น มาดูก่อน หากเราเอามาดูแล้วท่อง ก็คงมีประโยชน์บ้าง แต่ไม่มาก แต่ถ้าเรา ไปดู และสังเกต ว่า เค้าเอาฎีกาหลายเรื่องมาผูกเป็นคำถามยังไง   เค้าแยกข้อเท็จจริง ออกจากหลักกฎหมาย ยังไง  เอาหลักกฎหมายมาปรับกับข้อเท็จจริงยังไง  เอาฎีกาส่วนไหนมาสรุปเป็นหลักกฎหมาย ไปหา ฎีกาใกล้เคียงกันมารวบรวมไว้ในที่เดี่ยวกันอย่างเป็นระบบยัง ไง  จากนั้น ก็ลองทดลอง ทำด้วยตนเองบ้าง จะทำให้เราคิดเป็น ทำข้อสอบได้ สอบผ่าน

 

มีหนังสือเล่มหนึ่ง อยากจะแนะนำให้เป็นแนวทาง ในการทำโน๊ตย่อด้วยตนเอง คือ“โจทก์จากฎีกา กฎหมาย เนติบัณฑิต แพ่ง: ทรัพย์ ทรัพย์ ที่ดิน” เรียบเรียงโดย ท่าน พิชัย นิลทองคำ และ ท่าน อารีย์ อารยวัฒนกุล ผู้พิพากษา  

ในหนังสือดังกล่าวผู้เขียน นำคำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ มาเรียบเรียงเป็นสี่ส่วน คือ

ส่วนที่ ๑ โจทย์อัศจรรย์  ผู้เขียน นำฎีกามาแต่งเป็นคำถาม เน้นเนื้อหาที่สนุก ทันสมัย

ส่วนที่ 2 ธงอัศจรรย์ เป็นธงคำตอบของคำถามส่วนแรก ถ้อยคำหลักที่ใช้เป็นธงคำตอบทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายคัดลอกมาจากฎีกา โดยอ้างเลขฎีกาไว้เพื่อผู้อ่านไปค้นคว้าต่อ และทำข้อสังเกต ส่วนที่เป็นข้อเท็จจริง และส่วนของเหตุผลและข้อกฎหมายที่ใช้ประกอบคำตอบ หากมีคำสำคัญที่ศาลฎีกาชอบใช้ หรือคำในตัวบท ก็จะขีดเส้นใต้ไว้ให้ผู้อ่านไปฝึกเขียนตอบกันต่อไป

ส่วนที่ 3 เกร็ดอัศจรรย์ ผู้เขียน รวบรวมหลักกฎหมายตามฎีกาและตัวบท จากโจทก์แต่ละข้อ มาสรุปเพื่อง่ายต่อการจดจำ

ส่วนที่ 4 กลอนอัศจรรย์ ผู้เขียนแต่งกลอนที่เหมาะกับเรื่องตามโจทย์โดยสอดแทรกถ้อยคำในตัวบทและหลักกฎหมายตามฎีกาไว้ด้วย

 

นี่คือ เนื้อหาบางส่วน ของหนังสือเล่มนี้ นะ

ส่วนที่ ๑ โจทก์อัศจรรย์ข้อ ๑ นายสิงโต น้ำเงินคราม ทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนขายฝากที่ดินกับนายเรือใบ สี่ฟ้า มีกำหนด ๒ ปี เป็นเงิน ๒ ล้าน บาท วันต่อมา นายสิงโต ทำบันทึกต่อท้ายสัญญาขายฝากว่า นายสิงโต ตกลงโอนขายบ้านไม้ ทรงไทย ในที่ดินที่ขายฝาก จำนวน ๔ หลัง ให้นายเรือใบในราคา ๔ แสนบาท แต่ไม่ได้จดทะเบียนการซื้อขายกับพนักงานเจ้าหน้าที่ หลังทำสัญญาขายฝาก นายสิงโต ขออนุญาตนายเรือใบปลูกสร้างบ้านทรงไทยเพิ่มอีกหนึ่งหลัง เพื่ออยู่อาศัยและขออนุญาตนายเรือใบ อาศัยอยู่ในที่ดินที่ขายฝากไปจนกว่าจะครบกำหนดไถ่ที่ดินคืน หากไม่ไถ่คืนก็ให้บ้านทรงไทยหลังใหม่ตกเป็นแก่นายเรือใบ นายเรือใบ อนุญาต หลังทำสัญญาหนึ่งปี นายสิงโต ถูกนายไก่ เดือยทอง เจ้าหนี้เงินกู้ ฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ ศาลพิพากษาตามยอมให้นายสิงโตชำระหนี้แก่นายไก่ ๕ แสนบาท แต่นายสิงโตผิดนัด นายไก่จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดี ยึดบ้านทรงไทยในที่ดินที่ขายฝากกับนายเรือใบ ทั้ง ๕ หลัง นายเรือใบ จึงร้องคัดค้าน ให้ปล่อยบ้านเรือนไทยทั้ง ๕ หลัง อ้างว่าบ้านเรือนไทยทั้งห้าหลัง เป็นกรรมสิทธิ์ของตน ให้ท่านวินิจฉัยว่า บ้านทรงไทยทั้งห้าหลัง เป็นกรรมสิทธิ์ของนายเรือใบหรือไม่

 

ส่วนที่ ๒ ธงอัศจรรย์ แม้ในการซื้อขายบ้านทรงไทยจำนวน ๔ หลัง ระหว่างนายสิงโตและนายเรือใบจะไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่บ้านทรงไทยทั้ง ๔ หลัง ตั้งอยู่บนที่ดินซึ่งนายสิงโตทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนขายฝากให้นายเรือใบแล้ว กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ขายฝากย่อมตกแก่นายเรือใบตาม ปพพ. มาตรา ๔๙๑ เมื่อบ้านทรงไทยทั้ง ๔ หลัง ตั้งอยู่บนที่ดินที่นายสิงโตขายฝากให้นายเรือใบ ทั้งนายสิงโตยังได้ทำบันทึกข้อตกลงท้ายสัญญาขายฝาก  ตกลงโอนขายบ้านทรงไทยทั้ง ๔ หลัง ให้แก่นายเรือใบด้วย บ้านทรงไทย ทั้ง ๔ หลัง จึงเป็นส่วนควบของที่ดินที่นายสิงโตขายฝากให้นายเรือใบ ตาม ปพพ. มาตรา ๑๔๔ วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ ในส่วนควบ ของทรัพย์นั้น ดังนั้น นายเรือใบ จึงเป็นเจ้าของบ้านเรือนไทยทั้งสี่หลัง ตามหลักส่วนควบของทรัพย์ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๗๓๗/๒๕๕๓ เล่ม ๖ หน้า ๘๔ )

.ในส่วนบ้านทรงไทยอีกหนึ่งหลัง ที่นายสิงโตขออนุญาต นายเรือไบปลูกสร้างในที่ดินที่ขายฝากนั้น ถือว่านายสิงโต สร้างบ้านบนที่ดินที่นายเรือใบเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยได้รับอนุญาตจากนายเรือใบ เป็นกรณีซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธิปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดิน บ้านทรงไทยที่นายสิงโตปลูกสร้างย่อมไม่ใช่ส่วนควบของที่ดินที่นายเรือใบมีกรรมสิทธิ์ ตาม ปพพ. มาตรา ๑๔๖ วรรคแรก กรรมสิทธิ์ในบ้านทรงไทยหลังนี้จึงเป็นของนายสิงโต ไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายเรือใบ ตามหลักส่วนควบแต่อย่างใด (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๑๔/๒๕๕๓)

ส่วนที่ ๓ เกร็ดอัศจรรย์ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่าส่วนควบเช่นเดียวกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังนี้

 

ส่วนควบ (กฎ) น. ส่วนของทรัพย์ซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ ของทรัพย์นั้น และมาอาจ แยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย  ทำให้บบสลายหรือทำให้ทรัพย์นั้น เปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป  

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๘๐๒/๒๕๔๔  บ้านที่ปลูกอยู่ บนที่ดินในลักษณะ ตรึงตราถาวร นับได้ว่าเป็นส่วนซึ่งโดยสภาพ เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ ของทรัพย์นั้น และมิอาจ แยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย  ทำให้บุบสลายหรือทำให้ทรัพย์นั้น เปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป บ้านจึงเป็นส่วนควบของที่ดิน ผู้ซื้อที่ดินย่อมได้กรรมสิทธิ์ ในบ้านซึ่งเป็นส่วนควบนั้นด้วย ตาม ปพพ. มาตรา ๑๔๔

 

-การยกที่ดินให้คนหนึ่ง แต่ยกบ้านในที่ดินให้แก่อีกคนหนึ่งโดยให้รือไป เช่นนี้ไม่ถือว่าบ้านเป็นส่วนควบของที่ดิน (ฎีกา ๕๙๖๒/๒๕๕๑)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๕๙๖๒/๒๕๕๑  ยกให้เฉพาะที่ดินที่ปลูกบ้านที่เกิดเหตุให้แก่ บ. โดยไม่รวมบ้าน และยกบ้านที่เกิดเหตุให้แก่โจทก์เพื่อรื้อถอนไปสร้างใหม่ บ้านที่เกิดเหตุจึงไม่ใช่ส่วนควบของที่ดินและเป็นการยกให้ในลักษณะสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ การยกให้บ้านที่เกิดเหตุ จึงสมบูรณ์โดยหาจำต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม ปพพ. มาตรา ๑๔๖ วรรคหนึ่ง

– แต่การยกที่ดินให้แก่บุคคลหนึ่ง โดยมิได้ระบุถึงบ้านที่ปลูกอยู่ด้วย เช่นนี้ย่อมถือว่าบ้านเป็นส่วนควบของที่ดิน ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ได้รับการยกให้ แม้จะมีชื่อบุคคลอื่นในทะเบียนบ้าน ในฐานะเจ้าบ้านก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๗๒๓/๒๕๕๑   บ้านพิพาทอยู่ในที่ดินที่ ท. จดทะเบียนยกกรรมสิทธิ์ให้ ด. บุตรจำเลยโดยมิได้ระบุว่ายกให้แต่ที่ดินมิได้ยกบ้านพิพาทให้ด้วย ด. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจึงมีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 แม้จำเลยจะมีชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้านพิพาทในฐานะเจ้าบ้านก็มิใช่ผู้มีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทตามกฎหมาย การที่โจทก์ให้จำเลยรื้อถอนบ้านพิพาทส่วนที่รุกล้ำออกไปแต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตาม โจทก์จึงฟ้องจำเลยไม่ได้ เนื่องจากจำเลยมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพิพาท แม้จำเลยจะอยู่ในบ้านพิพาทด้วยก็ถือว่าอยู่ในฐานะบริวารของ ด. จำเลยไม่ได้เป็นผู้โต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย และจำเลยก็ไม่มีอำนาจฟ้องแย้งโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๔๕๗/๒๕๔๘  ว. ซื้อที่ดินพิพาทโดยใส่ชื่อ บ. เป็นเจ้าของ และได้จดจำนองที่ดินดังกล่าวเป็นประกันหนี้ไว้แก่ ธนาคาร  ต่อมา ว. นำที่ดินมาทำการจัดสรร และปลูกสร้างทาวน์เฮ้าส์ จำหน่ายให้แก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ด ย. และจำเลย โดยจำเลยชำระเงินบางส่วนแล้ว ต่อมา ว. ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ไม่สามารถไถ่ถอนจำนองและโอนที่ดินและทาวน์เฮ้าให้แก่ผู้ซื้อได้ จึงตกลงให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดและ ย. เป็นผู้ไถ่ถอน แต่จำเลยปฏิเสธไม่ร่วมซื้อด้วย เมื่อ ไถ่ถอนจำนองแล้ว ว. จึงดำเนินการให้ บ. โอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดและ ย. โดยไม่ได้ระบุว่ารวมทาวน์เฮ้าด้วย ดังนี้ ทาวน์เฮ้าส์ทั้งหมดจึงเป็นส่วนควบของที่ดินตกเป็นกรรมสิทธ์ของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดและ ย. แม้โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ จะไม่มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินในโฉนดที่ดิน แต่เมื่อโจทก์ที่ ๓ เป็นสามี ของโจทก์ที่ ๑๑ และโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ ช่วยออกเงินในการไถ่ถอนจำนอง โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ จึงเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินและทาวน์เฮ้าส์

– เมื่อบ้านเป็นส่วนควบของที่ดิน ดังนั้น ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินจึงได้รับประโยชน์ จากข้อสันนิษฐานตาม ปพพ. ๑๓๗๓   ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินด้วย (ฎีกาที่ ๔๐๘๔/๒๕๔๕)  

– สิ่งปลูกสร้างที่ตรึงตราถาวรกับที่ดินเป็นส่วนควบของที่ดินดังนั้น แม้ในสัญญาจำนอง จะไม่ได้ระบุให้ครอบไปถึงสิ่งปลูกสร้างด้วย ผู้รับจำนองก็ยึดเอา สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่จำนองซึ่งปลูกไว้ก่อนวันทำสัญญาออกขายทอดตลาดรวมกับที่ดินได้( ฎีกาที่ ๓๗๓๘/๒๕๕๑)

– ทำสัญญาจะซื้อจะขาย ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธ์ ในระหว่างนั้นผู้จะซื้อปรับปรุงเพิ่มเติมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนที่ปรับปรุงเพิ่มเติมถือเป็นส่วนควบของที่ดิน ( ฎีกาที่ ๓๔๔๗/๒๕๕๐)

-ไม้ยืนต้น เป็นส่วนควบกับที่ดินนที่ต้นไม้นั้นขึ้นอยู่ ซึ่งต้องพิจาณาถึง เจตนาการปลูก และลักษณะต้นไม้ที่ปลูก ( ฎีกาที่ ๗๓๔๐/๒๕๕๒)

– ตู้โทรศัพท์สาธารณะของบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ฐานไม่ได้ยึดติดกับทางสาธารณะหรือพื้นดิน ยกเคลื่อนที่ได้ไม่ยาก จึงไม่ใช่ส่วนควบของที่ดิน ( ฎีกาที่ ๒๒๘๖/๒๕๕๑)

-โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง อย่างอื่น ซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธิ์นั้น ปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้น ไม่ถือว่าเป็นส่วนควบ ตาม ปพพ. ๑๔๖ เช่นปลูกโรงเรือนบนที่ดินที่เช่ามา ( ฎีกาที่ ๘๘๒/๒๕๔๔)( ฎีกาที่ ๘๘๓/๒๕๔๔) ( ฎีกาที่ ๕๖๙๒/๒๕๔๖) 

แม้สิ่งปลูกสร้างที่ผู้เช่าปลูกลงที่ดินที่เช่าจะไม่เป็นส่วนควบ แต่ถ้าต่อมาครบกำหนดสัญญาเช่า ผู้เช่าไม่ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปและยินยอมให้สิ่งปลูกสร้างตดเป็นของเจ้าของที่ดิน สิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ย่อมตกเป็นส่วนควบของที่ดิน ( ฎีกาที่ ๔๒๖๐/๒๕๕๐)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4260/2550  เดิมที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ ท. ต่อมาผู้จัดการมรดกของ ท. ได้ทำสัญญาให้ ธ. เช่าที่ดินมีกำหนด 20 ปี การที่ ธ. ปลูกสร้างตึกแถวลงบนที่ดิน จึงไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 โจทก์ซื้อที่ดินมาจากผู้จัดการมรดกของ ท. ระหว่างอายุสัญญาเช่า โจทก์จึงไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกแถว แต่เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าที่ดิน ธ. ย่อมหมดสิทธิในที่ดินต้องรื้อถอนตึกแถวออกไป เว้นแต่ ธ. ยินยอมให้ตึกแถวตกเป็นของโจทก์ ตึกแถวย่อมกลายเป็นส่วนควบของที่ดินและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามมาตรา 144 วรรคสอง

การสร้างบ้านลงบนที่ดินของผู้อื่นโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดิน บ้านนั้นไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน แม้บ้านที่สร้างขึ้นจะใช้บันไดทางขึ้นเดียวกันกับบ้านเจ้าของที่ดิน – การที่เจ้าของที่ดินอนุญาตให้ปลูกบ้านในที่ดิน นอกจากบ้านไม่เป็นส่วนควบของที่ดินแล้ว ยังก่อทอว่าก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่ผู้สร้าง ตาม ปพพ. ๑๔๑๐ ด้วย ( ฎีกาที่ ๒๕๗๗/๒๕๕๑)

-แต่การปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินของบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต บ้านตกเป็นส่วนควบของที่ดิน และถือว่าเป็นการปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริต ตาม ปพพ. มาตรา ๑๓๑๑ ( ฎีกาที่ ๓๓๙/๒๕๕๑)

-กรณีบ้านเป็นส่วนควบของที่ดิน หากที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ประธาน ถูกห้ามโอนตามกฎหมาย บ้านซึ่งเป็นส่วนควบก็ถูกห้ามโอนด้วย ( ฎีกาที่ ๖๑๙๔/๒๕๕๐)

 

ส่วนที่ 4 กลอน อัศจรรย์

 

ส่วนซึ่งโดย สภาพ แห่งทรัพย์นี้

หรือจารีต ประเพณี ท้องถิ่นนั้น

ถือว่าเป็น สิ่งสาระสำคัญ

ให้ทรัพย์นั้น เป็นอยู่ ได้ต่อไป

ไม่อาจจะ แยกออก จากกันได้

นอกจากจะ ทำลายให้ บุบสลาย

ทำให้เปลี่ยน รูปทรง สภาพไป

อย่างนี้ไซร้ คือส่วนควบ ควรจดจำ (มาตรา ๑๔๔)

เจ้าของทรัพย์ ย่อมมีสิทธิ์ในส่วนควบ (มาตรา ๑๔๔ วรรคสอง)

อยู่จนจวบ ทรัพย์นั้น สลาย

ไม้ยืนต้น หรือโรงเรือน ปลูกสร้างไว้

ถือว่าได้ เป็นส่วนควบ กับที่ดิน (มาตรา ๑๔๕ วรรคแรก)

ไม้ล้มลุก หรือว่า ธัญชาติ

อันจะอาจ เก็บรวงผล ได้ต่อปี

ไม่ถือเป็น ส่วนควบ กับดินนี้ (มาตรา ๑๔๕ วรรคสอง)

ทรัพย์ติดที่ ดินชั่วคราว ก็เช่นกัน

รวมถึงเรือน ผู้มีสิทธิ ได้สร้างไว้

ปลูกอยู่ใน ที่ดิน ของผู้อื่น

เจ้าของเขา อนุญาตแล้ว จึงสร้างขึ้น

ไม่กลับคืนเป็นส่วนควบของที่ดิน (มาตรา ๑๔๖)

เครดิต   https://www.facebook.com/pages/ธรรมมะกับกฎหมาย

Facebook Comments