Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ ความรู้เกี่ยวกับ ความผิดฐานพรากผู้เยาว์

ความรู้เกี่ยวกับ ความผิดฐานพรากผู้เยาว์

9722

 

“พราก/ไม่พราก ดูตรงไหน”

ความผิดฐานพรากฯ ตามมาตรา ๓๑๗, ๓๑๘ และ ๓๑๙ ศาลฎีกาให้ความหมายของคำว่า “พราก” หมายถึง พาไปหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแล (ฎีกาที่ ๔๒๘๗/๒๕๔๘)

การพาไป ก็คือ การพาจากที่แห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่ง เช่น ชักชวนเด็กไปกับตน ถือเป็นการพราก แม้เด็กจะเต็มใจไปด้วยก็ตาม (ฎีกาที่ ๔๒๘๗/๒๕๔๘) เด็กหลบหนีออกจากบ้านไปกับจำเลย เป็นการพราก (ฎีกาที่ ๕๔๔/๒๕๔๓) ดึงผู้เสียหายเข้าไปในห้องพักแล้วกระทำชำเรา เป็นการพราก (ฎีกาที่ ๙๗๒๕/๒๕๕๒)

แต่ถ้าจำเลยไม่ได้พาไป (จากแห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่ง) ไม่เป็นการพราก เช่น เด็กอยู่ในห้องน้ำ จำเลยฉวยโอกาสเข้าไปกระทำชำเราเด็ก ไม่เป็นการพาไป (ไม่เป็นพราก) ดูฎีกาที่ ๗๖๗๓/๒๕๕๑ และฎีกาที่ ๙๗๒๕/๒๕๕๒

ฎีกาที่ ๗๖๗๓/๒๕๕๑ วินิจฉัยว่า จำเลยนั่งดื่มสุรากับเพื่อนที่บ้าน ว. ผู้เสียหายที่ ๑ ไปที่บ้าน ว. และไปเข้าห้องน้ำ โดยจำเลยไม่ได้นัดแนะหรือบอกให้ผู้เสียหายที่ ๑ ทำเช่นนั้น จำเลยเพียงฉวยโอกาสตามเข้าไปขอกระทำชำเราโดยผู้เสียหายที่ ๑ ยินยอม

จำเลยเข้าไปกระทำชำเราในห้องน้ำขณะผู้เสียหายทำกิจธุระ ไม่เป็นการพราก
และฎีกาที่ ๙๗๒๕/๒๕๕๒ วินิจฉัยว่า การที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ ๑ ในห้องน้ำของโรงเรียนที่เกิดเหตุระหว่างที่ผู้เสียหายที่ ๒ มีกิจธุระจึงให้ผู้เสียหายที่ ๑ ไปอยู่กับจำเลยนั้น จำเลยไม่ได้กระทำการใดอันจะเป็นการพรากผู้เสียหายที่ ๑ ไปจากอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ ๒ คงมีเจตนาที่จะกระทำชำเราผู้เสียหายที่ ๑ เพียงอย่างเดียว การกระทำของจำเลยในครั้งนี้จึงไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เสียหายที่ ๑ ไปเพื่อการอนาจาร

ข้อสังเกต ฎีกาที่ ๗๖๗๓/๒๕๕๑ และฎีกาที่ ๙๗๒๕/๒๕๕๒ จะเห็นได้ว่า จำเลยฉวยโอกาสขณะเด็กอยู่ในห้องน้ำ จำเลยไม่ได้พาเด็กจากที่แห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่ง จึงไม่เป็นการพราก
แต่พาจากจุดที่ซื้อขนมไปกระทำชำเราในห้องนอน เป็นการพราก
ฎีกาที่ ๕๔๘๔/๒๕๕๕ แม้ผู้เสียหายจะไปที่บ้านจำเลยเพื่อซื้อขนมและมาเล่นเอง การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปกระทำอนาจารในห้องนอนซึ่งอยู่ชั้นล่าง ถือเป็นการพรากเด็กไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจารแล้วตาม ป.อ. มาตรา ๓๑๗ วรรคสาม

ข้อสังเกต ฎีกานี้จำเลยพาเด็กจากจุดที่เด็กซื้อขนมเข้าไปในห้องนอน ถือเป็นการพาไปแล้ว (เพราะจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง) เว้นแต่จะอาศัยโอกาสกระทำชำเราตรงจุดที่ซื้อขนมเลย ก็ไม่เป็นการพาไป

อย่างไรก็ตาม การพาไปที่จะเป็นพราก จะต้องมีลักษณะของการ “ไปด้วยกัน” ไม่ใช่พูดชักชวนให้มา (เป็นการชวนมา ไม่เป็นการพาไป) ดูฎีกาที่ ๑๑๑๙๖/๒๕๕๕

ฎีกาที่ ๑๑๑๙๖/๒๕๕๕ ศาลวินิจฉัยว่า จำเลยพูดชักชวนผู้เสียหายที่ ๑ จนผู้เสียหายที่ ๑ ใจอ่อนยอมมาหาจำเลยเองโดยจำเลยไม่ได้ไปรับหรือพาผู้เสียหายที่ ๑ ออกมาจากบ้าน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กตาม ป.อ. มาตรา ๓๑๗

หมายเหตุ
ฎีกานี้ศาลฎีกาให้เหตุผลว่า “การพรากเป็นคนละอย่างกับการพูดชักชวนและการพรากมีความหมายคนละอย่างกับการพูดและไม่ใช่การพูด หากจำเลยพูดแต่ไม่ได้พราก ย่อมไม่เป็นการพรากเพราะการพรากจะต้องมีการกระทำยิ่งกว่าคำพูด”

 

เครดิต หลักและคำพิพากษากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

Facebook Comments