Home ทริบเทคนิค/บทความ จงใจละทิ้งร้าง ถือเป็นการ กระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากัน หรือไม่

จงใจละทิ้งร้าง ถือเป็นการ กระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากัน หรือไม่

5948

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 257/2545

สามีภริยาอยู่บ้านเดียวกันแต่ก็มีลักษณะแบบต่างคนต่างอยู่ อันมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกโดยมิใช่เกิดจากไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติทั่วไป – การที่สามีไปกรุงเทพมหานครเพื่อทำการค้าขายจึงเป็นเพียงเพื่อไปทำมาหากินเท่านั้นถือไม่ได้ว่าสามีจงใจละทิ้งร้างหรือกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากัน

 

การที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 วรรคหนึ่งบัญญัติให้สามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา เป็นเพียงการกำหนดขอบเขตของความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในลักษณะที่ยืดหยุ่น ทั้งนี้เป็นเรื่องที่ศาลต้องคำนึงถึงสภาพการณ์ต่าง ๆ ทางด้านสังคม การงานฐานะทางเศรษฐกิจ สภาพร่างกายและจิตใจของสามีภริยา ฯลฯ มาเป็นสิ่งประกอบการพิจารณา จึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่าสภาพของการอยู่กินฉันสามีภริยาของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งจะต้องมีลักษณะเป็นเช่นเดียวกันกับครอบครัวอื่น

สาระสำคัญของบทบัญญัติในข้อนี้ จึงมีพื้นฐานอยู่ที่ความซื่อสัตย์ระหว่างกัน และการอยู่ร่วมกันโดยปกติสุข แต่หาใช่จำต้องสงบสุขตลอดเวลาไม่ เพราะอาจมีเหตุแทรกแซงทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง ก็ไม่เพียงพอให้ถือเป็นเหตุหย่า (คำพิพากษาฎีกาที่ 677/2506)ทางเลี่ยงจึงอาจมีการทำทัณฑ์บนเกี่ยวกับความประพฤติระหว่างกันก็ได้(มาตรา 1516(8))

ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยอยู่บ้านเดียวกัน แต่มีลักษณะต่างคนต่างอยู่ เพราะมีเรื่องบาดหมางกันเกี่ยวกับมารดาของโจทก์นำที่ดินและบ้านของโจทก์ไปโอนขายแก่บุคคลอื่นโดยจำเลยลงชื่อเป็นพยานในหลักฐานดังกล่าว ทั้งจำเลยก็มิได้ให้ความกระจ่างในเรื่องนี้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์เข้าใจว่าจำเลยร่วมมือกับมารดาโจทก์ฉ้อโกงโจทก์ มูลเหตุดังกล่าวมิใช่เรื่องของความไม่ซื่อสัตย์ในฐานะที่จำเลยเป็นสามีของโจทก์ หากแต่มีเหตุแทรกแซงจากภายนอกเกิดขึ้นในครอบครัวเท่านั้น ศาลฎีกาจึงเห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่โจทก์และจำเลยไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติทั่วไป นอกจากนี้การที่โจทก์และจำเลยมีสภาพต่างคนต่างอยู่ก็เกิดขึ้นจากความสมัครใจอันอาจเป็นลักษณะที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว เพราะหากประสงค์ให้เกิดขึ้นอย่างถาวรก็น่าจะมีการตกลงแยกกันอยู่โดยเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติ ซึ่งจะเป็นเหตุหย่าต่อไปได้ตามมาตรา 1516(4/2) แต่แม้จะไม่มีข้อตกลงโดยแน่ชัดตามพฤติการณ์ที่แยกกันอยู่โดยความสมัครใจทั้งสองฝ่ายก็ต้องพิจารณาว่าเป็นเพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขหรือไม่ และเป็นเวลาเกินสามปีหรือไม่ด้วย (คำพิพากษาฎีกาที่ 1771/2540)แต่ในคดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องหย่าด้วยเหตุดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ต่อมาจำเลยพาบุตรคนโตไปประกอบการค้าที่กรุงเทพมหานคร อันเป็นการแยกกันอยู่กับโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นเรื่องแยกไปทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว กรณีนี้จึงเห็นได้ว่าการแยกกันอยู่เกิดจากสภาพภายนอกบังคับและมีเหตุอันสมควรมิใช่จำเลยมีเจตนา “จงใจ” ทิ้งร้าง คือมีเจตนาไม่ให้มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากันต่อไป ซึ่งมีแนวคำพิพากษาฎีกาหลายฉบับวินิจฉัยว่าไม่เป็นเหตุหย่า (ดูคำพิพากษาฎีกาที่ 780/2502,1830/2522,2143/2522,2922/2526,7229/2537) นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าจำเลยได้ช่วยอุปการะเลี้ยงดูบุตรคนเล็กที่อยู่กับโจทก์โดยส่งเงินมาให้ตลอดเวลา กรณีเช่นนี้ศาลฎีกาอาจเห็นว่าเป็นการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ในทางอ้อมจึงมิใช่การไม่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามมาตรา 1461 วรรคสองอันจะถือเป็นเหตุหย่าตามมาตรา 1516(6)

ชาติชาย อัครวิบูลย์

 

นายเกรียงศักดิ์    นวลศรี    

น.บ   น.บ.ท   วิชาชีพว่าความ    ที่ปรึกษากฎหมาย    และผู้เขียนบทความในเว็บตั่วทนาย.com

Facebook Comments