Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ หลอกขายโทรศัพท์มือสองว่าเป็นเครื่องใหม่ มีสิทธิขอเงินคืนหรือไม่

หลอกขายโทรศัพท์มือสองว่าเป็นเครื่องใหม่ มีสิทธิขอเงินคืนหรือไม่

7244
ข้อเท็จจริงและประเด็นคำถาม:

ข้อเท็จจริง
ผู้ร้องซื้อโทรศัพท์มือถือยี่ห้อแอ็ปเปิ้ล รุ่นไอโฟน 4s สีขาว (iphone 4s) ระยะเวลายังไม่ครบ 10 เดือน (ปัจจุบันคือเดือนธันวาคม 2557) จากร้านค้าที่ฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต โดยวิธีการผ่อนชำระผ่านบัตรเครดิต ในขณะเปิดใช้เครื่องผู้ร้องพบว่ารูปไอคอนแอ็ปเปิ้ลแสดงเป็นสีดำ ซึ่งเพื่อนของผู้ร้องแจ้งแก่ผู้ร้องว่าสีตัวเครื่องโทรศัพท์และรูปไอคอนแอ็ปเปิ้ลจะต้องเป็นสีเดียวกัน นอกจากนั้นผู้ร้องได้ตรวจสอบจากหมายเลขตัวเครื่องโทรศัพท์ พบว่าหมายเลขตัวเครื่องโทรศัพท์ดังกล่าวมีการซื้อขายมาแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 ผู้ร้องสอบถามจากทางร้านซึ่งได้ดำเนินการลงทะเบียน iCloud ให้แก่ผู้ร้อง แต่ทางร้านค้าปฎิเสธว่าไม่มีข้อมูลสำรองสำหรับลูกค้า ผู้ร้องคิดว่าตนถูกร้านค้าหลอกขายโทรศัพท์มือสองให้แก่ตน

ประเด็นคำถาม
ผู้ร้องควรดำเนินการอย่างไรได้บ้าง

ความเห็นและข้อเสนอแนะ:

ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 159,175 ,176

การดำเนินการให้คำปรึกษา
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นพบว่า ผู้ร้องได้ปรึกษาประเด็นปัญหาที่ร้านขายโทรศัพท์มือถือได้นำเครื่องมือสองมาขายให้แก่ผู้ร้อง แล้วมาอ้างต่อผู้ร้องว่าเป็นเครื่องใหม่ ซึ่งหากในทางข้อเท็จจริงปรากฏว่า หากผู้ร้องทราบในตอนต้นว่าโทรศัพท์มือถือนั้นเป็นเครื่องมือสองที่ผ่านการใช้งานแล้ว ผู้ร้องอาจไม่ซื้อโทรศัพท์มือถือ iphone4s เครื่องดังกล่าวอย่างแน่แท้  การทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมอันเกิดจากการกลฉ้อฉลของผู้ขาย นิติกรรมการซื้อขายเช่นว่านั้นจึงตกเป็นโมฆียะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 159
ผู้ร้องในฐานะผู้ซื้อที่ถูกกลฉ้อฉลมีอำนาจบอกล้างโมฆียกรรมเช่นว่านี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 175(3) ด้วยวิธีการนำมือถือไปคืนร้านขายโทรศัพท์และแจ้งขอรับเงินคืนได้ เพราะนิติกรรมดังกล่าว เมื่อมีการบอกล้างแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 176 บัญญัติให้ถือว่าเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก และให้คู่กรณีกลับคืนสู่สถานะเดิม ร้านขายโทรศัพท์จะอ้างเหตุข้อสัญญาอื่นใดมาปฏิเสธสิทธิการบอกล้างไม่ได้เพราะนิติกรรมการซื้อขายเกิดจากการที่ร้านค้าขายสินค้ามือสองที่ผ่านการใช้งานแล้ว แต่ฉ้อฉลว่าเป็นของใหม่
หรืออีกวิธีหนึ่ง ก็อาจตกลงกันใหม่ให้ทางร้านขายโทรศัพท์มือถือเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความยินยอมของคู่กรณีเป็นสำคัญ ซึ่งด้วยวิธีนี้ หากร้านค้าไม่ยินยอมก็ไม่อาจบังคับได้ แต่ผู้ร้องก็ยังคงมีสิทธิขอเงินคืนตามกฎหมายข้อกฎหมายข้างต้น

มีปัญหาปรึกษาทนายกฤษดา 0999170039

 

ขอบคุณ ศูนย์นิติศาสตร์

Facebook Comments