Home คดีแพ่ง การขอเฉลี่ยทรัพย์ตาม มีหลักการพิจารณาที่สำคัญอย่างไรบ้าง

การขอเฉลี่ยทรัพย์ตาม มีหลักการพิจารณาที่สำคัญอย่างไรบ้าง

24226

การขอเฉลี่ยทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 มีหลักการพิจารณาที่สำคัญอย่างไรบ้าง

 

กรณีมีคำพิพากษาฎีกาที่เป็นหลักการพิจารณาได้ ดังคำพิพากษษฎีกาที่ 8191/2557
ป.วิ.พ. มาตรา 290 ขอเฉลี่ยทรัพย์
กรณีเจ้าหนี้ร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า ไม่ว่ากรณีใดๆ ห้ามมิให้ศาลอนุญาตตามคำขอเช่นว่านี้ เว้นแต่ศาลเห็นว่า ผู้ยื่นคำขอไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่นๆ ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งมีความหมายว่า ในการขอเฉลี่ยทรัพย์นั้นหากผู้ร้องนำสืบได้ว่าขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่พอชำระหนี้ของผู้ร้องได้โดยสิ้นเชิงก็ย่อมเพียงพอผู้ร้องจะขอเฉลี่ยทรัพย์ได้แล้ว แม้ผู้ร้องมีนาย ป. มาเป็นพยานเบิกความเพียงปากเดียว แต่พยานปากนี้เป็นผู้ดำเนินการเร่งรัดหนี้ภาษีอากรค้างของจำเลยมาโดยตลอดและได้เบิกความถึงการตรวจสอบไปยังสำนักงานที่ดินแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ส่วนสิทธิเรียกร้องในเงินฝากธนาคารของจำเลย ผู้ร้องก็ได้ทำการอายักมาชำระหนี้ภาษีอากรค้างได้เพียง 8,374.32 บาทเท่านั้น ไม่พอชำระหนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระผู้ร้องเป็นเงินถึง 2,715,804.95 บาท โดยสิ้นเชิง เมื่อขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์คดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยยังมีทรัพย์สินอย่างอื่นที่ผู้ร้องสามารถนำมาชำระหนี้ค้างชำระได้อีก ถือได้ว่าขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์คดีนี้ผู้ร้องไม่สามารถเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอเฉลี่ยในทรัพย์สินที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดและอายัดในคดีนี้ได้

 

ศาลฎีกาวางหลักประเด็นการขอเฉลี่ยทรัพย์ที่สำคัญและน่าสนใจไว้ดังนี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 1706/2547
ป.วิ.พ. มาตรา 290
ป.วิ.พ. มาตรา 290 เป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ว่าจะเป็นโจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นเพื่อให้ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยเท่าเทียมกัน ดังนั้น ข้ออ้างที่จะโต้แย้งคัดค้านคำขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้อื่นว่าจำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์สินอื่นนอกจากทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดไว้ในคดีนี้ที่เพียงพอจะชำระหนี้ได้ จึงเป็นข้อโต้แย้งระหว่างเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาด้วยกัน เมื่อจำเลยที่ 3 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาฎีกาที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อโจทก์ ทั้งยังปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการของจำเลยที่ 1 อีกด้วย จำเลยที่ 3 จึงไม่มีสิทธิคัดค้านการขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่น

คำพิพากษาฎีกาที่ 1161/2515
ป.วิ.พ. มาตรา 290
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคสาม บัญญัติว่า ‘ในกรณีที่ยึดทรัพย์สินเพื่อขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น คำขอเช่นว่านี้ให้ยื่นก่อนสิ้นระยะเวลา 14 วันนับแต่วันขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้น’ การที่ผู้ร้องยื่นคำขอเฉลี่ยก่อนวันขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไม่มีอะไรห้ามไม่ให้ยื่นเพราะกฎหมายบัญญัติไว้แต่เพียงว่าอย่าให้ช้ากว่า 14 วันนับแต่วันขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินเท่านั้น
การขอเฉลี่ยทรัพย์นั้น เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นจะเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินไม่ได้ ก็แต่ในกรณีที่ยังมีทรัพย์สินอื่น ๆ ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ และเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นยังสามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่น ๆ นั้น
คำว่า สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่นๆ ของลูกหนี้ได้นั้น หมายความว่าสามารถเอาชำระได้โดยสิ้นเชิง การได้รับชำระหนี้แต่เพียงบางส่วน หาเป็นการสามารถเอาชำระหนี้ตามความหมายของมาตรา 290 วรรคสอง ไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 2252/2536
ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคสอง
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคสองที่ห้ามมิให้ศาลอนุญาตตามคำขอเฉลี่ยทรัพย์ เว้นแต่ศาลเห็นว่าผู้ยื่นคำขอไม่สามารถเอาชำระหนี้ได้จากทรัพย์สินอื่น ๆ ของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น คำว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาในที่นี้หมายความถึงลูกหนี้ตามคำพิพากษาผู้ถูกยึดทรัพย์อยู่ในคดีที่มีการขอเฉลี่ยทรัพย์ถ้าไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก ผู้ขอก็ขอเฉลี่ยจากเงินที่ขายทรัพย์ได้หาได้หมายความถึงลูกหนี้ตามคำพิพากษาคนอื่นในคดีที่ผู้ขอเฉลี่ยชนะคดีหรือบุคคลอื่นไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 1886/2538
ป.วิ.พ. มาตรา 290
ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่2อ้างในคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ว่าผู้ร้องไม่มีทางบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่2ได้จำเลยที่2ไม่โต้เถียงในคำคัดค้านว่าตนมีทรัพย์สินอื่นที่ผู้ร้องอาจบังคับชำระได้ฟังได้ว่าจำเลยที่2ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่ผู้ร้องอาจยึดมาชำระหนี้ได้โดยสิ้นเชิงผู้ร้องจึงขอเฉลี่ยในทรัพย์ที่ถูกยึดได้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา290วรรคสองห้ามศาลอนุญาตให้เข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาฎีกาที่ถูกยึดทรัพย์หากยังสามารถเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้นั้นมิได้หมายถึงลูกหนี้อื่นแม้จะเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาร่วมกับจำเลยที่ถูกยึดทรัพย์ก็ตาม

คำพิพากษาฎีกาที่ 1623/2537
ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง, 290 วรรคสอง
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ศาลจะอนุญาตให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นผู้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เข้าเฉลี่ยทรัพย์ได้ก็ต่อเมื่อศาลเห็นว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นนั้นไม่สามารถเอาชำระหนี้ได้โดยสิ้นเชิงจากทรัพย์สินอื่น ๆ ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ในขณะยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ เมื่อปรากฏว่าในขณะที่ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษายังมีทรัพย์สินอย่างอื่นอยู่อีกถึง 40 ล้านบาทเศษ แม้ต่อมาภายหลังจากผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และจำเลยได้ส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไปหมดแล้วก็ตาม กรณียังถือไม่ได้ว่าในขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์นั้น ผู้ร้องไม่สามารถเอาชำระหนี้ได้โดยสิ้นเชิงจากทรัพย์สินอื่น ๆ ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคสอง

คำพิพากษาฎีกาที่ 1221/2510
ป.วิ.พ. มาตรา 290
เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นย่อมมีสิทธิร้องขอเฉลี่ยในคดีที่โจทก์ได้ยึดทรัพย์ของจำเลยขายทอดตลาดไว้ได้ ในเมื่อปรากฏว่าจำเลยยังมีทรัพย์อื่น แต่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่อาจยึดทรัพย์นั้นได้ตามกฎหมาย หรือจำเลยมีทรัพย์เป็นจำนวนไม่พอชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้โดยสิ้นเชิง

นายเกรียงศักดิ์   นวลศรี

น.บ   น.บ.ท   วิชาชีพว่าความ   ที่ปรึกษากฎหมาย  

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี lawyers.in.th

 

Facebook Comments