Home คดีแพ่ง เครื่องหมายการค้า ครอบครองปรปักษ์ได้หรือไม่

เครื่องหมายการค้า ครอบครองปรปักษ์ได้หรือไม่

6892

คำถาม

เครื่องหมายการค้า ครอบครองปรปักษ์ได้หรือไม่

คำตอบ เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 677/2532

เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้ง 3 แบบ ปรากฎอยู่ที่กระป๋องบรรจุขนมปังกรอบกับที่กล่องบรรจุขนมปังกรอบของโจทก์ เมื่อนำกล่องบรรจุขนมปังกรอบของจำเลยมาเปรียบเทียบกับกล่องบรรจุขนมปังกรอบของโจทก์กับนำกระป๋องบรรจุขนมปังกรอบของจำเลยมาเปรียบเทียบกับกระป๋องบรรจุขนมปังกรอบของโจทก์ จะเห็นได้ว่ากล่องและกระป๋องดังกล่าวของจำเลยมีขนาดเท่ากับกล่องและกระป๋องดังกล่าวของโจทก์ทั้ง 6 ด้าน รูปร่างลักษณะของกล่องและกระป๋องตลอดจนฝาก็เหมือนกัน สีและภาพต่าง ๆ ในตำแหน่ง เดียวกันก็เหมือนกัน ขนาดของภาพและตัวอักษรที่อยู่ในตำแหน่ง เดียวกันก็เท่ากันนอกจากนี้ยังมีตัวอักษรที่เหมือนกันคือคำว่า”CREAMCRACKERS” และคำว่า “EXTRALIGHT” ด้วย ส่วนตัวอักษรที่ต่างกันก็คือ ของโจทก์ใช้ คำว่า “JACOB&COS” ส่วนของจำเลยใช้คำว่า “CHITCHATCO.,LTD.” ของโจทก์ใช้ คำว่า “JACOB’S”ของจำเลยใช้ คำว่า “DRAGONBRAND” สำหรับผู้ที่อ่านอักษรโรมันไม่ได้ หากได้ เห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยในขณะเดียวกันก็ไม่อาจกล่าวได้ว่ามีอะไรแตกต่างกันบ้าง แม้ผู้ที่อ่านอักษรโรมันได้ หากไม่พิจารณาให้รอบคอบหรือได้เห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยต่าง เวลากันก็น่าจะไม่สามารถสังเกตเห็นข้อแตกต่างของเครื่องหมายการค้าได้ เลยเครื่องหมายการค้าที่ปรากฏที่กล่องขนมปังกรอบและกระป๋องขนมปังกรอบของจำเลยจึงมีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เริ่มมีการจดทะเบียนในประเทศไทยไว้ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2474 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จำเลยจะเริ่มดำเนินกิจการ จึงเห็นได้ว่าการที่จำเลยผลิตสินค้าโดย ใช้ เครื่องหมายการค้าเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวเป็นการลวงขายสินค้าของจำเลยว่าเป็นสินค้าของโจทก์ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลสั่งห้ามจำเลยใช้ เครื่องหมายการค้าดังกล่าว และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้

เครื่องหมายการค้าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่งมิใช่อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่สามารถได้ กรรมสิทธิ์มาโดย การครอบครองปรปักษ์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382.

สรุปเครื่องหมายการค้า เป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่งมิใช่อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่สามารถได้ กรรมสิทธิ์มาโดย การครอบครองปรปักษ์ 

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

0891427773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments