Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ กรณี ” การปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเ้าไปในที่ดินของผู้อื่น ตาม ป.พ.พ มาตรา 1312 ...

กรณี ” การปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเ้าไปในที่ดินของผู้อื่น ตาม ป.พ.พ มาตรา 1312 ผู้ที่ได้รับความคุ้มครองคือใคร และคำว่า ” รุกล้ำโดยสุจริตหมายความว่าอย่างไร ” ?

22218

15-03-2012001

 

 

กรณี ” การปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเ้าไปในที่ดินของผู้อื่น ตาม ป.พ.พ มาตรา 1312 ผู้ที่ได้รับความคุ้มครองคือใคร และคำว่า ” รุกล้ำโดยสุจริตหมายความว่าอย่างไร ” ?

 

” การปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเ้าไปในที่ดินของผู้อื่น ตาม ป.พ.พ มาตรา 1312 ผู้ที่ได้รับความคุ้มครองคือใคร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3680/2528

บุคคลที่สร้างโรงเรือนรุกล้ำโดยสุจริตที่จะได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 จะต้องเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นและส่วนที่รุกล้ำนั้นจะต้องเป็นส่วนน้อย ส่วนที่อยู่ในที่ดินที่ตนมีสิทธิสร้างต้องเป็นส่วนใหญ่ มิฉะนั้นจะเรียกว่าสร้างโรงเรือนรุกล้ำไม่ได้ ตามฟ้องอ้างว่าโจทก์ปลูกสร้างโรงเรือนของผู้อื่นรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยที่ 1 และบรรยายฟ้องต่อไปว่าโรงเรือนส่วนที่รุกล้ำนั้นเนื้อที่ประมาณ 12 ตารางวา ประมาณครึ่งหนึ่งของโรงเรือนแสดงว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของโรงเรือนที่สร้างรุกล้ำ ทั้งส่วนที่รุกล้ำนั้นมิใช่ส่วนน้อยอันจะเรียกว่ารุกล้ำตามมาตรา 1312 ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1312

 

________________________________

 

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ได้สร้างโรงเรือนของบุคคลอื่นโดยสุจริตลงบนที่ดินของนายจ่าง ขำศรี โดยสิทธิการเช่าจากนายจ่าง ขำศรี แต่บางส่วนของโรงเรือนนี้เนื้อที่ประมาณ 12 ตารางวาประมาณครึ่งหนึ่งของโรงเรือนได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยผู้มีหน้าที่ปกครองดูแลที่ราชพัสดุ โจทก์ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิการเช่าหรือภารจำยอมในส่วนที่โจทก์ปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยมีกำหนด 30 ปี

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่ใช่เจ้าของโรงเรือนที่ปลูกสร้างลงในที่ดินของนายจ่าง ขำศรี ทั้งโจทก์มิได้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ และการก่อสร้างโจทก์ก็ทำการโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง

กระทรวงการคลังร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ให้การและฟ้องแย้งว่าผู้ร้องสอดเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินราชพัสดุตามฟ้อง จำเลยเป็นเพียงผู้รับมอบหมายให้ดูแลบำรุงรักษา ใช้และจัดหาผลประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุ โจทก์ได้ปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินของนางลำยงค์ ขำศรี รุกล้ำเข้าไปในที่ราชพัสดุของผู้ร้องสอดเนื้อที่15 ตารางวาโดยไม่สุจริตและไม่มีสิทธิใด ๆ ผู้ร้องสอดให้จำเลยแจ้งให้โจทก์รื้อถอนโรงเรือนจากที่ดินของผู้ร้องสอดภายใน 15 วัน แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามทำให้ผู้ร้องสอดเสียหายเดือนละ 90 บาท ขอให้ศาลบังคับโจทก์รื้อถอนโรงเรือนส่วนที่ปลูกสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ราชพัสดุของผู้ร้องสอดออกไปทั้งหมดและให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 90 บาท

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าจำเลยได้รับมอบให้มีอำนาจและหน้าที่เป็นคู่ความในคดีนี้แล้ว ผู้ร้องสอดจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาเป็นจำเลยร่วม หรือคู่ความฝ่ายที่สาม ผู้ร้องสอดไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง โจทก์ยอมรับว่าได้ปลูกโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินจำเลยเนื้อที่ 15 ตารางวา แต่กระทำไปโดยสุจริต ยอมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 การที่จำเลยหรือผู้ร้องสอดนำที่ดินส่วนนี้ไปให้ผู้อื่นเช่าเสียก่อนอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้องแย้งผู้ร้องสอดที่ขอเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์และยกคำร้องของผู้ร้องสอด

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์อ้างว่า โจทก์ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของบุคคลอื่นโดยสุจริตไซร้ท่านว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้น แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้น และจดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอม” เห็นว่าบุคคลที่จะได้รับความคุ้มครองตามบทกฎหมายดังกล่าวจะต้องเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นและส่วนที่รุกล้ำนั้นจะต้องเป็นส่วนน้อยส่วนที่อยู่ในที่ดินที่ตนมีสิทธิสร้างต้องเป็นส่วนใหญ่ มิฉะนั้นจะเรียกว่าสร้างโรงเรือนรุกล้ำไม่ได้ ซึ่งตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าโจทก์ปลูกสร้างโรงเรือนของผู้อื่นรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยที่ 1 และบรรยายฟ้องต่อไปว่า โรงเรือนส่วนที่รุกล้ำนั้นเนื้อที่ประมาณ 12 ตารางวา ประมาณครึ่งหนึ่งของโรงเรือนแสดงว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของโรงเรือนที่สร้างรุกล้ำ ทั้งส่วนที่รุกล้ำนั้นมิใช่เป็นส่วนฟ้องอันจะเรียกว่ารุกล้ำตามมาตรา 1312 ดังวินิจฉัยแล้ว ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1312 จึงไม่จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่น ๆ ต่อไป

พิพากษายืน

 

 

( ยนต์ พิรวินิจ – สุรัตน์ ศรีอนุพันธุ์ – สมประสงค์ พานิชอัตรา )

 

คำว่า ” รุกล้ำโดยสุจริตหมายความว่าอย่างไร ” ?

 

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2560/2546

การที่จะถือว่าสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของบุคคลอื่นโดยสุจริตหรือไม่สุจริต จะต้องดูจากขณะที่ก่อสร้างผู้ก่อสร้างรู้หรือไม่ว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของคนอื่นถ้ารู้ก็ถือว่าก่อสร้างโดยไม่สุจริต ถ้าไม่รู้ว่าเป็นของบุคคลอื่น โดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเองจึงสร้างโรงเรือนลงไป ครั้นภายหลังจึงรู้ความจริง ย่อมถือว่าเป็นการก่อสร้างรุกล้ำโดยสุจริต

ขณะจำเลยก่อสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งโจทก์และจำเลยต่างไม่รู้ว่าโรงเรือนดังกล่าวสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ต่างฝ่ายต่างเพิ่งมาทราบในภายหลัง แม้ว่าจำเลยไม่ได้รังวัดสอบเขตก่อนที่จะก่อสร้าง แต่ขณะจำเลยก่อสร้างบ้านโจทก์ก็รู้เห็นด้วยมิได้โต้แย้ง กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง อันจะเป็นการทำโดยไม่สุจริตได้ ต้องฟังว่าจำเลยก่อสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ โดยสุจริต

ตามคำฟ้องของโจทก์มิได้มีคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าใช้ที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 ศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระเงินเป็นค่าชดใช้ที่ดินของโจทก์ไม่ได้เป็นการเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

 

________________________________

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 24811 เนื้อที่ 42 8/10 ตารางวาจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 24810 เนื้อที่ 17 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 1/3ซึ่งปลูกสร้างในที่ดินดังกล่าว ซึ่งที่ดินของจำเลยนี้ติดต่อกับที่ดินของโจทก์ดังกล่าวทางทิศตะวันตก ต่อมาประมาณปี 2540 โจทก์ตรวจสอบที่ดินโจทก์ ปรากฏว่าบ้านเลขที่ 1/3 ปลูกสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดิน โจทก์คิดเป็นเนื้อที่ 7.5 ตารางวา โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนบ้านส่วนที่รุกล้ำแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 1/3 ออกจากที่ดินโจทก์ และห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าว หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนโดยจำเลยออกค่าใช้จ่าย

จำเลยให้การว่า ที่ดินจำเลยติดต่อที่ดินของนายสุยงสามีโจทก์โดยซื้อมาจากนางระเบียบ ปรางศ์เพ็ชร หลังจากนั้นได้ปลูกสร้างบ้านเลขที่ 1/3 ในที่ดินดังกล่าวขณะปลูกสร้างบ้านโจทก์และสามีรู้เห็นยินยอม ทางราชการออกโฉนดที่ดินของโจทก์และจำเลยเมื่อปี 2522 ต่อมาปี 2538 โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบว่าจำเลยปลูกสร้างบ้านเลขที่ 1/3 รุกล้ำเข้ามาในที่ดินโจทก์บางส่วน จำเลยบอกกล่าวต่อโจทก์ว่าขณะที่ซื้อที่ดินมาและปลูกสร้างบ้านดังกล่าวโจทก์และสามีมิได้คัดค้าน จำเลยไม่ทราบว่าบ้านของจำเลยรุกล้ำที่ดินโจทก์ จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบแล้วเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2539ต่อมาวันที่ 14 มิถุนายน 2539 โจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดสอบเขตที่ดินโจทก์จำเลยจำเลยแจ้งว่าได้ครอบครองเป็นเจ้าของโดยสงบเปิดเผยตั้งแต่ปี 2522 นานกว่า 10 ปีและโจทก์ทราบถึงการเข้าอยู่อาศัยเกิน 1 ปี โจทก์ไม่ดำเนินการ คดีโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 30,000 บาท แก่โจทก์เป็นค่าใช้ที่ดิน

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ในส่วนพื้นที่ในกรอบสีเขียวตามแผนที่เอกสารหมาย จ.ล.1 ทำที่ดินให้เป็นไปตามเดิมแล้วส่งคืนโจทก์โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามที่คู่กรณีไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่าจำเลยปลูกสร้างโรงเรือนเลขที่ 1/3 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 24811 ตำบลโพธิ์เสด็จอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ของโจทก์ โดยขณะปลูกสร้างโรงเรือนดังกล่าวทั้งโจทก์และจำเลยต่างไม่ทราบว่าโรงเรือนดังกล่าวปลูกรุกล้ำที่ดินของโจทก์ จนกระทั่งมีการตรวจสอบรังวัดเขตที่ดินเมื่อปี 2539 จึงทราบถึงการรุกล้ำดังกล่าว มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยว่า จำเลยปลูกสร้างโรงเรือนเลขที่ 1/3ดังกล่าวรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่า การที่จะถือว่าสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของบุคคลอื่นโดยสุจริตหรือไม่สุจริตนั้น จะต้องดูจากขณะที่ก่อสร้างผู้ก่อสร้างรู้หรือไม่ว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของคนอื่น ถ้ารู้ก็ถือว่าก่อสร้างโดยไม่สุจริตแต่ถ้าในขณะที่ก่อสร้างไม่รู้ว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของบุคคลอื่น เข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเองจึงสร้างโรงเรือนลงไป ครั้นมาภายหลังจึงรู้ความจริงก็ถือว่าเป็นการก่อสร้างรุกล้ำโดยสุจริต เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังได้ว่า ขณะจำเลยก่อสร้างโรงเรือนเลขที่ 1/3 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์นั้น ทั้งโจทก์และจำเลยต่างก็ไม่รู้ว่าโรงเรือนดังกล่าวสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็เพิ่งมาทราบถึงการปลูกสร้างรุกล้ำในภายหลัง แม้ว่าจำเลยไม่ได้รังวัดสอบเขตก่อนที่จะก่อสร้าง แต่ขณะจำเลยก่อสร้างบ้านโจทก์ก็รู้เห็นด้วยมิได้โต้แย้งแต่อย่างใด กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง อันจะเป็นการทำโดยไม่สุจริตได้ ต้องฟังว่าจำเลยก่อสร้างโรงเรือนเลขที่ 1/3 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยสุจริตที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8วินิจฉัยว่า ก่อนทำการปลูกสร้าง จำเลยไม่รังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินก่อน จึงเป็นการปลูกสร้างตามอำเภอใจเป็นก่อสร้างประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ถือว่าเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยต่อไปว่าจำเลยจะต้องเสียเงินให้แก่โจทก์เป็นค่าใช้ที่ดินของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์มิได้มีคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าใช้ที่ดิน ดังนั้น ศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระเงินเป็นค่าชดใช้ที่ดินของโจทก์ไม่ได้ เป็นการเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิคู่ความที่จะไปว่ากล่าวกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ

 

 

( มานะ ศุภวิริยกุล – วิรัช ลิ้มวิชัย – สดศรี สัตยธรรม )

 

 

นายเกรียงศักดิ์    นวลศรี

น.บ   น.บ.ท   วิชาชีพว่าความ   ที่ปรึกษากฎหมาย    และผู้เขียนบทความในเว็บตั๋วทนาย.com

Facebook Comments