Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ พระภิกษุมรณภาพ โดยมิได้ทำพินัยกรรมในที่ดินไว้ ทายาทอ้างการครอบครองปรปักษ์ยันวัดได้หรือไม่

พระภิกษุมรณภาพ โดยมิได้ทำพินัยกรรมในที่ดินไว้ ทายาทอ้างการครอบครองปรปักษ์ยันวัดได้หรือไม่

12743

คำถาม
พระภิกษุมรณภาพ โดยมิได้ทำพินัยกรรมในที่ดินไว้ ทายาทอ้างการครอบครองปรปักษ์ยันวัดได้หรือไม่

คำตอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2495

พระภิกษุถึงมรณภาพในขณะที่เป็นพระภิกษุอยู่ โดยมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้ใคร มรดกของพระภิกษุนั้นย่อมตกได้แก่วัดที่พระภิกษุนั้นอยู่ แม้ทายาทจะครอบครองที่ดินมรดกของพระภิกษุนั้นเกิน 10 ปีนับแต่วันมรณภาพทายาทนั้นก็จะเอาที่ดินมรดกนั้นไม่ได้ เพราะที่ดินมรดกนั้นเป็นของวัด จะใช้อายุความ 10 ปียันวัดให้เสียสิทธิหาได้ไม่

คำอธิบายเพิ่มเติม
การที่พระภิกษุมีทรัพย์สินในขณะที่อยู่ในสมณเพศ ต่อมาได้มรณภาพนั้น แต่เดิมก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยมรดก มีกำหนดอยู่ในกฎหมายลักษณะมรดกบทที่ 36 ซึ่งกำหนดให้ทรัพย์สินของพระภิกษุซึ่งมรณภาพ ถ้าเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนอุปสมบท และไม่ได้นำเข้ามาปกครองอยู่ในอาราม ย่อมเป็นมรดกของพระภิกษุนั้นอันตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม แต่ถ้าเอามาปกครองอยู่ในอารามก็ตกเป็นสมบัติของวัดไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม ในส่วนทรัพย์สินที่ได้มาขณะอยู่ในสมณเพศ ไม่ว่าจะได้มาจากการที่มีผู้ทำบุญถวายหรือโดยทางใดก็ตาม ย่อมตกเป็นสมบัติของวัดเสมอ เว้นแต่ภิกษุนั้นจะได้อุทิศให้แก่ผู้ใด
ในปัจจุบันมีบทบัญญัติเกี่ยวกับกรณีที่พระภิกษุเป็นเจ้ามรดก โดยกำหนดอยู่ในประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623 และมาตรา 1624
กฎหมายได้แยกทรัพย์สินของพระภิกษุออกเป็น 2 ประเภทคือ ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างอยู่ในสมณเพศ กับทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนอุปสมบท
1. ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างอยู่ในสมณเพศ
ตามาตรา 1623 หมายความว่า ทรัพย์สินเหล่านั้นไม่ว่าพระภิกษุจะได้มาในทางใด หากพระภิกษุยังไม่มรณภาพ พระภิกษุมีสิทธิจำหน่ายจ่ายโอน ใช้สอย หรือยกให้ใครขณะมีชีวิตก็สามารถทำได้ ต่อมาเมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพ กฎหมายกำหนดให้ทรัพย์สินเหล่านั้นตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น
2. ทรัพย์สินที่ได้มาก่อนอุปสมบท
ตามาตรา 1624 หมายความว่า ทรัพย์สินเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ ถ้าได้มาก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และไม่ว่าจะนำทรัพย์สินนั้นเข้ามาในวัดหรือไม่ เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพ ทรัพย์สินเหล่านั้นไม่ตกเป็นสมบัติของวัด แต่ให้เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของบุคคลนั้น คือพระภิกษุที่มรณภาพนั้นจะจำหน่ายโดยประการใดตามกฎหมายก็ได้
การที่บุคคลได้ทรัพย์สินมาก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ แต่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หลังจากอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วนั้น ย่อมถือว่าได้ทรัพย์สินนั้นมาก่อนอุปสมบท ทรัพย์สินนั้นจึงไม่ตกเป็นสมบัติของวัด

Facebook Comments