Home คดีแพ่ง รวมคำพิพากษาฎีกาเรื่องฟ้องเคลือบคลุม

รวมคำพิพากษาฎีกาเรื่องฟ้องเคลือบคลุม

29631

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 690/2560

คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยปลูกบ้านรุกล้ำที่ดินโฉนดเลขที่ 52927 ของโจทก์ และขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งอ้างการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาท ของโจทก์ที่โจทก์เพิ่งซื้อมาเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2554 โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้ซื้อที่ดินมาโดเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยอย่างไรและโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ ดังนั้น ประเด็นที่ว่า โจทก์ซื้อที่ดินมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตหรือไม่ จึงรวมอยู่ในประเด็นที่ว่าจำเลยต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทหรือไม่ด้วย โดยโจทก์ไม่จำต้องโต้แย้งคัดค้านประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ดังกล่าวอีก เพราะถือว่าเป็นประเด็นเดียวกันกับที่โจทก์ได้ให้การแก้ฟ้องแย้งไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6688/2559

คำฟ้องของโจทก์บรรยายพอเข้าใจได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถแท็กซี่คันที่จำเลยที่ 1 ขับโดยประมาทมาชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ชัดแจ้ง ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ให้การยอมรับว่าเป็นผู้รับประกันภัยรถแท็กซี่คันดังกล่าว แต่ปฏิเสธความรับผิดโดยกล่าวอ้างว่าคนขับรถของโจทก์เป็นฝ่ายขับรถโดยประมาทโดยการเปลี่ยนช่องเดินรถเข้ามาในช่องเดินรถที่จำเลยที่ 1 ขับทำให้เกิดเฉี่ยวชนกัน การที่จำเลยที่ 2 ให้การเช่นนี้ถือว่าจำเลยที่ 2 สามารถเข้าใจคำฟ้องของโจทก์ได้ดี จึงสามารถให้การต่อสู้คดีได้ คำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จึงไม่เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6577/2559

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 โดยผ่านจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 โจทก์ส่งเบี้ยประกันภัยทุกปี ต่อมาโจทก์ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล แต่จำเลยที่ 1 ไม่จ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยอันเป็นการผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้เบี้ยประกันภัยที่โจทก์ส่งไป ค่ารักษาพยาบาล และค่าพาหนะเดินทางไปรักษาพยาบาล อันเป็นการเรียกร้องให้ชำระหนี้ตามสัญญาและเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 และมาตรา 391 วรรคสาม ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์ขอมานั้นจะเรียกได้หรือไม่ เพียงใด ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของกฎหมายต่อไป ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้แสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสองแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5000/2559

การมอบอำนาจให้นำคดีมาฟ้องเป็นเพียงรายละเอียดแห่งคำฟ้อง มิใช่สภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาอันจะต้องแสดงไว้โดยแจ้งชัด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และหนังสือมอบอำนาจก็ไม่ใช่เอกสารที่กฎหมายบังคับให้ต้องแนบมาพร้อมคำฟ้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 คำให้การของจำเลยที่ต่อสู้ถึงการมอบอำนาจว่า จำเลยไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของหนังสือมอบอำนาจที่ไม่ได้แนบมาท้ายฟ้อง และหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของโจทก์ออกไว้นานไม่เป็นปัจจุบัน จำเลยไม่เข้าใจและสามารถต่อสู้คดีได้จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องฟ้องเคลือบคลุม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวมาเป็นการไม่ชอบ เพราะถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และไม่ก่อสิทธิแก่จำเลยที่จะฎีกาปัญหาดังกล่าวต่อมา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2176/2559

แม้ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุโดยตรงว่า จำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์ไว้จากจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับ จำเลยที่ 2 ก็สามารถให้การต่อสู้คดีได้ แต่ตามคำให้การของจำเลยที่ 2 รับว่า ได้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน สย 9160 กรุงเทพมหานคร ไว้จริง เพียงแต่ปฏิเสธว่า เหตุละเมิดไม่ได้เกิดในขณะมีการขับเคลื่อนรถยนต์ แสดงว่า จำเลยที่ 2 ได้ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยและทราบอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์ไว้จากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 อ้างว่า จำเลยที่ 1 มิได้กระทำละเมิดในขณะขับรถ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด กรณีตามคำให้การดังกล่าว จำเลยที่ 2 หาได้หลงต่อสู้ไม่ คำฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงไม่เคลือบคลุม

จำเลยที่ 2 อ้างทำนองว่า ถังสีตกมาจากด้านบนของตึก จำเลยที่ 2 ก็เพิ่งยกข้อเท็จจริงนี้ขึ้นอ้างในชั้นฎีกา เกี่ยวกับความเสียหายที่อ้างว่าโจทก์เรียกร้องสูงเกินจริง จำเลยที่ 2 ก็มิได้โต้แย้งให้ชัดแจ้งว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามจำนวนเงินค่าซ่อมตามที่โจทก์มีใบเสนอราคาและใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานนั้น ค่าซ่อมรายการใดที่ไม่จำเป็น ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในปัญหาที่กล่าวมาจึงไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยชัดแจ้งว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนหรือไม่ถูกต้องในส่วนใด และที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ด้วยเหตุผลใด ทั้งยังมีข้อเท็จจริงบางส่วนที่จำเลยที่ 2 เพิ่งยกขึ้นอ้าง หาได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ถือเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 774/2559

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยรับประกันภัยรถยนต์ซึ่ง ช. ผู้เป็นเจ้าของเอาประกันภัยไว้กับจำเลย ช. ขับรถยนต์ด้วยความประมาทชนกับรถยนต์ของโจทก์จนได้รับความเสียหาย โจทก์ติดต่อจำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ที่ ช. ขับให้รับผิดในค่าซ่อมรถยนต์ ช. ซึ่งเป็นผู้ทำละเมิดต่อโจทก์และเป็นผู้เอาประกันภัยก็ยอมรับว่าเป็นผู้ประมาท แต่จำเลยเพิกเฉย ตามคำฟ้องดังกล่าว โจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในฐานะที่จำเลยเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนแล้ว ทั้งตามสำเนาตารางกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารท้ายคำฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องก็สนับสนุนข้ออ้างที่โจทก์บรรยายฟ้องให้เห็นเป็นประจักษ์ คำฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสองแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม

โจทก์ในฐานะตัวการไม่เปิดเผยชื่อให้ ป. ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์แทน หลังเกิดเหตุ โจทก์เรียกร้องให้จำเลยรับผิดแก่โจทก์จนมีการร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 และโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อโดยให้ ป. ทำสัญญาเช่าซื้อแทน ซึ่งโจทก์เป็นผู้ชำระเงินดาวน์และผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ ถือได้ว่าโจทก์เป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อได้แสดงตนแล้ว และกรณีตัวการไม่เปิดเผยชื่อเช่นโจทก์ก็ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องตั้งตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 798

คดีก่อน ป. ฟ้อง ช. และจำเลยเป็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 แม้คดีดังกล่าวเป็นเรื่องละเมิดและประกันภัยอันเป็นมูลกรณีเดียวกับคดีนี้ แต่โจทก์ดำเนินคดีดังกล่าวในฐานะผู้รับมอบอำนาจจาก ป. เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีนี้อ้างว่าเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ที่เสียหายโดยให้ ป. ทำสัญญาเช่าซื้อแทน โจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะส่วนตัวต่างจากคดีเดิมที่เป็นผู้รับมอบอำนาจ จึงมิใช่โจทก์คนเดียวกันกับโจทก์คดีเดิม ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีเดิม

ในคดีเดิมศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องแล้ว และปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 คดีจึงยุติไปด้วยการถอนฟ้องของโจทก์ กรณีหาได้มีการดำเนินคดีต่อจำเลยในหนี้เดียวกันทั้งสองคดีไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 436 – 437/2559

จำเลยที่ 10 และ ป. ขับรถเฉี่ยวชนกัน ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย และทำให้ทรัพย์สินของผู้ตายได้รับความเสียหาย ดังนั้นจำเลยที่ 10 และ ป. จึงเป็นผู้ครอบครองหรือเป็นผู้ควบคุมดูแลยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล โดยผู้ตายไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการควบคุมหรือครอบครองเครื่องจักรกลที่ก่อให้เกิดความเสียหายด้วย จำเลยที่ 10 และ ป. จึงต้องรับผิดเพื่อการเสียหายอันเกิดจากยานพาหนะนั้นเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเป็นเพราะความผิดของผู้เสียหายนั้นเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์บรรยายฟ้องโดยเล่าข้อเท็จจริงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า จำเลยที่ 10 และ ป. เป็นผู้ขับซึ่งถือเป็นผู้ควบคุมยานพาหนะที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลแล้วเกิดการเฉี่ยวชนกัน ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและทรัพย์สินได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 3 เป็นนายจ้าง ป.และเป็นเจ้าของรถลากจูงที่ ป. เป็นผู้ขับ ซึ่งเอาประกันไว้แก่จำเลยที่ 9 จึงขอให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 แม้จะมิได้บรรยายว่าเป็นความประมาทของฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายและขับรถประมาทกันอย่างไร ก็เป็นการบรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว คำฟ้องโจทก์ที่ 1 ในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 9 ไม่เคลือบคลุมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง

สัญญาเช่าที่ทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 11 กับจำเลยร่วม ข้อ 7 ระบุว่า ผู้ให้เช่า (จำเลยร่วม) ต้องรับผิดต่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดต่อผู้โดยสารในรถยนต์ที่นำมาให้เช่าและบุคคลภายนอกอันเป็นการสืบเนื่องมาจากการกระทำไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมของพนักงานขับรถ หรือบริษัทจำเลยผู้เช่า (จำเลยที่ 11) หรือผู้ให้เช่า (จำเลยร่วม) ดังนั้น แม้จำเลยร่วมจะมิใช่เป็นนายจ้างจำเลยที่ 10 และเป็นเพียงผู้ให้เช่ารถกระบะ แต่เมื่อมีเหตุละเมิดเกิดขึ้นและทำให้จำเลยที่ 11 มีสิทธิที่จะไล่เบี้ยให้จำเลยร่วมต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 11 จำเลยที่ 11 ย่อมมีอำนาจขอให้ศาลมีหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีได้เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาเสร็จไปในคราวเดียว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3)

โจทก์ที่ 1 บรรยายฟ้อง ตั้งสภาพแห่งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 ว่า จำเลยที่ 5 ในฐานะตัวการหรือนายจ้างของ ป. ส่วนจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 5 ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า การที่ ป. ขับรถลากจูงนั้นเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์หรือในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 5 จึงเป็นคำฟ้องเคลือบคลุม จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 และทำให้จำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ด้วย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14217/2558

โจทก์ได้บรรยายให้เห็นว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัย เรือ พ. จากบริษัท อ. จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองอู่ต่อเรือ จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการเรือ พ. มีหน้าที่ดูแลรักษาและซ่อมแซมเรือและเข้าร่วมซ่อมแซมเรือกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับจ้างซ่อมแซมเรือ พ. จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และ/หรือเป็นบุคคลที่จำเลยที่ 1 และ/หรือจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดหาทำการว่าจ้าง วาน ใช้ หรือได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 และ/หรือจำเลยที่ 2 ให้ดำเนินการซ่อมแซมเรือ จำเลยทั้งสามร่วมกันทำละเมิดต่อเจ้าของเรือ พ. โดยจำเลยที่ 3 กระทำโดยประมาททำให้เกิดเพลิงลุกไหม้เรือ พ. จนได้รับความเสียหาย เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาที่โจทก์อาศัยเป็นหลักในการกล่าวหาเพื่อขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรับผิดต่อโจทก์ ทั้งโจทก์ยืนยันว่าเหตุละเมิดเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ในทางการที่จ้างหรือได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 และ/หรือที่ 2 หากพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วได้ความตามฟ้อง จำเลยที่ 1 และ/หรือที่ 2 ย่อมต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ไม่ว่าในฐานะตัวการตัวแทนหรือนายจ้างลูกจ้าง เนื่องจาก ป.พ.พ. มาตรา 427 ให้นำมาตรา 425 และ 426 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยความรับผิดของนายจ้างเพื่อผลละเมิดของลูกจ้างซึ่งกระทำไปในทางการที่จ้างบังคับแก่กรณีตัวการตัวแทนโดยอนุโลม ทั้งจำเลยที่ 1 และ/หรือที่ 2 อาจต้องร่วมรับผิดทั้งการกระทำละเมิดและการกระทำผิดสัญญาจ้างซ่อมแซมเรือที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในคราวเดียวกัน ที่โจทก์บรรยายฟ้องมาจึงไม่ได้ขัดแย้งกัน ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9489/2558

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยประมาทเลินเล่อขับรถบรรทุกชนท้ายรถโดยสาร ทำให้รถโดยสารที่โจทก์ครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น และเรียกค่าเสียหายตามฟ้อง ข้อ ก. เป็นค่าเสียหายที่โจทก์ต้องนำรถโดยสารไปซ่อมเป็นจำนวนเงินตามบัญชีใบประเมินราคาการซ่อม ค่าเสียหายส่วนที่โจทก์ฟ้องมาตามฟ้องข้อ ก. โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดเป็นค่าซ่อมรถโดยตรง เพียงแต่โจทก์เรียกค่าเสียหายส่วนนี้โดยอิงกับใบประเมินราคา ซึ่งหากมีการซ่อมรถก็มีรายการและราคาตามใบประเมินราคานี้ ดังนั้น แม้รถโดยสารจะถูกผู้ให้เช่าซื้อขายไปในลักษณะขายซากรถโดยไม่ได้รับการซ่อมหรือไม่ หรือโจทก์ทราบข้อเท็จจริงว่า ผู้ให้เช่าซื้อขายซากรถไปโดยที่ยังไม่ได้รับการซ่อมหรือไม่ ก็ไม่สำคัญ เพราะโจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าซ่อมรถโดยตรง แต่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยกระทำละเมิดทำให้รถโดยสารที่โจทก์ครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่ได้รับความเสียหาย โจทก์ผู้เช่าซื้อย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายตามฟ้องข้อ ก. ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8820/2558

คำบรรยายฟ้องใดจะชัดเจนหรือไม่ เพียงใด จำต้องพิจารณาเหตุแห่งข้ออ้างทั้งหลายประกอบเอกสารที่แนบไว้ท้ายคำฟ้องว่าเพียงพอให้เข้าใจสภาพแห่งข้อหาหรือไม่ ทั้งต้องไม่มีผลกระทบต่อการต่อสู้คดีของจำเลย เมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์แล้วแม้เป็นกรณีที่ขอให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 ซึ่งข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัยไว้และผู้ทำละเมิดเกี่ยวข้องกับผู้เอาประกันภัยอย่างไร อันเป็นเหตุให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องร่วมรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนถือเป็นสาระสำคัญในเรื่องการบรรยายฟ้องก็ตาม แต่โจทก์บรรยายคำฟ้องไว้แล้วว่าจำเลยรับประกันภัยรถแท็กซี่ไว้ในขณะเกิดเหตุ วันเกิดเหตุ ฝ. ขับรถแท็กซี่โดยประมาทชนรถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหาย หลังเกิดเหตุ ฝ. ให้การรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนว่าเป็นฝ่ายประมาท ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีท้ายคำฟ้อง โดยเอกสารดังกล่าวมีข้อความระบุว่า ฝ. ยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รถยนต์ของ ณ. โดยมอบให้จำเลยเป็นผู้ใช้แทนทั้งหมด คำฟ้องประกอบเอกสารท้ายฟ้องดังกล่าว เพียงพอให้เข้าใจว่าสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ประสงค์ให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถแท็กซี่ไว้จาก ฝ. ผู้เอาประกันภัย ส่วนปัญหาว่า ฝ. เป็นผู้เอาประกันภัยอันเป็นเหตุให้จำเลยต้องร่วมรับผิดหรือไม่อย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องวินิจฉัยในชั้นพิจารณา นอกจากนั้นจำเลยเป็นฝ่ายครอบครองกรมธรรม์ประกันภัยจึงสามารถนำกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวมาตรวจสอบเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงว่าผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัย โดยไม่จำต้องอาศัยข้อเท็จจริงจากคำฟ้องของโจทก์อีก ข้อที่ว่าจำเลยรับประกันภัยไว้จากผู้ใด จึงเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทราบดีอยู่แล้วและเป็นเพียงรายละเอียดที่คู่ความสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ส่วนในเรื่องนิติสัมพันธ์นั้น เมื่อฟ้องโจทก์เป็นที่เข้าใจได้ว่าขอให้จำเลยรับผิดในการทำละเมิดของ ฝ. ผู้เอาประกันภัย โจทก์จึงไม่จำต้องบรรยายฟ้องถึงนิติสัมพันธ์ระหว่างผู้เอาประกันภัยกับผู้ทำละเมิดอีก ฟ้องโจทก์จึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7174/2558

คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดแล้วว่า อ. ผู้ขับรถยนต์ที่จำเลยรับประกันภัย เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้เอาประกันภัย จำเลยให้การรับว่าเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ทน 8489 กรุงเทพมหานคร ที่ อ. เป็นผู้ขับจึงอาจต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากรถยนต์ที่รับประกันภัยไว้ ข้อที่ว่าจำเลยรับประกันภัยไว้จากผู้ใดเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทราบดีอยู่แล้ว เพราะ ป.พ.พ. มาตรา 867 บัญญัติว่า “สัญญาประกันภัยนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” และวรรคสองของมาตราดังกล่าวกำหนดหน้าที่ของผู้รับประกันภัยว่าผู้รับประกันภัยจะต้องส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยอันมีเนื้อความถูกต้องตามสัญญานั้นแก่ผู้เอาประกันภัยฉบับหนึ่ง และกรมธรรม์ประกันภัยจะต้องลงลายมือชื่อของผู้รับประกันภัยและมีรายการต่าง ๆ ได้แก่ วัตถุที่เอาประกันภัย ภัยใดซึ่งผู้รับประกันภัยรับเสี่ยง ราคาแห่งมูลประกันภัยถ้าได้กำหนดกันไว้ จำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัย จำนวนเบี้ยประกันภัย และวิธีส่งเบี้ยประกันภัย ถ้าหากสัญญามีกำหนดเวลา ต้องลงเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดไว้ ชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับประกันภัย ชื่อหรือยี่ห้อของผู้เอาประกันภัย ชื่อของผู้รับประโยชน์ถ้าจะมี วันทำสัญญาประกันภัย และสถานที่และวันที่ได้ทำกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยทั้งสิ้น โจทก์จึงไม่จำต้องบรรยายว่าผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัยอีก คำฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5090/2558

การที่โจทก์บรรยายสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดเพื่อความสูญหายอันเกิดแต่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัยได้พามา จึงมีหน้าที่ต้องตรวจตราดูแลทรัพย์สินของลูกค้า แต่จำเลยที่ 1 และพนักงานไม่ตรวจตราดูแลให้ดี ทำให้มีคนเข้ามาลักเอารถยนต์ไป จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลรักษาทรัพย์สินของผู้เข้าพักในโรงแรม ฟ้องของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 โต้เถียงบรรยายโดยแจ้งชัดชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสองแล้ว

การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ม. ผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันพิพาทระบุเวลาที่รถหายตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี 2 ฉบับ ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2549 และวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ไม่ตรงกันนั้น น่าจะเกิดจากความคลาดเคลื่อนของผู้บันทึก ไม่ใช่ ม. แจ้งแตกต่างกัน

การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดเฉพาะทรัพย์สินที่สูญหายภายในห้องพัก แต่ลานจอดรถอยู่ด้านนอกโรงแรม และจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับฝากรถยนต์ จึงไม่มีหน้าที่ดูแลรถยนต์ที่จอดไว้นั้น เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 674 และมาตรา 675 วรรคหนึ่ง กำหนดให้เจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดเพื่อความสูญหายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัยได้พามา แม้ความสูญหายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม ก็ต้องรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4807/2558

ตามคำฟ้องเป็นการฟ้องคดีในมูลละเมิด แม้จำเลยที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 2 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 3 รับขนส่งช่วง จำเลยที่ 3 นำเรือไปบรรทุกโดยให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 เป็นผู้ควบคุมเรือ ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การว่าจำเลยที่ 2 เช่าเรือไปจากจำเลยที่ 3 แต่คำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของคำฟ้อง เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างหรือเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 คำฟ้องโจทก์จึงขาดสาระสำคัญอันเป็นประเด็นแห่งคดีที่จะให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 และมาตรา 427 คำฟ้องโจทก์จึงไม่แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แม้ในทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ก็ไม่ทำให้คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่แรกกลับเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาได้ และศาลจะพิพากษาคดีให้โจทก์ชนะคดีจำเลยที่ 2 โดยไม่อาศัยคำฟ้องไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2229/2558

คำฟ้องโจทก์ที่บรรยายว่า ” ในระหว่างเวลาที่จำเลยทั้งเก้าดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารสหกรณ์อยู่นั้น ปรากฏว่าจำเลยทั้งเก้าโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ กล่าวคือ มีการทุจริตโดยการอ้างว่ามีสมาชิกของสหกรณ์มาขอกู้ยืมเงินไป เมื่อมีการตรวจสอบปรากฏว่าเป็นความเท็จและเงินในบัญชีอีกส่วนหนึ่งได้ขาดหายไป การกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งเก้าเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์โจทก์เป็นจำนวนเงิน 3,806,173.44 บาท…” เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์จะให้จำเลยทั้งเก้ารับผิดในมูลละเมิดซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 โจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องให้แจ้งชัดว่า จำเลยทั้งเก้าได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างใดถึงได้เกิดความเสียหายขึ้นแก่โจทก์ กล่าวคือ จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างไรจนเป็นเหตุให้ ธ. และ น. ทุจริตยักยอกเงินของโจทก์ไปได้ แต่ตามคำฟ้องดังกล่าว โจทก์ไม่ได้บรรยายถึงการกระทำเช่นว่านั้นเลย คงกล่าวเพียงว่าจำเลยทั้งเก้าจงใจหรือประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เท่านั้น ดังนั้น คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม เพราะมิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18316/2557

โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองปิดกั้นทางสาธารณะ แต่ไม่มีคำขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในส่วนนี้ ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ซึ่งถือเป็นคำฟ้อง จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 246, 247 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งสองขุดทำลายทางจำเป็นและปลูกต้นไม้ล้ำเข้ามาในทางจำเป็นโดยจงใจทำให้โจทก์ทั้งสองกับผู้ใช้ทางอื่นไม่ได้รับความสะดวก อันเป็นละเมิด ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาว่า จำเลยทั้งสองเข้าปรับปรุงทางพิพาทเนื่องจากมีข้อตกลงในการสร้างทางภาระจำยอมเพื่อใช้แทนทางจำเป็น หากการก่อสร้างทางดังกล่าวไม่เป็นไปตามข้อตกลง ก็ชอบที่โจทก์ทั้งสองจะฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองแก้ไขให้ถูกต้องได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาจึงไม่เป็นละเมิด

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

0891427773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments