Home คดีแพ่ง สมคบกันจดทะเบียนโอนซื้อขายที่ดินหลอกๆ ฟ้องเพิกถอนได้หรือไม่ ภายในระยะเวลาเท่าใด

สมคบกันจดทะเบียนโอนซื้อขายที่ดินหลอกๆ ฟ้องเพิกถอนได้หรือไม่ ภายในระยะเวลาเท่าใด

9826

คำถาม

สมคบกันจดทะเบียนโอนซื้อขายที่ดินหลอกๆ ฟ้องเิกถอนได้หรือไม่ ภายในระยะเวลาเท่าใด

เคยมีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2041/2547

จำเลยที่ 1 ตกลงขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยได้มีการส่งมอบที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองเข้าซ่อมแซมครอบครองตลอดมา อันเป็นการชำระหนี้บางส่วน ข้อตกลงจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านพิพาทจึงมีผลผูกพันบังคับต่อกันได้แล้ว

จำเลยทั้งสองสมคบกันจดทะเบียนโอนซื้อขายที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตและไม่มีการชำระเงินกันจริง จำเลยที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทที่แท้จริง การแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองในทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินพิพาท จึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 ก็ได้ โจทก์ทั้งสองชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนเมื่อใดก็ได้ ฟ้องโจทก์ทั้งสองมิใช่การฟ้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องภายใน 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240

คำพิพากษาฎีกาย่อยาว

จำเลยที่ 1 ตกลงขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยได้มีการส่งมอบที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองเข้าซ่อมแซมครอบครองตลอดมา อันเป็นการชำระหนี้บางส่วน ข้อตกลงจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านพิพาทจึงมีผลผูกพันบังคับต่อกันได้แล้ว

จำเลยทั้งสองสมคบกันจดทะเบียนโอนซื้อขายที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตและไม่มีการชำระเงินกันจริง จำเลยที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทที่แท้จริง การแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองในทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินพิพาท จึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 ก็ได้ โจทก์ทั้งสองชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนเมื่อใดก็ได้ ฟ้องโจทก์ทั้งสองมิใช่การฟ้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องภายใน 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมรับชำระราคาซื้อขายเป็นเงิน 550,000 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติ ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแสดงแทนเจตนาของจำเลยทั้งสองกับให้จำเลยทั้งสองส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ของที่ดินโฉนดเลขที่ 105092 ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 105092 แก่โจทก์ทั้งสอง หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแสดงแทนเจตนาของจำเลยทั้งสอง โดยให้โจทก์ทั้งสองชำระค่าที่ดินจำนวน 550,000 บาท แก่จำเลยที่ 1

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ตกลงขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้วหรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นข้อนี้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไว้โดยละเอียดมีเหตุผลให้รับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า จำเลยที่ 1 ตกลงขายที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์ทั้งสองแล้ว อันเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 พิพาทกันโดยตรง แต่จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งต่อมาอย่างใด คงมีแต่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ฎีกาในประเด็นข้อนี้เท่านั้น พิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีนี้ของจำเลยที่ 1 ประกอบข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติข้างต้นในคดีแพ่งและหมายเลขแดงที่ 1131/2538 ของศาลชั้นต้นดังกล่าวซึ่งผูกพันจำเลยที่ 2 ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้ฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ตกลงขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยได้มีการส่งมอบที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองเข้าซ่อมแซมครอบครองตลอดมา อันเป็นการชำระหนี้บางส่วน ข้อตกลงจะซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทจึงมีผลผูกพันบังคับต่อกันได้แล้ว

มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 2 จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า ในคดีก่อนจำเลยที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่โจทก์ทั้งสองคดีนี้ให้ออกจากที่ดินและบ้านพิพาท และศาลชั้นต้นในคดีก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 2 เป็นคู่ความในคดีก่อนต้องผูกพันกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองสมคบกันจดทะเบียนโอนซื้อขายที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตและไม่มีการชำระเงินกันจริง จำเลยที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทที่แท้จริง

มีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความยุติว่าจำเลยทั้งสองสมคบกันจดทะเบียนโอนซื้อขายที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตและไม่มีการชำระเงินกันจริงเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้โจทก์ทั้งสองบังคับจำเลยที่ 1 ตามที่ตกลงซื้อขายกัน การแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองในทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินพิพาทจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 ก็ได้ โจทก์ทั้งสองชอบที่ฟ้องขอให้เพิกถอนเสียเมื่อใดก็ได้ ฟ้องโจทก์ทั้งสองมิใช่การฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ฎีกาจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 155 วรรคหนึ่ง, 172, 237, 240, 456 วรรคสอง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 145

สรุป

การแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองในทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินพิพาทจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 ก็ได้ โจทก์ทั้งสองชอบที่ฟ้องขอให้เพิกถอนเสียเมื่อใดก็ได้ 

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

0891427773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments