Home คดีครอบครัว ด่าว่าจัญไร เป็นเหตุถอนคืนการให้หรือไม่

ด่าว่าจัญไร เป็นเหตุถอนคืนการให้หรือไม่

8905

คำถาม ด่าว่าจัญไร เป็นเหตุถอนคืนการให้หรือไม่

เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7301/2559

จำเลยด่าโจทก์ว่า เป็นคนจัญไร ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายไว้ว่า “เลวทราม เป็นเสนียด ไม่เป็นมงคล” อันเป็นถ้อยคำรุนแรงไร้ความเคารพนับถือเป็นการลบหลู่เหยียดหยาม อกตัญญูต่อบิดาผู้มีพระคุณ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ซึ่งเป็นบิดาและเป็นผู้ให้อย่างร้ายแรง จึงเป็นเหตุให้โจทก์เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2)

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือสัญญาให้ที่ดินฉบับลงวันที่ 28 มีนาคม 2557 ให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 23247 ตำบลหนองกรด อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เนื้อที่ 36 ไร่ 2 งาน 16 2/10 ตารางวา คืนแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนสัญญาให้ที่ดินและให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 23247 ตำบลหนองกรด อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ คืนแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ กำหนดเป็นค่าทนายความรวม 20,000 บาท

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2557 โจทก์ยกที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 23247 ตำบลหนองกรด อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เนื้อที่ 36 ไร่เศษ ให้แก่จำเลยโดยเสน่หา โดยมีบ้านของโจทก์ตั้งอยู่ มีโจทก์กับนางเสนาะ ภริยาโจทก์ จำเลยกับนายประจวบ สามีจำเลย พักอาศัยอยู่ร่วมกัน ที่ดินดังกล่าวจำนวนเนื้อที่ 12 ไร่ แบ่งให้บุคคลอื่นเช่าทำนาโดยโจทก์เป็นผู้เก็บผลประโยชน์ โจทก์ยังมีที่ดินอีก 1 แปลง เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 28990 ตำบลหนองกรด อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เนื้อที่ 7 ไร่ 19 ตารางวา คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531 (2) ได้หรือไม่ ข้อนี้ได้ความจากโจทก์นำสืบว่า หลังจากโจทก์ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยเสน่หาแล้ว 2 เดือน จำเลยด่าโจทก์ว่า แก่แล้วเลอะเทอะ กินข้าวมูมมาม แก่จัญไร โจทก์ทนพฤติกรรมของจำเลยไม่ไหวจึงออกจากบ้านไปพักอาศัยกับนางนันทา ซึ่งเป็นบุตร ส่วนจำเลยนำสืบว่า โจทก์ชักชวนให้จำเลยมาอยู่อาศัยด้วย จำเลยเลี้ยงดูโจทก์และไม่เคยด่าว่าโจทก์ ต่อมาโจทก์ออกไปและล็อกประตูบ้านทำให้จำเลยและสามีเข้าอยู่อาศัยไม่ได้จึงไปปลูกกระต๊อบอาศัยในที่ดินพิพาท เห็นว่า นอกจากโจทก์แล้วยังมีนางเสนาะ ภริยาโจทก์และนางนันทา บุตรโจทก์มาเบิกความยืนยันว่า จำเลยด่าโจทก์ว่า แก่แล้วเลอะเทอะ กินข้าวมูมมาม ซึ่งนอกจากจะเป็นข้อความที่ไม่สุภาพและไม่สมควรที่บุตรจะว่ากล่าวต่อบิดาของตนแล้ว จำเลยยังใช้ถ้อยคำว่า โจทก์เป็นคนจัญไร อีกด้วย ถ้อยคำดังกล่าว ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายไว้ว่า “เลวทราม เป็นเสนียด ไม่เป็นมงคล” อันเป็นถ้อยคำที่รุนแรงไร้ความเคารพนับถือ เป็นการลบหลู่เหยียดหยาม อกตัญญูต่อบิดา ผู้มีพระคุณ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง ที่จำเลยอ้างว่าเคยบ่นโจทก์ที่เอาชามข้าวไปให้แมวกินร่วมกันเท่านั้น ไม่เคยด่าว่าโจทก์เป็นคนจัญไรนั้น ถ้าเป็นเพียงคำบ่นตามที่จำเลยอ้างน่าจะไม่เป็นเหตุถึงขนาดทำให้โจทก์ต้องมาขอถอนคืนการให้ ดังจะเห็นได้ว่า หลังจากนั้นโจทก์ล็อกประตูบ้านแล้วไปขออาศัยอยู่กับนางนันทาที่กรุงเทพมหานคร ยิ่งกว่านั้นก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ประมาณ 1 เดือน โจทก์ไปร้องขอปรึกษาข้อกฎหมายที่สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิประชาชนนครสวรรค์ (ส.ค.ช.) สำนักงานอัยการจังหวัดนครสวรรค์ ว่า หลังจากโอนที่ดินแล้วจำเลยมีพฤติการณ์พูดจาเสียดสีจึงต้องการขอคืนการให้ที่ดิน แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทนไม่ได้ต่อพฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวแล้ว จึงมาปรึกษาพนักงานอัยการเพื่อขอคืนการให้ ที่จำเลยอ้างมาในฎีกาว่า เหตุที่โจทก์ไปร้องมีเรื่องเดียวคือเรื่องที่จำเลยบ่นว่าโจทก์นำชามข้าวคนมาให้แมวกินร่วมกันนั้น เมื่อพิจารณาตามเอกสารคำขอปรึกษาข้อกฎหมายท้ายอุทธรณ์ของโจทก์ ปรากฏว่าในช่องข้อเท็จจริงที่ปรึกษา มีลักษณะการสรุปข้อเท็จจริง มิได้มีรายละเอียดของถ้อยคำที่อ้างว่าพูดจาเสียดสีนั้นมีอะไรบ้าง เช่นนี้จะฟังเป็นยุติว่ามีเรื่องเดียวตามที่จำเลยอ้างหาได้ไม่ ข้อเท็จจริงดังวินิจฉัยมาฟังได้ว่า จำเลยด่าโจทก์ว่าเป็นคนจัญไร อันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ซึ่งเป็นบิดาและเป็นผู้ให้อย่างร้ายแรง จึงเป็นเหตุให้โจทก์เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531 (2) คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

0891427773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments