Home คดีอาญา การนำ ส.ป.ก.4-01 ปลอมมาหลอกขาย มีความผิดฐานใดหรือไม่ ผู้ซื้อเป็นผู้เสียหายหรือไม่

การนำ ส.ป.ก.4-01 ปลอมมาหลอกขาย มีความผิดฐานใดหรือไม่ ผู้ซื้อเป็นผู้เสียหายหรือไม่

6012

อย่างที่ทีมงานทนายกฤษดา เคยเขียนบทความแนะนำท่านผู้อ่านไปแล้ว เกี่ยวกับที่ดิน (ส.ป.ก.) สามารถซื้อขายกันได้หรือไม่ และหากไม่ได้ผู้ซื้อมีสิทธิฟ้องเรียกเงินคืนหรือไม่ (คลิกเพื่ออ่าน)  และ ที่ดิน ส.ป.ก สามารถทำพินัยกรรมตกทอดให้แก่ทายาทได้หรือไม่ ในวันนี้มีปัญหาประการหนึ่งที่เป็นคดีความขึ้นสู่ศาลจำนวนมากว่า ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01  การนำส.ป.ก.4-01 ปลอม มีความผิดฐานใดหรือไม่ ผู้ซื้อเป็นผู้เสียหายหรือไม่ โดยทีมงานทนายกฤษดา จะขออนุญาตท่านผู้อ่านวิเคราะห์คำพิพากษาฎีกาทีทีมงานมองว่าเป็นประโยชน์มากสำหรับคำพิพากษาฎีกานี้

ความหมายของที่ดิน ส.ป.ก.

ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 คือเอกสารสิทธิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน เริ่มขึ้นเมื่อมีพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มีหลักการสำคัญว่า ที่ดินในเขตปฏิรูปนั้นใช้ทำเกษตรกรรมได้อย่างเดียวเท่านั้น ทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ และผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 จะต้องมีฐานะยากจน

คำถามประการแรกที่ว่าที่ดิน ส.ป.ก. สามารถซื้อขายได้หรือไม่

มีบทบัญญัติตาม พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ตามมาตรา ๓๙ให้คำตอบเอาไว้ พร้อมกันนี้ทางทีมงานขออนุญาตอธิบายพร้อมแนบคำพิพากษาศาลฎีกาประกอบ

มาตรา ๓๙ ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

คำถาม

การนำ ส.ป.ก.4-01 ปลอมมาหลอกขาย มีความผิดฐานใดหรือไม่ ผู้ซื้อเป็นผู้เสียหายหรือไม่

{คดีศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องคดีเอง ศาลประทับฟ้องจำเลยให้การรับสารภาพ}

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 (1), 268, 341, 350, 90, 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (1) (ที่ถูก มาตรา 266 (1), มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (1)), 341, 350 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (1) แต่กระทงเดียว ตามมาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี

{คดีศาลชั้นต้น พิพากษาว่ามีความผิดเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนัก}

{คดีศาลอุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลพิพากษายกฟ้อง !!!!}

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

{คดีศาลฎีกา โจทก์ฎีกา}

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า

{ขณะเกิดเหตุ}

ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2554 จำเลยกับพวกเสนอขายที่ดินให้โจทก์จำนวน 10 ไร่ ราคา 600,000 บาท โดยจำเลยแจ้งโจทก์ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ว่างเปล่ามีเอกสารสิทธิการครอบครอง มีชื่อนายสมุทร บิดาจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง จำเลยกับพวกร่วมกันกล่าวอ้างและรับรองกับโจทก์ว่าสามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ได้ในภายหลัง แต่ยังไม่อาจนำเอกสารสิทธิมาแสดงได้เพราะติดจำนองธนาคาร จำเลยกับพวกจะนำเงินที่ได้จากการขายให้แก่โจทก์ไปไถ่ถอนจำนองและโอนให้โจทก์ภายในเดือนเมษายน 2555 โจทก์จึงตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายและชำระเงินค่าที่ดินให้จำเลยกับพวกเสร็จสิ้นแล้วตามข้อตกลง เมื่อถึงกำหนดเวลา ฝ่ายจำเลยยังไม่ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากธนาคาร

{หลังเกิดเหตุ}

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2544 โจทก์ไปขอตรวจสอบเอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดินกับฝ่ายจำเลย จึงทราบว่ามีเอกสารสิทธิเป็นหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01)

{วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้น}

โจทก์จึงได้บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายกับฝ่ายจำเลยและจำเลยตกลงจะคืนเงินค่าที่ดินให้โจทก์และรับรองว่าในระหว่างเวลาการคืนเงินจำเลยจะไม่จำหน่ายที่ดินหรือจำนำหรือก่อภาระผูกพันใดๆ จนกว่าโจทก์จะได้รับเงินคืนทั้งหมด

{พฤติการณ์ต่อเนื่อง}

ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2556 จนถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2556 จำเลยนำหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ไปถ่ายสำเนาและนำน้ำยาลบคำผิดลบข้อความในช่องผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์และแก้ไขจากชื่อนายสมุทร เป็นชื่อของจำเลย และนำที่ดินดังกล่าวไปขายให้แก่นางสาวนารีรัตน์ และนางจันถวิล

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานฉ้อโกงขาดอายุความหรือไม่ละศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวมาในฟ้องหรือไม่ เห็นว่า

เมื่อพิจารณาคำฟ้องข้อ 1 ที่โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยกับพวกที่มาเสนอขายที่ดินพิพาทให้โจทก์โดยฝ่ายจำเลยแจ้งแก่โจทก์ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินว่างเปล่ามีเอกสารสิทธิการครอบครอง ทั้งรับรองกับโจทก์ว่าสามารถจดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์ได้ แต่เนื่องจากที่ดินดังกล่าวติดจำนองธนาคาร หากโจทก์ตกลงซื้อและชำระเงินบางส่วนแล้วจำเลยก็จะนำเงินที่ได้จากโจทก์ไปไถ่ถอนจำนองมาจดทะเบียนโอนให้โจทก์ภายในเดือนเมษายน 2555 โจทก์ตกลงและชำระเงินค่าที่ดินให้แก่จำเลยแล้ว เมื่อถึงกำหนดสัญญาวันที่ 30 เมษายน 2555 ฝ่ายจำเลยไม่ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทและโอนให้โจทก์ ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2555 โจทก์ตรวจสอบพบว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา กรณีจึงเป็นอันรับฟังได้ว่าโจทก์ทราบเรื่องที่ถูกหลอกลวงให้ซื้อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิเป็น ส.ป.ก. 4-01 มิใช่ที่ดินว่างเปล่าที่มีเอกสารสิทธิที่จะสามารถโอนให้แก่กันได้ในวันที่ไปตรวจสอบที่ดินคือวันที่ 1 มิถุนายน 2555 แล้ว

ส่วนที่โจทก์อ้างว่าการกระทำของจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกง โจทก์ถือเอาการกระทำของจำเลยที่รับรองว่าจะไม่จำหน่ายหรือจำนำหรือก่อภาระผูกพันใดๆ ในที่ดินให้กระทบสิทธิของโจทก์อันเป็นความเท็จนั้นก็เห็นได้ว่าเป็นกรณีที่มีการตกลงหลังจากที่โจทก์กับพวกได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทอันเนื่องมาจากการหลอกลวงของฝ่ายจำเลยโดยมีข้อตกลงที่จำเลยจะต้องคืนเงินให้โจทก์และระหว่างการคืนเงินให้นั้นจำเลยสัญญาว่าจะไม่นำที่ดินไปจำหน่าย จำนำ หรือก่อภาระผูกพันใดๆ อันเป็นข้อสัญญาที่จำเลยจะต้องปฏิบัติ เมื่อจำเลยมิได้ปฏิบัติตามสัญญาโดยนำที่ดินไปจำหน่ายให้แก่บุคคลอื่นก็เป็นการผิดข้อตกลงหลังจากการบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายอันเป็นกรณีที่โจทก์จะต้องดำเนินการต่อไปเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงเท่านั้น กรณีดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าโจทก์เพิ่งทราบความผิดของจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2556 ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้อง คงรับฟังได้ว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดที่ถูกฉ้อโกงและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่ตรวจสอบเอกสารในวันที่ 1 มิถุนายน 2555 แล้ว โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานนี้ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งเกิน 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดจึงขาดอายุความ

ทั้งการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยและพิพากษาถึงการกระทำของจำเลยที่มีเจตนาหลอกลวงขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ และโจทก์รู้เรื่องความผิดที่ถูกฉ้อโกงในวันที่มีการตรวจสอบเอกสารสิทธิของที่ดินก็ปรากฏตามคำฟ้องข้อ 3.3 ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้รับรองกับโจทก์ว่าในระหว่างที่ยังชำระหนี้ค่าที่ดินจำนวน 600,000 บาท ให้แก่โจทก์ยังไม่ครบถ้วน จำเลยจะไม่จำหน่ายที่ดินหรือจำนำหรือก่อภาระผูกพันใดๆ ในที่ดินพิพาท ซึ่งจะเป็นเหตุให้กระทบต่อสิทธิของโจทก์ อีกทั้งโจทก์ก็กล่าวอ้างถึงเจตนาของจำเลยที่จะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับโจทก์ตามคำฟ้องข้อ 2 ตั้งแต่แรกนั่นก็เป็นกรณีของการหลอกลวงโจทก์ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิที่สามารถโอนได้อันเป็นกรณีที่จำเลยมีเจตนาหลอกลวงโจทก์มาแต่แรกและโจทก์รู้เรื่องความผิดในวันที่ 1 มิถุนายน 2555 แล้ว ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2555 จึงมิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่โจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้องแต่อย่างใด ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 อันเป็นเอกสารราชการปลอมหรือไม่ โจทก์ฎีกาอ้างว่าเมื่อจำเลยทำปลอมเอกสาร ส.ป.ก. 4-01 โดยลบข้อความในช่องชื่อผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมให้เป็นชื่อของจำเลย แล้วนำที่ดินไปขายให้แก่นางสาวนารีรัตน์และนางจันถวิล ทั้ง ๆ ที่จำเลยได้รับรองกับโจทก์แล้วว่าในระหว่างที่โจทก์ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่จำเลยจะไม่จำหน่าย จำนำ หรือก่อภาระผูกพันใด ๆ ในที่ดิน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทบถึงสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายนั้น เห็นว่า การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติว่า “ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมหรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง” กรณีตามบทบัญญัติดังกล่าวกรรมสิทธิ์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมยังเป็นของรัฐอยู่ เพียงแต่รัฐนำที่ดินมาจัดสรรให้ประชาชนครอบครองทำกินเท่านั้น แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยลบชื่อบิดาในช่องชื่อผู้ได้รับอนุญาตและใส่ชื่อจำเลยแทน ต่อมามีการขายให้แก่นางสาวนารีรัตน์และนางจันถวิล ก็ไม่ก่อให้บุคคลทั้งสองมีสิทธิใดๆ ในที่ดินพิพาทเพราะกรรมสิทธิ์ในที่ดินยังคงเป็นของรัฐอยู่ แม้จำเลยจะรับรองกับโจทก์ว่าจะไม่จำหน่าย จำนำ หรือก่อภาระผูกพันใด ๆ ในที่ดิน โจทก์ก็ไม่ได้เป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยปลอมและใช้เอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 อันเป็นเอกสารราชการปลอมแต่อย่างใด ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยกระทำผิดฐานโกงเจ้าหนี้หรือไม่ โจทก์ฎีกาอ้างว่าการที่จำเลยปลอมและใช้เอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ปลอมโดยขายให้แก่บุคคลอื่นทั้ง ๆ ที่จำเลยรับรองและยืนยันกับโจทก์ว่าจะไม่จำหน่าย จำนำหรือก่อภาระผูกพันใดๆ ในที่ดินพิพาท การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสียหายจากการที่ผู้ซื้อที่ดินจากจำเลยมีสิทธิใช้ที่ดินทับซ้อนกับโจทก์อันเป็นการกระทบต่อสิทธิของโจทก์เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้แล้วนั้น เห็นว่า ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมผู้ได้รับสิทธิคงมีสิทธิครอบครองทำกินเท่านั้น กรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวยังคงเป็นของรัฐ การที่จำเลยโอนที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมซึ่งมิใช่ที่ดินทั้งของจำเลยและบิดาจำเลยให้แก่ผู้มีชื่อไป แม้จำเลยมีภาระผูกพันที่ต้องชำระเงินค่าที่ดินคืนแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นการโอนไปซึ่งทรัพย์สินตามความในมาตรา 350 แห่งประมวลกฎหมายอาญา การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

สรุป โดยรวมเป็นคำพิพากษาฎีกาที่ต้องอ่านเหตุผลประกอบเท่านั้น ยากที่จะสรุปสั้นๆ

1.ในประเด็นเรื่องอายุความ เรื่องฉ้อโกง ศาลนับตั้งแต่ตรวจสอบรู้ในขณะแรก และเริ่มนับอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 แต่ในความจริงแล้วมีความผิดเรื่องฉ้อโกง แต่ดำเนินคดีเกินกว่าอายุความ *****

2.ในประเด็นเรื่อง โจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 อันเป็นเอกสารราชการปลอมหรือไม่  ศาลฎีกามองว่ากรรมสิทธิยังตกเป็นของรัฐอยู่  ก็ไม่ก่อให้บุคคลทั้งสองมีสิทธิใดๆ ในที่ดินพิพาทเพราะกรรมสิทธิ์ในที่ดินยังคงเป็นของรัฐอยู่ แม้จำเลยจะรับรองกับโจทก์ว่าจะไม่จำหน่าย จำนำ หรือก่อภาระผูกพันใด ๆ ในที่ดิน โจทก์ก็ไม่ได้เป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยปลอมและใช้เอกสารสิทธิ

3.ในประเด็นเรื่องโกงเจ้าหนี้ ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมผู้ได้รับสิทธิคงมีสิทธิครอบครองทำกินเท่านั้น กรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวยังคงเป็นของรัฐ การที่จำเลยโอนที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมซึ่งมิใช่ที่ดินทั้งของจำเลยและบิดาจำเลยให้แก่ผู้มีชื่อไป แม้จำเลยมีภาระผูกพันที่ต้องชำระเงินค่าที่ดินคืนแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นการโอนไปซึ่งทรัพย์สินตามความในมาตรา 350 แห่งประมวลกฎหมายอาญา การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments