Home คดีอาญา ชนแล้วหนีต้องขับรถไม่ใช่จอดรถ

ชนแล้วหนีต้องขับรถไม่ใช่จอดรถ

2634

ความผิดฐานชนแล้งหลบหนี ต้องเป็นผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นและไม่หยุดให้ความช่วยเหลือพร้อมแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งการจะเป็นความผิดดังกล่าวได้ต้องเป็นผู้ขับรถที่กำลังแล่นอยู่หาใช่กรณีผู้ขับรถที่จอดหรือหยุดรถ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1368/2549 ผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 78 วรรคหนึ่ง, 160 วรรคหนึ่ง ต้องเป็นผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นและไม่หยุดให้ความช่วยเหลือพร้อมแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งการจะเป็นความผิดดังกล่าวได้ ต้องเป็นผู้ขับรถที่กำลังแล่นอยู่ หาใช่กรณีผู้ขับรถที่จอดหรือหยุดรถไม่ เมื่อเหตุเกิดขณะจำเลยจอดรถ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นตามบทมาตราดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้ยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์และฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องในข้อหาดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 215, 225

คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 61, 78, 151, 157,160 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, 91

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (3), (4), 151 (ที่ถูกมาตรา 157) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 61, 78, 157, 160 (ที่ถูกมาตรา 78 วรรคหนึ่ง, 151, 160 วรรคหนึ่ง) การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เฉพาะความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 3 ปี ฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์ของผู้อื่นไม่ให้ความช่วยเหลือ และแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 15 วัน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี 15 วัน

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 โทษจำคุกจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
“พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 และที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-1414 เชียงใหม่ พ่วงรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 70-1415 เชียงใหม่ ไปตามถนนพหลโยธินจากจังหวัดตากมุ่งหน้าไปจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อถึงหลักกิโลเมตรที่ 413-414 จำเลยที่ 1 จอดรถที่ไหล่ทางเพื่อตรวจยางรถ ต่อมาจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก 4067 กำแพงเพชร มีนายราม ชูกร่อน ผู้ตายโดยสารมาด้วย มุ่งหน้าในทิศทางเดียวกันด้วยความเร็วสูงและด้วยความประมาทชนท้ายรถพ่วงดังกล่าวด้านขวา เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส และรถทั้งสองคันเสียหาย หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไม่หยุดให้ความช่วยเหลือตามสมควรไม่แสดงตัวและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในทันที มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายบุญเลิศ อินยาโส เบิกความว่าพยานขับรถไปตามถนนเกิดเหตุ เมื่อถึงที่เกิดเหตุเห็นรถที่จำเลยที่ 2 ขับชนท้ายรถพ่วง รถพ่วงไม่ได้เปิดไฟและด้านท้ายรถพ่วงอยู่ในลักษณะเฉียงออกถนนไม่ชิดขอบทางในส่วนที่ไม่ราดยาง พยานไปแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจที่ตู้ยามทราบ จ่าสิบตำรวจจรัล จารณะ เบิกความเป็นพยานโจทก์สนับสนุนว่าเมื่อได้รับแจ้งจากนายบุญเลิศได้ออกไปดูที่เกิดเหตุ เห็นรถยนต์ด้านหน้าพังยับเยินจอดอยู่ท้ายรถพ่วงซึ่งจอดอยู่ข้างทาง รถพ่วงไม่ได้เปิดไฟกระพริบแต่เปิดไฟหรี่ไว้ บริเวณที่เกิดเหตุไม่มีแสงไฟฟ้า นางสุนันท์ วรน้อย ภริยาจำเลยที่ 1 ซึ่งนั่งรถมากับจำเลยที่ 1 ด้วยในวันเกิดเหตุ

เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกและรถพ่วงบรรทุกแร่มาจากจังหวัดลำพูน เมื่อถึงที่เกิดเหตุจำเลยที่ 1 จอดรถบริเวณไหล่ทางซึ่งมีความกว้างเท่ากับช่องเดินรถ 1 ช่อง โดยท้ายรถพ่วงด้านขวาเอียงเข้ามาในช่องเดินรถเล็กน้อย ร้อยตำรวจเอกนฤมิตร ศิลปศรแก้ว พนักงานสอบสวนเบิกความว่าเมื่อไปถึงที่เกิดเหตุพบรถเก๋งชนท้ายรถพ่วงจอดอยู่บริเวณไหล่ทาง ส่วนท้ายรถพ่วงล้ำเข้ามาในช่องเดินรถ พยานทำแผนที่สังเขปแสดงที่เกิดเหตุ ถ่ายภาพที่เกิดเหตุ เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกัน ไม่มีพิรุธ โดยเฉพาะร้อยตำรวจเอกนฤมิตร พนักงานสอบสวนเป็นผู้ไปตรวจที่เกิดเหตุในคืนเกิดเหตุซึ่งรถยนต์ทั้งสองคันยังคงอยู่ในที่เกิดเหตุ ได้จัดทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ลงชื่อรับรองความถูกต้องไว้ ที่จำเลยที่ 1 โต้แย้งว่าพนักงานสอบสวนให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อก่อนโดยยังไม่ได้วาดแผนที่และรถของจำเลยที่ 1 จอดชิดขอบถนนมากกว่าที่พนักงานสอบสวนระบุไว้ในแผนที่ดังกล่าวนั้น เป็นการกล่าวอ้างโดยไม่มีพยานมาสนับสนุนจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ปรากฏว่ารถยนต์บรรทุกและรถพ่วงที่จำเลยที่ 1 ขับจอดอยู่ตรงไหล่ทางซึ่งทำเป็นช่องเว้าเข้าไปจากแนวถนนเพื่อให้จอดรถโดยหัวรถยนต์บรรทุกอยู่ห่างขอบถนนด้านซ้ายประมาณ 1 เมตร และส่วนท้ายของรถพ่วงด้านซ้ายอยู่ห่างขอบถนนประมาณ 2.6 เมตร และส่วนท้ายรถพ่วงด้านขวาอยู่ห่างแนวเส้นแบ่งกลางถนนประมาณ 5 เมตร เมื่อพิจารณาจากแนวถนนช่องเดินรถของจำเลยที่ 1 ซึ่งกว้างประมาณ 6 เมตร จึงฟังได้ว่ารถยนต์บรรทุกคันที่จำเลยที่ 1 ขับจอดในลักษณะไม่ขนานไปกับแนวขอบถนนด้านซ้ายโดยมีส่วนรถพ่วงด้านหลังข้างขวาเฉียงล้ำเข้าไปในช่องเดินรถ ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน บริเวณที่เกิดเหตุมีเสาไฟฟ้าแต่ไม่ได้เปิดไฟไว้และไม่ปรากฏว่ามีแสงสว่างจากที่ใดอีก ตรงที่เกิดเหตุจึงมีแสงสว่างไม่เพียงพอที่ผู้ขับขี่จะมองเห็นรถที่จำเลยที่ 1 จอดไว้ได้โดยชัดแจ้งในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร จำเลยที่ 1 ต้องเปิดไฟหรือใช้แสงสว่างตามประเภท ลักษณะและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ข้อ 14

กล่าวคือเมื่อผู้ขับขี่จอดรถในทางเดินรถหรือไหล่ทางหากเป็นกรณีที่เป็นรถยนต์ต้องใช้โคมไฟเล็ก โคมไฟท้ายและโคมไฟส่องป้ายทะเบียนรถและในกรณีที่เป็นรถพ่วงต้องใช้โคมไฟสีติดไว้ด้านข้างตัวถังรถแต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้เปิดไฟหรือใช้แสงสว่างดังกล่าว คงได้ความจากจำเลยที่ 1 ว่าเปิดไฟกะพริบพร้อมกับไฟหรี่ไว้เท่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้ความว่าจะพอเพียงที่จะทำให้ผู้ขับรถยนต์แล่นมาในช่องเดินรถที่เกิดเหตุเห็นได้ชัดเจนพอที่จะหลีกเลี่ยงหรือห้ามล้อได้ทันหรือไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้เปิดไฟหรือใช้แสงสว่างตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าวและจอดรถในลักษณะที่ส่วนท้ายของรถพ่วงล้ำเข้ามาในช่องเดินรถจึงเป็นการกระทำโดยประมาทและเป็นเหตุให้เกิดการชนกันดังกล่าว จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เหตุเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 2 แต่ฝ่ายเดียวฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง และ 160 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง, 160 วรรคหนึ่ง ต้องเป็นผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นและไม่หยุดให้ความช่วยเหลือพร้อมแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งการจะเป็นความผิดดังกล่าวได้ต้องเป็นผู้ขับรถที่กำลังแล่นอยู่หาใช่กรณีผู้ขับรถที่จอดหรือหยุดรถไม่ เมื่อเหตุเกิดขณะจำเลยจอดรถจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นตามบทมาตราดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้ยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์และฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องในข้อหาดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 215, 225

ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานดังกล่าว ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนที่จำเลยที่ 1 ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า หลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาแล้วจำเลยที่ 1 ตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นางพรอนงค์ ชูกลิ่น ภรรยาผู้ตาย 400,000 บาท จนภรรยาผู้ตายและทายาทพอใจปรากฏหลักฐานตามบันทึกการรับเงินและเอกสารประกอบแนบท้ายฎีกา เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยรับโทษจำคุกมาก่อนและพิจารณาประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว กรณีมีเหตุอันสมควรที่จะรอการลงโทษให้จำเลยที่ 1 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง, 160 วรรคหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี โทษจำคุกจำเลยที่ 1 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

สรุป รถจอดกีดขวาง ไม่มีความผิดฐานชนแล้วหลบหนี

Facebook Comments