Home คดีอาญา คดีฉ้อโกงประชาชน ฟ้องเอง ถอนฟ้องหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาได้หรือไม่

คดีฉ้อโกงประชาชน ฟ้องเอง ถอนฟ้องหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาได้หรือไม่

7202

คดีฉ้อโกงประชาชน ฟ้องเอง ถอนฟ้องหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาได้หรือไม่

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา ม. 343
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 35 วรรคแรก, 39 (2)

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ให้จำเลยคืนเงิน 885,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1443/2554 ของศาลชั้นต้น

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน กับให้จำเลยคืนเงิน 885,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องวันที่ 6 กรกฎาคม 2554 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ส่วนที่โจทก์มีคำขอนับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1443/2554 นั้น ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีดังกล่าวออกจากสารบบความแล้ว เนื่องจากโจทก์ถอนฟ้องจำเลยในคดีดังกล่าว จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ยกคำขอนับโทษต่อเสีย

จำเลยอุทธรณ์

ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยไม่คัดค้าน ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกคำร้อง

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำคุก 2 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ยกคำร้องในส่วนแพ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อโจทก์ถอนฟ้อง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ศาลต้องจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความนั้น เห็นว่า ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จึงไม่อาจถอนฟ้องหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 วรรคแรก สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยชักชวนประชาชนทั่วไปรวมทั้งโจทก์ให้เข้าร่วมลงทุนของวิสาหกิจชุมชนและองค์กรเกษตรสกลนครว่า หากผู้เข้าร่วมลงทุนสมัครเข้าเป็นสมาชิกสมทบจะได้กู้ยืมเงินจำนวน 10 เท่าของเงินค่าหุ้นสมทบและได้รับการกู้ยืมเงินระยะยาวโดยไม่มีดอกเบี้ย และชักชวนโจทก์กับประชาชนทั่วไปให้นำเงินมาซื้อขายหุ้นสมทบหรือเพิ่มเงินค่าหุ้นสมทบโดยให้นำเงินมาชำระให้จำเลยหรือให้นำเงินโอนเข้าบัญชีของธนาคาร โดยแจ้งว่าถ้าจ่ายให้จำเลยแล้วจะนำเงินจำนวนดังกล่าวไปโอนเข้าบัญชีโดยให้ถือว่าโจทก์ได้สมัครเป็นสมาชิกของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนและองค์กรเกษตรสกลนครโดยทันที อันเป็นข้อความที่เป็นเท็จ สภาพของความผิดที่จำเลยได้กระทำไปเป็นที่เห็นได้ว่าผู้กระทำผิดต้องเห็นได้ล่วงหน้าว่าเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนเป็นทวีคูณแก่โจทก์และประชาชน ทั้งเป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่สุจริต อาศัยโอกาสจากการที่ผู้ที่เดือดร้อนต้องใช้เงินมาเป็นช่องทางให้กระทำสำเร็จได้เช่นนี้ ทั้งการกระทำของจำเลยกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือเคยให้การช่วยเหลือสังคม หรือชดใช้เงินคืนแก่โจทก์แล้ว หรือมีเหตุอื่น ๆ ตามที่อ้างในฎีกา ก็ไม่มีเหตุเพียงพอ ที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

มีปัญหาคดีควาปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments