Home คดีอาญา รวมคำพิพากษาศาลฎีกา ร้องขอถอนผู้จัดการมรดก

รวมคำพิพากษาศาลฎีกา ร้องขอถอนผู้จัดการมรดก

11709

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2150/2561

การร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องได้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแล้วโดยไม่มีทรัพย์มรดกของผู้ตายหลงเหลือให้จัดการอีกต่อไป จึงถือได้ว่าผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้ว แม้ผู้คัดค้านจะอ้างเหตุว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกโดยมีเจตนาทุจริตปกปิดผู้คัดค้านและบุตรซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ทั้งได้โอนทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิ หรือมีเหตุอื่นตามกฎหมายอันอาจเป็นเหตุในการร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าการปันมรดกรายดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้น การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกภายหลังการปันมรดกเสร็จสิ้นแล้วย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8623/2560

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ย่อมเป็นการตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนทายาททั้งหมด การที่ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ ป. เพียงผู้เดียว ขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกแทน ประเด็นแห่งคดีระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านทั้งสองจึงขึ้นอยู่กับว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมดังกล่าวหรือไม่ เมื่อศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ตายทำพินัยกรรม การที่ผู้ร้องคัดค้านมาร้องอ้างการสืบสิทธิผู้สืบสันดานในฐานะทายาทโดยธรรม ขอให้ศาลตั้งผู้ร้องคัดค้านและผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก โดยอ้างว่าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมดังกล่าวอีก อันเป็นประเด็นข้อพิพาทโต้เถียงอย่างเดียวกัน แม้ผู้ร้องคัดค้านไม่เคยเข้าเป็นคู่ความในคดีส่วนที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา แต่เมื่อผู้ร้องคัดค้านร้องคัดค้านในประเด็นข้อพิพาทที่ผู้ร้องได้ต่อสู้แทนผู้ร้องคัดค้านแล้ว จึงเป็นการรื้อร้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุเดียวกัน คำร้องของผู้ร้องคัดค้านจึงเป็นร้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ผู้ร้องเคยส่งสำเนาพินัยกรรมพิพาทไปตรวจพิสูจน์แล้วยื่นเสนอเป็นพยานหลักฐานขอให้ศาลฎีกาใช้ประกอบการพิจารณา แต่ศาลฎีกาไม่อนุญาต คำสั่งของศาลฎีกาดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันผู้ร้องคัดค้าน ผู้ร้องคัดค้านจึงไม่อาจอ้างการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7069/2560

อุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 2 ที่ ป. ซึ่งถูกถอนออกจากการเป็นทนายความลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์และผู้เรียง/พิมพ์ โดยไม่ได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจใช้สิทธิอุทธรณ์นั้น ถือเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องที่ 2 ลงชื่อในอุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 2 ได้ และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังเท่ากับศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ผู้ร้องที่ 2 แก้ไขข้อบกพร่องนั้นแล้ว อุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 2 จึงเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 2 ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยและพิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 2 นั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามลำดับชั้นศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6905/2560

ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท แสดงว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกสามารถทำได้ 2 วิธี คือ ทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท ได้ความว่าผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกพยายามแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินทั้งเจ็ดแปลงให้แก่ทายาท แต่ตกลงกันไม่ได้ว่าทายาทคนใดจะได้รับที่ดินแปลงใด จึงแจ้งให้ทายาทไปรับมรดกที่ดินทั้งเจ็ดแปลงตามสัดส่วน โดยการใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินตามสัดส่วนที่ทายาทแต่ละคนมีสิทธิได้รับตามพินัยกรรม แสดงว่าผู้ร้องยังสามารถแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินทั้งเจ็ดแปลงโดยการให้ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 และทายาทอื่นเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นสัดส่วนโดยการใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินตามสัดส่วนตามสิทธิที่แต่ละคนจะได้รับได้ โดยอาจขอให้ศาลมีคำสั่งให้ใส่ชื่อผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 และทายาททุกคนถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทรัพย์มรดก หากผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 หรือทายาทอื่นไม่ไป ให้ถือเอาคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาได้ กรณีจึงยังไม่เป็นเหตุให้ต้องขายทอดตลาดที่ดินทั้งเจ็ดแปลงเพื่อนำเงินมาแบ่งปันกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4067/2560

เมื่อผู้ตายยังมีทายาทโดยธรรมและร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเข้ามาเช่นนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมย่อมสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายยิ่งกว่าผู้คัดค้านซึ่งเป็นเพียงเจ้าของรวมในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันมากับผู้ตายในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ทั้งทรัพย์สินที่มีชื่อผู้ตายถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นของมารดาผู้คัดค้านและผู้ตาย เป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้าน และเป็นทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตาย แสดงว่าผู้คัดค้านมีข้อโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สินของผู้ตายเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกและผู้คัดค้านเอง ไม่ใช่กระทำไปเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก ซึ่งย่อมเป็นอุปสรรคต่อการรวบรวม จัดการและแบ่งทรัพย์มรดกให้ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย นอกจากนี้ในคดีที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันชีวิตนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องของผู้คัดค้านด้วยเหตุผลว่าผู้คัดค้านมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลอมลายมือชื่อของผู้ตาย น่าเชื่อว่าผู้คัดค้านวางแผนทำสัญญาประกันชีวิตให้ผู้ตายเพื่อต้องการได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขในกรมธรรม์มากกว่าทำสัญญาประกันชีวิตเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตให้ผู้ตาย ผู้คัดค้านใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทน และผู้ร้องยังฟ้องผู้คัดค้านต่อศาลชั้นต้นในข้อหาเบิกความเท็จ นำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีที่ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว ยิ่งแสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

การที่ศาลใช้ดุลพินิจตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกนั้น นอกจากจะต้องเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แล้ว ศาลยังจะต้องพิเคราะห์ถึงเหตุอื่น ๆ เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกที่จะต้องจัดการนั้นด้วย ทั้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าการที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย เป็นเหตุให้ผู้คัดค้านได้รับประโยชน์จากการทำสัญญาประกันชีวิตของผู้ตายแต่ผู้เดียวสูงถึง 22,000,000 บาทเศษ อันเป็นเรื่องผิดปกติทั้งๆ ที่ผู้คัดค้านเป็นภริยาซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาก่อนผู้ตายจะเสียชีวิตเพียง 2 ปีเศษ อีกทั้งสาเหตุที่ผู้ตายถูกคนร้ายยิงจนถึงแก่ความตายยังมีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่าผู้คัดค้านมีส่วนรู้เห็นที่ผู้ตายถูกยิงหรือไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยถึงความน่าเชื่อถือในตัวผู้คัดค้านว่าสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ส่วนการวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านมีข้อโต้แย้งว่าทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยาไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย และกิจการโรงเรียนกวดวิชาขาดทุนและปิดกิจการไปแล้ว ประกอบกับการที่ผู้ร้องยื่นฟ้องผู้คัดค้านข้อหาเบิกความเท็จ แสดงว่าต่างมีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย การจัดการมรดกร่วมกันมีข้อขัดข้อง ไม่อาจจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกกันต่อไปได้ ทั้งหมดเหล่านี้ย่อมเป็นการวินิจฉัยถึงเหตุอื่นๆ เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกที่จะต้องจัดการต่อไปประกอบการตั้งผู้จัดการมรดกหรือการเพิกถอนผู้จัดการมรดกคนใดคนหนึ่ง ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกสำนวน และเมื่อประเด็นที่ว่า ผู้คัดค้านละเลยต่อหน้าที่ในการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3790/2560

คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องคัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ทั้งผู้คัดค้านที่ 2 และฝ่ายผู้ร้องคัดค้านที่ 1 ต่างยื่นคำร้องขอให้ถอนอีกฝ่ายออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า มีเหตุสมควรที่จะถอนผู้ร้องคัดค้านที่ 1 หรือผู้คัดค้านที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกเพราะเหตุละเลยไม่ทำตามหน้าที่หรือมีเหตุอย่างอื่นที่สมควรหรือไม่ การที่ผู้ร้องคัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ตกลงท้ากันให้ศาลชั้นต้นชี้ขาดว่าที่ดินมรดกของผู้ตายเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรสของผู้ตาย เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยอันมีผลให้คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถูกถอนออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก โดยมิใช่เหตุตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงมิใช่เป็นการตกลงกันเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีนี้โดยตรง เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันเป็นคดีอื่นต่างหาก การที่ศาลชั้นต้นไม่ดำเนินการไต่สวนคำร้องขอแต่กลับพิจารณาตามคำท้าหรือข้อตกลงของคู่ความทั้งสองฝ่าย ถือเป็นการที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามกฎหมาย เห็นควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งใหม่ให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2210/2559

การร้องขอถอนผู้จัดการมรดกก่อนปันมรดกเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 เป็นเรื่องอำนาจฟ้องหรืออำนาจยื่นคำร้องอันเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

ศาลจ้าวใต้เซียฮุดโจ๊วตั้งอยู่ในที่ดินซึ่งรัฐเป็นเจ้าของหรือผู้ปกปักรักษาตามกฎเสนาบดีกระทรวงนครบาลและกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 15 มีนาคม 2463 ออกตามความใน พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 123 เป็นกุศลสถานสำหรับมหาชนแม้ผู้ตายจะเป็นผู้ดูแลขณะมีชีวิต ก็หาทำให้ศาลจ้าวใต้เซียฮุดโจ๊วตลอดทั้งทรัพย์สินและผลประโยชน์ของศาลจ้าวนั้นเป็นมรดกของผู้ตายอันจะตกแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง ที่ผู้ตายจะกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินในพินัยกรรมได้ แม้จะกำหนดไว้ในพินัยกรรมก็ไม่มีผลบังคับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646

ผู้ตายเป็นผู้จัดการปกครองดูแลศาลจ้าวใต้เซียฮุดโจ๊วจะต้องมีคุณสมบัติตามกฎเสนาบดีฯ ข้างต้น ซึ่งเป็นการประกอบกิจการอาชีพอันเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ย่อมไม่เป็นมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 อันจะตกแก่ทายาทตาม มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง

ตามพินัยกรรมที่ผู้ตายทำเมื่อไม่มีทรัพย์สินที่ตามพินัยกรรมที่จะปันแก่ทายาท และทรัพย์สินนอกพินัยกรรมของผู้ตายก็ไม่มีแล้ว การจัดการมรดกของผู้ตายโดยผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกย่อมเสร็จสิ้น ผู้คัดค้านจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 585/2559

ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการมรดกเพื่อแบ่งปันแก่ทายาท ศาลเป็นเพียงผู้ดูแลให้ผู้จัดการมรดกปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อให้การจัดการมรดกเป็นไปโดยเรียบร้อยเท่านั้นส่วนวิธีการจัดการเป็นอำนาจของผู้จัดการมรดก ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลชั้นต้นจึงย่อมมีสิทธิและอำนาจในการนำที่ดินบางส่วนของทรัพย์มรดกไปจดทะเบียนให้เช่าเองได้โดยไม่จำต้องขออนุญาตจากศาล แม้คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้ร้องดำเนินการให้เช่าที่ดินบางส่วนของทรัพย์มรดกจะเป็นคำสั่งที่เกินเลยประเด็นแห่งคดีก็ตาม แต่ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้คัดค้านที่จะอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้น หากผู้คัดค้านเห็นว่าตนเองได้รับความเสียหายจากการจัดการมรดกของผู้ร้อง ผู้คัดค้านชอบที่จะใช้สิทธิฟ้องร้องให้ผู้ร้องรับผิดในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5546/2558

โจทก์ฟ้องคดีนี้อ้างว่า โจทก์ได้รับโอนมรดกที่ดินพร้อมตึกแถวมาจากผู้จัดการมรดกของ พ. จำเลยทั้งสามอยู่ในที่ดินโดยไม่มีสิทธิ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและตึกแถวพิพาท ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) แต่เนื้อหาตามคำร้องสอดของผู้ร้องสอดอ้างว่า ก่อน พ. ซึ่งเป็นมารดาของผู้ร้องสอดถึงแก่ความตายโจทก์กับพวกร่วมกันทำพินัยกรรมของ พ. ปลอมขึ้น หลังจาก พ. ถึงแก่ความตาย ผู้จัดการมรดกของ พ. โอนที่ดินและตึกแถวดังกล่าวของผู้ร้องสอดให้แก่โจทก์โดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำร้องสอดในคดีนี้จึงเป็นการตั้งสิทธิเข้ามาในฐานะเป็นปฏิปักษ์กับโจทก์ เพื่อขอให้ศาลรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องสอด เป็นคำร้องสอดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) เมื่อสิทธิที่ผู้ร้องสอดอ้างว่าถูกโจทก์โต้แย้งนี้ผู้ร้องสอดได้ฟ้องโจทก์กับพวกเป็นคดีอาญาและคดีแพ่งว่า พินัยกรรมของ พ. เป็นโมฆะแล้ว ซึ่งการวินิจฉัยให้มีผลตามคำร้องสอดก็ต้องวินิจฉัยว่า พินัยกรรมปลอมหรือเป็นโมฆะหรือไม่เช่นกัน เมื่อคำฟ้องในคดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างพิจารณา คำร้องสอดของผู้ร้องสอดคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3356 – 3357/2558

เมื่อ ข. ถึงแก่ความตายย่อมเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ข. ที่จะเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินทั้งสองแปลงที่มีชื่อ ข. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่เมื่อโจทก์ที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ถึงแก่ความตายระหว่างฎีกา จึงไม่สามารถบังคับโจทก์ที่ 3 ได้ คงได้แต่อาศัยคำพิพากษาศาลแสดงเจตนาแทนโจทก์ที่ 3 ตามคำขอท้ายฟ้องเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2832 – 2833/2558

เหตุตามคำฟ้องของจำเลยในสำนวนที่สองที่ขอให้ศาลชั้นต้นสั่งถอนโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดกของ ป. คือ พินัยกรรมที่กำหนดให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกนั้นเป็นพินัยกรรมปลอม ซึ่งเป็นเหตุที่มีอยู่ก่อนที่จำเลยจะสืบสิทธิของ บ. ในการรับมรดกของ ป. ทั้งยังเป็นเหตุเดียวกันกับที่ บ. เคยคัดค้านคำร้องขอจัดการมรดกของโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 8225/2534 เมื่อ บ. ถึงแก่ความตาย จำเลยยื่นคำร้องขอเข้ารับมรดกความแทน แต่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคำร้องดังกล่าวเป็นการเฉพาะตัวของ บ. จึงไม่อนุญาตให้จำเลยเข้าเป็นคู่ความแทน เมื่อจำเลยอ้างเหตุเดียวกันขึ้นมาและมิได้เป็นเรื่องโต้แย้งสิทธิของจำเลยมาให้ศาลพิจารณาว่าเป็นเหตุให้ถอนโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดกของ ป. ซ้ำอีก อันเป็นการขอให้วินิจฉัยในข้อที่ศาลได้เคยวินิจฉัยไว้แล้ว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

เมื่อพินัยกรรมมีผลบังคับได้ตามกฎหมายทั้งสองฉบับ และปรากฏว่าพินัยกรรมขัดกันเฉพาะบางส่วน ป.พ.พ. มาตรา 1697 ให้ถือว่าพินัยกรรมฉบับก่อนเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลังเฉพาะในส่วนที่มีข้อความขัดกันเท่านั้น

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2052/2558

แม้ผู้ร้องไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่ขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น อำนาจปกครอง ณ. อยู่กับผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องจึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1569 ซึ่งการยื่นคำร้องขอดังกล่าวผู้ร้องมิได้ยื่นในฐานะส่วนตัวแต่ยื่นในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ในคำร้องขอนั้นนอกจากมีข้ออ้างว่ามีการยักย้ายทรัพย์มรดกของผู้ตายแล้วยังมีข้ออ้างว่าผู้ร้องได้รับคำบอกเล่าว่าแท้จริงผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ ณ. ไว้ด้วย ดังนั้นการยื่นคำร้องขอของผู้ร้องจึงเป็นไปตามหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองเพื่อระวังรักษาประโยชน์ของ ณ. ให้ได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสิทธิที่แท้จริง ผู้ร้องในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองของ ณ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ที่มีสิทธิจะร้องต่อศาลขอให้ถอนผู้จัดการมรดกหรือขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2046/2558

ป.วิ.พ. มาตรา 24 มิใช่บทบังคับให้ศาลต้องวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามคำขอของคู่ความทุกเรื่อง ถ้าเห็นว่าการวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าวไม่เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายที่ขอหรือคดีจำเป็นต้องดำเนินการพิจารณาต่อไป ศาลชั้นต้นมีอำนาจใช้ดุลพินิจและมีคำสั่งให้รอไว้วินิจฉัยในคำพิพากษาได้

ในการพิจารณาคำร้องขอของผู้ร้องครั้งแรกในศาลชั้นต้น ผู้คัดค้านมิได้เป็นคู่ความในคดีและประเด็นในการวินิจฉัยของศาลชั้นต้นครั้งแรกเป็นเรื่องผู้ร้องเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นว่าพินัยกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ส่วนประเด็นครั้งหลังเป็นเรื่องสมควรถอดถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ทั้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 ว่า เมื่อมีเหตุอันสมควร ศาลมีอำนาจถอนผู้จัดการมรดกเสียได้ เมื่อผู้คัดค้านร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอ้างว่าพินัยกรรมปลอมแต่ผู้ร้องคัดค้านคำร้องขอของผู้คัดค้าน ดังนี้ คำร้องขอของผู้คัดค้านและคำคัดค้านของผู้ร้อง จึงเป็นคำคู่ความที่จะก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท ซึ่งแตกต่างจากประเด็นในการพิจารณาครั้งแรก จึงถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @Lawyers.in.th

Facebook Comments