Home คดีครอบครัว ความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร สามารถยอมความกันได้หรือไม่

ความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร สามารถยอมความกันได้หรือไม่

8034

คำถาม

ความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร สามารถยอมความกันได้หรือไม่

เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก (เดิม) กฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่ละเมิดอำนาจปกครองดูแลเด็กของบุคคลดังกล่าว อันเป็นการคุ้มครองเด็กมิให้ถูกล่อลวงไปในทางเสียหาย ดังนั้น การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล จึงไม่ต้องถึงขนาดเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้เด็กปราศจากอิสระในการเคลื่อนไหวหรือควบคุมเด็กไว้ เพราะการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก การจะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก (เดิม) สาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่า การพาไปหรือแยกเด็กไปนั้นได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวให้ไปกับบุคคลที่พาไปหรือไม่ หรือมิฉะนั้นบุคคลที่พาเด็กนั้นไปจะต้องมีเหตุอันสมควร หากการพาหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาเด็กไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาเด็ก การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล

สำหรับการกระทำอนาจาร หมายถึง การกระทำที่ไม่สมควรทางเพศ เช่น กอดจูบ ลูบคลำ แตะต้องเนื้อตัวร่างกายในทางไม่สมควร

ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นเด็กอายุ 10 ปีเศษ ยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดา การที่จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายถีบรถจักรยานยนต์คันที่ผู้เสียหายที่ 3 ขับมาจนทำให้ผู้เสียหายที่ 3 จำต้องหยุดรถ แล้วจำเลยจับแขนดึงผู้เสียหายที่ 3 เข้ามากอด หอมที่ซอกคอ จับนมของผู้เสียหายที่ 3 แล้วล็อกคอของผู้เสียหายที่ 3 ลากเข้าไปในป่ามันสำปะหลังข้างทาง เป็นเหตุให้ขาของผู้เสียหายที่ 3 เกี่ยวกับลวดหนามได้รับบาดเจ็บ โดยผู้เสียหายที่ 3 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ และโดยผู้เสียหายที่ 3 ไม่ยินยอม การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการพาไปหรือแยกผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นเด็กไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดา เพื่อกระทำการที่ไม่สมควรทางเพศ จำเลยจึงมีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร

เมื่อปรากฏหลักฐานตามเอกสารแนบท้ายคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยซึ่งโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านว่า ภายหลังจากที่จำเลยกระทำความผิด จำเลยกราบขอขมาผู้เสียหายทั้งสามต่อหน้าผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและปลัดหมู่บ้าน โดยผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ให้อภัยจำเลยและไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลย ถือเป็นกรณีที่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดาของผู้เสียหายที่ 3 ได้ยินยอมแทนผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เยาว์แล้ว อันเป็นการยอมความกันตามกฎหมาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (5) และมาตรา 5 (1) เมื่อความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 284 วรรคแรก (เดิม) เป็นความผิดอันยอมความได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

 

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลนไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments