Home บทความ ยอมรับมอบเอางานที่ชำรุโดยไม่อิดเอื้อน ฟ้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

ยอมรับมอบเอางานที่ชำรุโดยไม่อิดเอื้อน ฟ้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

950

ยอมรับมอบเอางานที่ชำรุโดยไม่อิดเอื้อน ฟ้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคาร โจทก์ทำหนังสือค้ำประกันการรับเงินล่วงหน้าร้อยละสิบของธนาคารให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกัน โจทก์ทำงานแล้วเสร็จถูกต้อง จำเลยได้รับมอบงานงวดสุดท้ายกับจ่ายเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายให้โจทก์แล้ว คงเหลือเงินประกันความเสียหายภายใน 12 เดือนซึ่งจำเลยจะต้องส่งมอบให้โจทก์ทันทีเมื่อโจทก์มอบหนังสือค้ำประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 12 เดือน และจำเลยต้องคืนหนังสือค้ำประกันการรับเงินล่วงหน้า โจทก์จัดทำหนังสือค้ำประกันของธนาคารเพื่อประกันความเสียหายแล้วจึงแจ้งให้จำเลยชำระเงินประกันความเสียหายที่หักไว้ และรับหนังสือค้ำประกันของธนาคารเพื่อประกันความเสียหาย กับส่งมอบหนังสือค้ำประกันการรับเงินล่วงหน้า แต่จำเลยเพิกเฉย จึงฟ้องขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยให้ปฏิบัติดังกล่าว

จำเลยให้การว่า โจทก์ก่อสร้างไม่ถูกต้องตามสัญญา จำเลยมีสิทธิหักค่าเสียหายออกจากเงินประกันความเสียหาย และโจทก์ยังต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยอีก โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้ตั้งอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาทก่อน จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ก่อสร้างถูกต้องแล้วเสร็จตามสัญญา และข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยไม่ต้องตั้งอนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อนฟ้อง แต่โจทก์มีหน้าที่ส่งมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารแก่จำเลย ศาลไม่อาจบังคับให้จำเลยรับได้พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 1,088,733บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้จำเลยส่งมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยรับมอบงานและจ่ายเงินค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งหมดรวมทั้งงานงวดที่ 6ซึ่งเป็นงานงวดสุดท้ายโดยมิได้โต้แย้งคัดค้านว่าโจทก์ทำงานไม่ถูกต้องตามสัญญาทำให้จำเลยต้องเสียหายตามที่จำเลยให้การประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 598 บัญญัติว่า ‘ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วทั้งชำรุดบกพร่องมิได้อิดเอื้อนโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยาย ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิดเว้นแต่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นเช่นจะไม่พึงพบได้ในขณะเมื่อรับมอบหรือผู้รับจ้างได้ปิดบังความนั้นเสีย’ดังนี้ แม้ถึงหากจะรับฟังตามที่จำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ทำงานตามสัญญาไม่ถูกต้องเป็นเหตุให้อาคารที่ก่อสร้างเสียหาย เมื่อปรากฏว่าจำเลยรับมอบงานและจ่ายค่าจ้างงานทั้งหมดรวมทั้งงานงวดที่ 6 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายโดยมิได้โต้แย้งคัดค้าน งานที่ดจทก์ทำชำรุดบกพร่องโดยชัดแจ้งย่อมถือว่าจำเลยรับมอบงานที่ทำนั้นแล้วทั้งชำรุดบกพร่องมิได้อิดเอื้อน โจทก์ผู้รับจ้างจึงไม่ต้องรับผิดการที่ทำชำรุดบกพร่องจำเลยจะกล่าวอ้างว่าที่ต้องรับมอบเพราะมีความจำเป็นไม่ได้ เพราะกฎหมายให้สิทธิจำเลยที่จะรับมอบงานนั้นโดยโต้แย้งไว้ได้ แต่จำเลยละเลยไม่ใช้สิทธิตามกฎหมายเป็นความผิดพลาดของจำเลยเอง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างที่หักเป้นประกันแก่โจทก์ตามฟ้อง คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ทำงานไม่ถูกต้องตามสัญญาและไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ขอระบุพยานเพิ่มเติมเพื่อนำสืบว่าโจทก์ทำงานไม่ถูกต้องตามสัญญาอีกต่อไป ส่วนที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องโดยมิได้ตั้งอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาทก่อน ปรากฏว่าโจทก์จำเลยทำหนังสือสัญญาว่าจ้างรายพิพาทเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 พร้อมคำแปลที่แก้ไขแล้วเป็นภาษาไทยซึ่งจำเลยมิได้โต้แย้งว่าคำแปลนั้นไม่ถูกต้อง มีข้อความว่า หากมีการตั้งอนุญาโตตุลาการกันขึ้น ให้กระทำในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ดังนั้น ตามสัญญาดังกล่าวจึงหาได้บังคับว่าหากมีข้อพิพาทคู่สัญญาจะต้องตั้งอนุญาโตตุลาการเสียก่อนไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้โดยมิต้องมีการตั้งอนุญาโตตุลาการเสียก่อน

พิพากษายืน.

  • สรุป
  • จำเลยผู้ว่าจ้างรับมอบงานและจ่ายค่าจ้างงานทั้งหมดให้โจทก์ผู้รับจ้างโดยมิได้โต้แย้งคัดค้านงานที่โจทก์ทำชำรุดบกพร่องโดยชัดแจ้ง ย่อมถือว่าจำเลยรับมอบงานที่ทำนั้นแล้วทั้งชำรุดบกพร่องมิได้อิดเอื้อน โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดสำหรับงานที่ทำชำรุดบกพร่อง จำเลยจะกล่าวอ้างว่าต้องรับมอบงานเพราะมีความจำเป็นไม่ได้

    สัญญาว่าจ้างมีข้อความว่า หากมีการตั้งอนุญาโตตุลาการกันขึ้นให้กระทำในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ดังนั้น ตามสัญญาดังกล่าวหาได้บังคับว่าหากมีข้อพิพาทคู่สัญญาจะต้องตั้งอนุญาโตตุลาการเสียก่อนไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้โดยมิต้องมีการตั้งอนุญาโตตุลาการก่อน

Facebook Comments