Home คดีอาญา รวมคำพิพากษาศาลฎีกาที่ยกฟ้อง เพราะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

รวมคำพิพากษาศาลฎีกาที่ยกฟ้อง เพราะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

18301

รวมคำพิพากษาศาลฎีกาที่ยกฟ้อง เพราะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7826/2560

บ. ได้รับแจ้งจากพลเมืองดีว่าที่ขนำที่เกิดเหตุมักจะมีวัยรุ่นมั่วสุมต้มและเสพน้ำต้มพืชกระท่อมเป็นประจำ บ. กับพวกรวม 6 คน จึงนำกำลังไปยังที่เกิดเหตุ พบจำเลยนั่งอยู่ปลายเตียงกำลังต้มใบพืชกระท่อมจึงได้ทำการตรวจค้น พบกระเป๋าสะพาย 1 ใบ วางอยู่บนชั้นวางของในขนำข้างประตูภายในมีอาวุธปืนพกลูกซองเดี่ยวขนาด 12 ไม่มีหมายเลขทะเบียน และกระสุนปืนลูกซองขนาด 12 จำนวน 3 นัด การที่พบจำเลยอยู่ในขนำที่เกิดเหตุเพียงคนเดียวและตรวจพบอาวุธปืนของกลางดังกล่าวอาจจะแสดงให้เห็นว่าจำเลยอาจจะมีส่วนร่วมหรือเป็นข้อพิรุธสงสัยที่แสดงว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดแต่ก็ไม่อาจรับฟังยืนยันเชิงตรรกะว่าจำเลยได้กระทำผิดนั้นจริง ในคดีอาญาโจทก์ต้องมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความชัดตามข้อกล่าวอ้าง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 174 แต่พยานโจทก์ยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยมีอาวุธปืนและลูกกระสุนปืนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง

สำหรับความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท แม้ศาลไม่จำต้องสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพ แต่เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ พฤติการณ์ของจำเลยที่เพียงต้มใบพืชกระท่อมแล้วกรองเอาน้ำที่ได้จากการต้ม 1 ถุง ปริมาตร 700 มิลลิลิตร ถือว่าเป็นเพียงวิธีการหนึ่งในการเสพและมีปริมาณเพียงเล็กน้อย การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้มาด้วยนั้น ไม่ชอบ และแม้จำเลยจะไม่อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาดังกล่าว แต่ถือเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4291/2561

โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นขณะเกิดเหตุ แต่โจทก์มีคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสามประกอบกับคำเบิกความของพนักงานสอบสวนแสดงรายละเอียดการกระทำความผิดตั้งแต่ตอนจำเลยที่ 1 ทาบทามว่าจ้างจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ฆ่าผู้ตายซึ่งเป็นภรรยาจำเลยที่ 1 ประชุมวางแผน ลงมือฆ่า ปลดเอาสร้อยข้อมือของผู้ตายกับแสร้งเอาสร้อยคอของจำเลยที่ 1 ไปซ่อน แล้วจำเลยที่ 1 ใช้เศษไม้ขูดคอตนเองให้เป็นรอยเพื่อแสร้งทำว่าถูกคนร้ายตี และจำเลยทั้งสามได้แสดงแผนประทุษกรรมประกอบคำรับสารภาพ ทั้งจำเลยที่ 1 ที่ 2ได้ขอขมาศพผู้ตายกับบิดาผู้ตาย แสดงถึงความสำนึกผิด และจำเลยที่ 1 ได้พาพนักงานสอบสวนไปเอาสร้อยข้อมือผู้ตายกับสร้อยคอของตนตรงที่ซ่อนไว้ ส่วนจำเลยที่ 2 ได้พาพนักงานสอบสวนไปเอาเหล็กขูดชาพท์ซึ่งใช้แทงผู้ตายที่ทิ้งไว้ขณะวิ่งหนี กับได้พบมีดปลายแหลมที่จำเลยที่ 3 ใช้แทงผู้ตายแล้วทิ้งไว้ ตรงตามสถานที่ที่ระบุไว้ในคำให้การ และจำเลยที่ 2 ได้พาพนักงานสอบสวนไปพบ อ.ที่ต่างจังหวัดให้นำไปยึดเอาสร้อยคอที่ร้านขายทองคืนมาด้วย นอกจากนี้โจทก์ยังมีคำให้การชั้นสอบสวนของ น. ร. กับ อ.ยืนยันว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ขอให้ น.นำสร้อยคอของกลางไปขายตรงตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ 3 พยานโจทก์จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1วานให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันพาอาวุธไปฆ่าผู้ตายและลักทรัพย์ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7404/2560

แม้ก่อนเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจได้รับแจ้งจากสายลับว่า จำเลยและ ส. มีพฤติกรรมลักลอบจำหน่ายยาเสพติดให้โทษให้แก่คนในหมู่บ้าน และได้วางแผนล่อซื้อให้สายลับเข้าไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนที่ศาลาที่พักที่เกิดเหตุ แต่เมื่อสายลับส่งสัญญาณให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมจำเลยกับพวก กลับพบโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขที่สายลับโทรติดต่อขอซื้อเมทแอมเฟตามีน และธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อของกลางที่ ว. ภริยาของ ส. ไม่ได้พบที่จำเลย และสายลับติดต่อทางโทรศัพท์เคลื่อนที่กับ ส. ไม่ใช่ติดต่อกับจำเลยโดยตรง เจ้าพนักงานตำรวจทั้งสามปากเบิกความขัดแย้งกันเรื่องจำเลย หรือ ส. ผู้ใดเป็นคนส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ ทั้งที่ต่างอ้างว่าซุ่มดูอยู่ห่างที่เกิดเหตุประมาณ 30 เมตร สามารถมองเห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจนไม่มีกำแพงหรือสิ่งใดบดบัง คำเบิกความจึงไม่น่าเชื่อถือ โจทก์ไม่ได้นำสายลับมาเบิกความยืนยันว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย โจทก์ฎีกาว่าบันทึกคำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของ ว. ระบุสอดคล้องกันว่า จำเลยร่วมจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนด้วย แม้คำรับสารภาพชั้นจับกุม กฎหมายห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับกุม ไม่ได้ห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำผิดคนอื่นก็ตาม แต่บันทึกคำให้การชั้นจับกุมก็ดี ชั้นสอบสวนก็ดี ล้วนเป็นพยานบอกเล่า ซึ่ง ว. เบิกความปฏิเสธว่า ลงชื่อในบันทึกการจับกุมโดยไม่ได้อ่าน ส่วนคำให้การชั้นสอบสวน ตนก็ไม่ได้ให้การเช่นนั้น จึงเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักน้อย เมื่อโจทก์ไม่มีพยานอื่นใดมานำสืบให้เห็นว่าจำเลยมีพฤติการณ์หรือร่วมรู้เห็นในการมีและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ประกอบกับจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอดพยานโจทก์เท่าที่นำสืบมามีข้อสงสัยตามสมควร ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.เยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6747/2560

ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 เป็นรองหัวหน้าพรรค ป. และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีโจทก์ที่ 2 เป็นภริยา ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรค พ. ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในขณะนั้น จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตรวจสอบพบว่า บริษัท ก. มีหลักเกณฑ์การปรับระดับชั้นที่นั่งโดยสารอยู่ 2 หลักเกณฑ์ คือ กรณีที่หนึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนดไว้ และอีกกรณีหนึ่งเป็นกรณีนอกหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนดไว้เป็นกรณีพิเศษว่าพนักงานระดับใดมีอำนาจอนุมัติและจะอนุมัติได้ในกรณีใดบ้าง จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตรวจสอบหลักฐานการเดินทางของโจทก์ทั้งสองและครอบครัวรวม 14 เที่ยวบิน มีการปรับระดับชั้นที่นั่งบัตรโดยสารของโจทก์ที่ 2 โดยใช้สิทธิบัตรทองอาร์โอพีคลับโกลด์ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในกรณีที่หนึ่งเพียงรายการเดียว รายการอื่นๆ นอกนั้นล้วนเป็นการปรับชั้นที่นั่งให้สูงขึ้นแบบนอกหลักเกณฑ์ โดยบางรายการมีการระบุผู้อนุมัติพร้อมเหตุผล แต่อีกหลายรายการระบุเพียงตัวผู้อนุมัติเท่านั้น แต่มิได้ระบุเหตุผล บางรายการอนุมัติด้วยวาจา บางรายการมิได้ระบุว่าอนุมัติด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษร พฤติการณ์แห่งคดีจึงมีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่า การอนุมัติปรับชั้นที่นั่งให้สูงขึ้นแก่โจทก์ทั้งสองและครอบครัวดำเนินการโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของบริษัทฯ หรือไม่ บริษัท ก. มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ การเลือกกรรมการบริษัทฯ กระทำโดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นเป็นผู้ลงคะแนนเลือก โดยก่อนที่จะนำรายชื่อของคณะกรรมการให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงคะแนนนั้น จะต้องมีการเสนอรายชื่อดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลังพิจารณาก่อน โดยสถานะและตำแหน่งกับอำนาจหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดังกล่าว เมื่อพิจารณาประกอบอัตราค่าโดยสารในแต่ละชั้นที่นั่ง เช่น สำหรับการเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ บัตรโดยสารชั้นประหยัดราคา 34,745 บาท ชั้นธุรกิจ ราคา 150,765 บาท และชั้นหนึ่ง ราคา 228,200 บาท ประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองกับครอบครัวได้รับจากการปรับระดับชั้นที่นั่งโดยสารให้สูงขึ้นรวม 14 เที่ยวบิน จึงอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้มิใช่จำนวนเล็กน้อย แม้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์ที่ 1 ใช้อภิสิทธิ์ใดๆ ในการเลื่อนชั้นบัตรที่นั่งโดยสารก็ตาม แต่โจทก์ที่ 1 ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีหน้าที่ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมที่จะต้องดูแลผลประโยชน์ของแผ่นดิน แม้พนักงานผู้มีอำนาจของบริษัทฯ จะพิจารณาอนุมัติเองโดยโจทก์ที่ 1 มิได้ร้องขอ โจทก์ที่ 1 เองก็ควรจะตระหนักรู้และอาจใช้วิจารณญาณได้ว่าสมควรที่โจทก์ที่ 1 จะรับหรือปฏิเสธประโยชน์ที่จะได้รับจากการอนุมัติปรับเลื่อนชั้นที่นั่งโดยสารรวม 14 เที่ยวบิน ซึ่งอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้มิใช่น้อยเช่นนั้น ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนใส่ความโจทก์ทั้งสองว่า ในการเลื่อนชั้นที่นั่งโดยสารของโจทก์ทั้งสองและครอบครัวอาจทำได้ในสองลักษณะ คือ 1 โจทก์ที่ 1 อาจใช้อำนาจและอภิสิทธิ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งให้พนักงานที่มีอำนาจดำเนินการอนุมัติให้เลื่อนชั้นบัตรโดยสารเป็นชั้นหนึ่งโดยไม่มีการจ่ายค่าโดยสารเพิ่มทั้งอาจมีการสั่งให้เลื่อนชั้นการเดินทางของบุตรจากชั้นประหยัดเป็นชั้นธุรกิจด้วย และ 2 ผู้มีอำนาจในการอนุมัติทำการเลื่อนชั้นบัตรโดยสารให้โจทก์ที่ 1 กับครอบครัวเพื่อแลกผลประโยชน์หรือความก้าวหน้าของตน หรืออาจมีผู้มีอำนาจเหนือกว่าเป็นผู้สั่งการ จึงเป็นการตั้งข้อสังเกตที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทน พรรค พ. ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านอยู่ในขณะนั้น เมื่อตรวจสอบพบหลักฐานความไม่ชอบมาพากลของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ย่อมชอบที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะแสดงความคิดเห็นเพื่อติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)

หลักการสำคัญของการดำเนินคดีอาญาว่า แม้เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติยกเว้นความผิดให้แก่จำเลยก็ตาม โจทก์ก็ยังคงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เข้าข้อยกเว้นความผิดเช่นนั้น หาใช่ว่าในกรณีที่จำเลยได้รับยกเว้นความผิดเช่นนั้นแล้วหน้าที่นำสืบจะตกอยู่แก่จำเลยไม่

สาระสำคัญของบทยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (3) นั้น อยู่ที่ว่า เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ดังนั้น หากความเห็นหรือข้อความที่แสดงเพื่อใส่ความผู้อื่นนั้น ต้องด้วยสาระสำคัญของข้อยกเว้นความผิดดังกล่าวและไม่ว่าผู้ใส่ความจะแสดงความคิดเห็นหรือข้อความด้วยวิธีการอย่างไร ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่จะกระทำได้ แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีอำนาจหน้าที่และมีสิทธิที่จะใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดสิทธิการตรวจสอบเอาไว้คือ การยื่นกระทู้ถาม กระทู้สด เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือยื่นถอดถอนรัฐมนตรีได้ แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กลับใช้สิทธิการตั้งโต๊ะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่กระทำได้ตามมาตรา 329 (3) ดังกล่าวข้างต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 417/2560

จำเลยชกต่อยผู้ตายโดยใช้มือขวาข้างเดียว ชกประมาณ 5 ถึง 6 หมัด ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งนาที อ. พยานโจทก์อยู่ห่างจากผู้ตายประมาณ 5 เมตร ย่อมสามารถเห็นจำเลยใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายได้ชัดเจน หากจำเลยมีอาวุธอยู่ในมือผู้ตายต้องได้รับบาดแผลหลายแผล แต่ปรากฏว่าผู้ตายถูกแทงเพียงแห่งเดียวที่บริเวณใต้ราวนมด้านซ้าย คำเบิกความพยานโจทก์ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ กรณีมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นคนใช้เหล็กแหลมเป็นอาวุธแทงผู้ตายหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14822/2558

ความผิดฐานร่วมกันบุกรุกนั้น แม้จะฟังได้ว่าจำเลยเป็นบุตรของ ญ. ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท แต่โจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตและได้รับความยินยอมจาก พ. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทอีกคนหนึ่ง และเป็นหนึ่งในคณะบุคคลผู้ให้เช่าที่อนุญาตให้โจทก์เข้าใช้สอยทำประโยชน์จากที่ดินพิพาทได้ ย่อมถือว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทและมีอำนาจที่จะป้องกันหรือขัดขวางผู้เข้ารบกวนการครอบครองของโจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทราบว่าโจทก์เข้าใช้สอยที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2553 แต่จำเลยไม่ดำเนินการทางกฎหมายแก่โจทก์ในประการใด ต่อมาปี 2555 จำเลยนำเสาเหล็กไปปิดกั้นที่ดินพิพาทและเอาโซ่เหล็กไปคล้องเพื่อปิดกั้นทางเข้าออก จึงเป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่า จำเลยมีเจตนาที่จะรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย การที่จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362, 83

สำหรับความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นั้น แม้ขณะเกิดเหตุจะฟังได้ว่า พวกของจำเลยเป็นผู้ยกเอาเก้าอี้ของโจทก์ไปโดยความรู้เห็นของจำเลยก็ตาม แต่พวกของจำเลยนำเก้าอี้ไปตั้งวางไว้ที่บริเวณหลังร้านของโจทก์ในระยะห่างจากจุดเดิมเพียงไม่กี่เมตร โดยจำเลยต่อสู้ว่านำเก้าอี้ไปใช้นั่งพูดคุยกันซึ่งก็มีเหตุผลควรแก่การรับฟัง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยสั่งการให้ขนเคลื่อนย้ายเก้าอี้ไปไว้ในบ้านจำเลยหรือนำเก้าอี้ไปทำประโยชน์อื่นใด ดังนั้นการที่จำเลยไม่ยอมคืนเก้าอี้ให้แก่โจทก์ในตอนแรกจึงเป็นเพียงพฤติการณ์ที่เกะกะระรานสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่โจทก์มากกว่าจะเป็นการเอาเก้าอี้ไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับจำเลยหรือพวกของจำเลย คดียังมีเหตุอันควรสงสัยรับฟังไม่ได้แน่ชัดว่า จำเลยกับพวกเอาเก้าอี้ของโจทก์ไปโดยทุจริตหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12795/2558

การใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักฟังพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลย เป็นการใช้ดุลพินิจในการค้นหาเหตุผลจากพยานหลักฐานเหล่านั้นว่าควรจะรับฟังได้เพียงใดหรือไม่ ฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่ากัน ศาลมีอำนาจหยิบยกข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ได้ความจากการนำสืบของทั้งสองฝ่ายมาใช้ดุลพินิจรับฟังได้ตามสมควรตามพฤติการณ์แห่งคดี อันเป็นอำนาจโดยอิสระของศาลชั้นต้นในการค้นหาเหตุผลเพื่อหาข้อเท็จจริงแห่งคดีให้ได้ข้อยุติ ข้อที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์โต้แย้งว่าเหตุผลที่ศาลชั้นต้นหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อย ก็เป็นเพียงความคิดเห็นของโจทก์ร่วม ทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติบังคับว่า หากเป็นรายละเอียดปลีกย่อยแล้วจะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจไม่ได้ การใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานของศาลชั้นต้นจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ถือเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ

อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเป็นการอุทธรณ์โดยยกเอาเรื่องการใช้ดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง แล้วนำเอาหลักกฎหมายที่ไม่เกี่ยวข้องมาปรับเพื่อให้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12563/2558

แม้ในชั้นสอบสวนทั้ง ธ. และ อ. จะให้การต่อพันตำรวจตรี ส. พนักงานสอบสวนว่า จำเลยกับ พ. ร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาขายให้ ธ. 2 คัน และยังร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาขายให้ อ. อีก 1 คัน แต่ในชั้นพิจารณาทั้ง ธ. และ อ. ไม่ได้มาเบิกความยืนยันการกระทำผิดของจำเลย เพื่อให้จำเลยมีโอกาสถามค้านเพื่ออธิบายข้อเท็จจริง ย่อมทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ทั้งปรากฏจากคำให้การชั้นสอบสวนของ ธ. ว่า ก่อนรับซื้อรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน รตจ กรุงเทพมหานคร 284 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2551 พ. ได้โทรศัพท์มาติดต่อขายรถจักรยานยนต์ให้โดยอ้างว่าเป็นสิทธิพิเศษของตนที่มีสิทธิซื้อในราคาเริ่มเปิดประมูล แต่ต้องการขายสิทธิดังกล่าว ต่อมาวันที่ 2 กันยายน 2551 พ. ขับรถกระบะของผู้เสียหายบรรทุกรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน รษต กรุงเทพมหานคร 653 มาขายให้อีกโดยขับมาคนเดียว กลับบอกว่าครั้งนี้เป็นสิทธิของตน ส่วนครั้งก่อนเป็นสิทธิของจำเลย พฤติการณ์ของ พ. ตามคำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวมีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่า จำเลยร่วมกระทำผิดกับ พ. หรือไม่ และตามคำให้การชั้นสอบสวนของ อ. ที่ว่า รถจักรยานยนต์ฮอนด้า หมายเลขทะเบียน วจม กรุงเทพมหานคร 424 มี พ. ขับมาขายโดยไม่ปรากฏว่ามีจำเลยเข้าไปมีส่วนร่วมกระทำผิดด้วยนั้นก็สอดคล้องกับที่ น. เบิกความว่า รถจักรยานยนต์คันดังกล่าว ต้องโทรศัพท์สอบถามจากบุคคลที่เคยมาประมูลซื้อรถ จึงทราบว่า พ. เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์ไปขาย ดังนี้ ลำพังคำให้การชั้นสอบสวนของ ธ. และ อ. ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน จึงไม่อาจฟังลงโทษจำเลยได้

การที่จำเลยกับพวกคบคิดกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายซึ่งจอดไว้ในโกดัง แล้วจำเลยกับพวกช่วยกันยกรถจักรยานยนต์ขึ้นท้ายกระบะเพื่อให้ ส. บรรทุกออกไป ย่อมเล็งเห็นเจตนาได้ว่า จำเลยกับพวกประสงค์จะใช้รถกระบะเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป ส่วนรถกระบะซึ่งเป็นยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดจะเป็นของผู้ใดหาใช่ข้อสำคัญไม่ การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างโดยใช้ยานพาหนะซึ่งต้องรับโทษหนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12269/2558

จำเลยที่ 2 รู้อยู่ก่อนแล้วว่า ฉ. จะไปทำบัตรประจำตัวประชาชนในชื่อของ ก. การที่จำเลยที่ 2 ขอร้องให้จำเลยที่ 1 ช่วยเป็นผู้รับรองเป็นเหตุให้ ฉ. สามารถทำบัตรประจำตัวประชาชนได้สำเร็จ ถือเป็นการให้ความช่วยเหลือ ฉ. ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานสนับสนุน ฉ. ในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประชาชน พ.ศ.2526 ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวได้เพราะโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการ ไม่ได้เป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10546/2558

มื่อโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในข้อหาความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบพยานหลักฐานพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ครบองค์ประกอบของความผิดฐานดังกล่าวและให้มีน้ำหนักและเหตุผลรับฟังได้โดยปราศจากเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดดังที่โจทก์ฟ้องจริง จึงจะลงโทษจำเลยสำหรับความผิดดังกล่าวได้

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปประยุกต์รูปการ์ตูนหุ่นยนต์ดีเซ็ปติคอนส์ รูปหุ่นยนต์บัมเบิลบี รูปหุ่นยนต์ออฟติมัส ไพรม และรูปหุ่นยนต์ทรานฟอร์มเมอร์สของผู้เสียหาย โดยจำเลยนำเอากล่องบรรจุสินค้าของเล่นหุ่นยนต์ที่มีรูปหุ่นยนต์ดีเซ็ปติคอนส์จำนวน 24 ชิ้น กล่องบรรจุสินค้าของเล่นหุ่นยนต์ที่มีรูปหุ่นยนต์บัมเบิลบีจำนวน 132 ชิ้น กล่องบรรจุสินค้าของเล่นหุ่นยนต์และของเล่นหุ่นยนต์ที่มีรูปหุ่นยนต์ออฟติมัส ไพรม จำนวน 14 ชิ้น และกล่องบรรจุสินค้าของเล่นหุ่นยนต์ที่มีรูปหุ่นยนต์ทรานฟอร์มเมอร์ส จำนวน 5,330 ชิ้น ของกลางซึ่งมีผู้ทำซ้ำและดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขายแก่บุคคลทั่วไป อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าสินค้าที่มีรูปการ์ตูนหุ่นยนต์ดังกล่าวเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ดังนี้ โจทก์จึงต้องนำสืบพยานหลักฐานพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ให้มีน้ำหนักและเหตุผลรับฟังได้โดยปราศจากเหตุอันควรสงสัยรวม 5 ประการ ได้แก่ ประการที่ 1 ข้อเท็จจริงที่ว่ากล่องบรรจุสินค้าของเล่นหุ่นยนต์ของกลางจำนวน 24 ชิ้น มีรูปหุ่นยนต์ดีเซ็ปติคอนส์ จำนวน 132 ชิ้น มีรูปหุ่นยนต์บัมเบิลบี จำนวน 14 ชิ้น มีรูปหุ่นยนต์ออฟติมัส ไพรม และจำนวน 5,330 ชิ้น มีรูปหุ่นยนต์ทรานฟอร์มเมอร์สซึ่งมีผู้ทำซ้ำและดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ประการที่ 2 ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าสินค้าที่มีรูปหุ่นยนต์ดังกล่าวเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ประการที่ 3 ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยได้ขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขายแก่บุคคลทั่วไปซึ่งสินค้าของเล่นหุ่นยนต์ที่บรรจุอยู่ในกล่องของกลางดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย ประการที่ 4 ข้อเท็จจริงที่ว่าการกระทำของจำเลยในประการที่ 3 เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อหากำไร และประการที่ 5 ข้อเท็จจริงที่ว่าการกระทำของจำเลยในประการที่ 3 และที่ 4 เป็นการกระทำโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อการค้า

โจทก์มี ม. ผู้รับมอบอำนาจช่วงผู้เสียหายมาเบิกความลอย ๆ เพียงว่า ม. พบว่ามีสินค้าที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปประยุกต์ของผู้เสียหาย โดยไม่ปรากฏจากคำเบิกความของ ม. ว่ารูปการ์ตูนหุ่นยนต์ที่ปรากฏอยู่บนกล่องสินค้าของกลางเป็นงานที่ทำซ้ำและดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายเพราะเหตุใด รูปการ์ตูนดังกล่าวแตกต่างจากรูปการ์ตูนอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายอย่างไร ม. เคยเห็นรูปการ์ตูนอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือไม่ก็ไม่ปรากฏ ทั้งไม่ปรากฏว่า ม. ได้นำวัตถุพยานของกลางไปตรวจสอบกับรูปการ์ตูนซึ่งเป็นงานศิลปกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายว่ารูปการ์ตูนบนกล่องสินค้าของกลางได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในรูปการ์ตูนของผู้เสียหายด้วยการทำซ้ำหรือดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายอย่างไร นอกจากนี้ ม. พยานโจทก์เป็นเพียงพนักงานบริษัท ว. ซึ่งประกอบกิจการดูแลการละเมิดลิขสิทธิ์ให้แก่ผู้เสียหาย ทั้งโจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่า จำเลยรู้อยู่แล้วว่าวัตถุพยานของกลางมีงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมรูปการ์ตูนของผู้เสียหาย พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวยังไม่มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้โดยปราศจากเหตุอันควรสงสัยว่า กล่องสินค้าวัตถุพยานของกลาง มีรูปการ์ตูนที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมรูปการ์ตูนของผู้เสียหายอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ที่โจทก์ฟ้อง

ส่วนที่พยานโจทก์เบิกความว่า เมื่อมีการจับกุมจำเลย จำเลยให้การรับสารภาพว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตามบันทึกการตรวจค้นจับกุมนั้น ถ้อยคำของจำเลยผู้ถูกจับตามบันทึกการตรวจค้นจับกุมดังกล่าวเป็นถ้อยคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิด จึงต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานและไม่อาจนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ว่า จำเลยได้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ดังที่โจทก์ฟ้อง ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบมาตรา 26 และ ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10492/2558

ในคดีอาญาไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่ง เพราะในคดีแพ่งศาลจะชั่งน้ำหนักคำพยานว่าฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่ากัน แต่ในคดีอาญาศาลจะต้องใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงจนแน่ใจว่าพยานหลักฐานของโจทก์พอรับลงโทษจำเลยได้หรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 ดังนั้น คำพิพากษาในคดีของศาลแพ่งซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสองในคดีนี้เป็นคู่ความในคดีแพ่งดังกล่าว จึงเป็นเพียงพยานหลักฐานที่ศาลจะนำมาชั่งน้ำหนักประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ในคดีนี้ว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่เท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งเพียงอย่างเดียวมาวินิจฉัยชี้ขาดว่า จำเลยทั้งสองปักเสาปูนและล้อมรั้วลวดหนามในที่ดินโจทก์ โดยมิได้วินิจฉัยพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และจำเลยทั้งสองในคดีนี้หาได้ไม่ การรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถือเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ไม่ได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2789/2558

โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันใช้กลอุบายทำทีเป็นขอเช่ารถยนต์จากผู้เสียหายที่ 3 เพื่อลักรถยนต์ โดยโจทก์อ้างว่าได้รับทราบข้อมูลจาก น. ดังนั้นโจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบให้ได้ความจริงตามข้อกล่าวหา แต่โจทก์กลับมีเพียงคำให้การของ น. ที่ให้การไว้ต่อพันตำรวจโท ช. ในชั้นสอบสวนเท่านั้น ซึ่งเป็นเพียงพยานบอกเล่า ทั้งจำเลยทั้งสองก็นำสืบต่อสู้ว่า น. แต่เพียงผู้เดียวเป็นตัวการ ดำเนินการเกี่ยวกับการเช่ารถยนต์คันดังกล่าวทั้งหมด จำเลยทั้งสองมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นด้วย คำให้การในชั้นสอบสวนของ น. เท่ากับเป็นพยานซัดทอด ซึ่งในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานนี้ ศาลจำต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง ดังนี้ แม้โจทก์อ้างว่า ก่อนเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 กับพวกเคยไปเช่ารถยนต์ที่ร้าน บ. แล้วนำรถยนต์ที่เช่าไป ก็ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 กับพวกแต่อย่างใด ทั้งพยานหลักฐานดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับความประพฤติในทางเสื่อมเสียของจำเลยที่ 1 ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/2 วรรคหนึ่ง พยานหลักฐานของโจทก์จึงตกเป็นที่สงสัยว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยทั้งสอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13985/2556

แม้อุทธรณ์ของจำเลยจะไม่ปรากฏว่าจำเลยอุทธรณ์โต้แย้งในข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายไว้โดยชัดแจ้งก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์มีเหตุสงสัยตามสมควรว่า จำเลยนำเมทแอมเฟตามีน 202 เม็ด มาส่งมอบให้แก่ ศ. หรือไม่ จึงยกฟ้องโจทก์ในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 202 เม็ดดังกล่าว กับข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 202 เม็ดดังกล่าว จึงเป็นข้อเท็จจริงเดียวที่เกี่ยวเนื่องกัน ศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ และในเรื่องนี้ร้อยตำรวจเอก ณ. เบิกความว่า ขณะพยานกับพวกเข้าจับกุมจำเลย จำเลยไม่ยอมให้จับกุมและใช้มือทั้งสองข้างชกต่อย โดยพยานถูกชกต่อยที่บริเวณหน้าอก และจ่าสิบตำรวจ ช. เบิกความว่าถูกชกต่อยที่บริเวณใบหน้า แต่ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานใด ๆ ว่าพยานทั้งสองได้รับบาดเจ็บ ซึ่งถ้าถูกจำเลยชกต่อยจริง โดยเฉพาะบริเวณใบหน้าน่าจะมีร่องรอยผิวหนังถลอกหรือฟกช้ำบ้าง ตรงกันข้ามกับจำเลยที่มีบาดแผลฟกช้ำทั่วไปตามร่างกาย พูดไม่ได้ มีลักษณะปากแข็งเกร็งและมีรอยฟกช้ำบริเวณแขนและขา จากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาจึงมีความสงสัยตามสมควรเช่นเดียวกันว่า จำเลยได้กระทำความผิดข้อหานี้หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13389/2556

การที่ ช. เคยถูกดำเนินคดีว่าร่วมกับจำเลยทั้งสองในคดีนี้พยายามฆ่าผู้เสียหาย แม้ขณะเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้ ศาลพิพากษายกฟ้อง ช. แล้วก็ตาม คำเบิกความของ ช. ก็ยังมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดจึงมีน้ำหนักน้อย ส่วนผู้เสียหายโจทก์ไม่สามารถนำมาเบิกความ คงอ้างส่งคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ครั้งแรกให้การว่าคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายคือจำเลยที่ 1 ต่อมาให้การอีกครั้งว่าคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงคือจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าจำหน้าคนร้ายสับสน ทำให้การที่ผู้เสียหายยืนยันว่าคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายคือจำเลยที่ 2 ไม่มีน้ำหนัก ส่วน ส. ซึ่งอยู่ร่วมกับผู้เสียหายในคืนเกิดเหตุก็เบิกความยืนยันเฉพาะว่าเห็นจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ ช. ขับมาเท่านั้น ส่วนคนร้ายคนอื่นพยานไม่เห็นหน้าและมองไม่ทัน พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบจึงยังมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12128/2556

การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง จำคุก 6 เดือน ฐานเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 2,000,000 บาท ฐานร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี รวมโทษจำเลยที่ 1 ทุกกระทงแล้วให้จำคุกตลอดชีวิตและปรับ 2,000,000 บาท แล้วลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี และปรับ 1,000,000 บาท และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน เป็นการไม่ชอบเพราะไม่ได้ลดโทษก่อนตามมาตรา 78 แล้วจึงรวมโทษตามมาตรา 91 แต่อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้องได้ เนื่องจากเป็นการเพิ่มเติมโทษ ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11683/2556

จำเลยเบิกความว่า จำเลยเข้าใจว่าผู้เสียหายที่ 1 อายุประมาณ 18 ปี ถึง 19 ปี เพราะรูปร่างสูงใหญ่ ซึ่งในข้อนี้ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ผู้เสียหายที่ 1 มีรูปร่างสูงใหญ่กว่าอายุ หากดูภายนอกเพียงผิวเผินอาจเข้าใจได้ว่ามีอายุเกิน 18 ปีแล้ว เจ้าของร้านอาหารริมชีรับผู้เสียหายที่ 1 เข้าทำงานเนื่องจากเข้าใจว่าผู้เสียหายที่ 1 มีอายุเกิน 18 ปี ส่วนผู้เสียหายที่ 3 ก็เบิกความทำนองเดียวกันว่า หากเทียบกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน ผู้เสียหายที่ 1 จะรูปร่างสูงใหญ่กว่าเพื่อน บุคคลทั่วไปมองผู้เสียหายที่ 1 แล้วอาจเข้าใจได้ว่ามีอายุ 17 ถึง 18 ปี จึงเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยดังกล่าว นอกจากนี้ยังปรากฏด้วยว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 เคยทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟที่ร้านอาหารริมชีมาก่อนโดยทำงานตั้งแต่เวลา 9 ถึง 19 นาฬิกา อีกทั้งหลังเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 บอกผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ว่านอกจากจำเลยแล้วยังมีชายอื่นกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 อีก 11 คน จึงมีเหตุผลเชื่อได้ว่ารูปร่างและลักษณะของผู้เสียหายที่ 1 ทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจว่าผู้เสียหายที่ 1 มีอายุเกินกว่า 18 ปี จำเลยอาจสำคัญผิดว่าผู้เสียหายที่ 1 อายุเกิน 18 ปี ดังที่อ้างก็เป็นได้ หากเป็นเช่นนี้ย่อมเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดทั้งสองฐานตามฟ้องและทำให้เป็นการกระทำที่ขาดเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15927/2555

คดีนี้โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นขณะจำเลยเสพเมทแอมเฟตามีน พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้เพียงว่าตรวจพบสารเสพติดในปัสสาวะของจำเลยเท่านั้น แต่พยานโจทก์ก็ไม่นำสืบให้ชัดแจ้งว่า สารเสพติดนั้นเป็นเมทแอมเฟตามีนหรือไม่ เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธ กรณียังเป็นที่สงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11530/2555

การกล่าวหาและจับกุมจำเลยดำเนินคดี แม้มีมูลเหตุสืบเนื่องมาจากคำซัดทอดของ ส. ที่ถูกจับกุมในคดีอื่น แต่ ส. ให้การต่อพนักงานสอบสวนในคดีที่ ส. เป็นผู้ต้องหา ทั้งในฐานะผู้ต้องหาและในฐานะพยานหลังถูกจับกุมเพียง 1 วัน จึงเป็นการยากที่จะคิดปรุงแต่งเรื่องราวให้ผิดไปจากความจริงและในคดีดังกล่าว ส. ก็ให้การรับสารภาพ จึงมิใช่เป็นการซัดทอดเพื่อให้ตนเองพ้นผิดโดยปัดความผิดไปให้จำเลยเพียงผู้เดียว หากเป็นการบอกเล่าเรื่องราวในการกระทำความผิดของตนยิ่งกว่าการปรักปรำจำเลยเสียอีก ครั้นพันตำรวจโท ป. สอบปากคำหลังถูกจับกุมนานเดือนเศษ ส. ยังคงยืนยันว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยเช่นเดิม และยังนำชี้สถานที่ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนกับชี้ภาพถ่ายของจำเลยสอดคล้องกับเรื่องราวที่ให้การไว้ต่อพันตำรวจโท ข. และพันตำรวจโท ป. โดยตรวจพบว่ามีการโอนเงินจากบัญชีของ ส. เข้าบัญชีของจำเลยรวมทั้งมีการยึดรถกระบะได้จากจำเลย ล้วนมีแหล่งที่มาจากคำให้การของ ส. ทั้งสิ้น และในชั้นพิจารณา ส. ยังเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าพยานได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยและเคยโอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลย แม้คำเบิกความของ ส. ถือเป็นคำซัดทอดและ ส. เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านไม่ตรงกับที่เบิกความตอบโจทก์ในตอนแรกอันเป็นการไม่อยู่กับร่องกับรอย เห็นได้ชัดว่ามีเจตนาเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่รูปคดีตามข้อต่อสู้ของจำเลย คำของ ส. ที่เบิกความตอบโจทก์ในตอนแรกจึงเชื่อถือได้มากกว่า เมื่อนำคำซัดทอดของ ส. ในชั้นสอบสวนและในชั้นพิจารณาตามที่เบิกความตอบโจทก์ในตอนแรก มาพิจารณารับฟังประกอบกันหลักฐานที่ ส. โอนเงินให้แก่จำเลยก่อน ส. ถูกจับกุมเพียงไม่กี่วัน พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้ ส. จริง

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments