Home คดีแพ่ง ยื่นฎีกา โดยไม่วางค่าทนายใช้แทน ศาลฎีกาจะรับพิจารณาหรือไม่

ยื่นฎีกา โดยไม่วางค่าทนายใช้แทน ศาลฎีกาจะรับพิจารณาหรือไม่

3843

ยื่นฎีกา โดยไม่วางค่าทนายใช้แทน ศาลฎีกาจะรับพิจารณาหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3702/2553

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 260,862 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งหก

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ทั้งหก 260,862 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งหก โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ทั้งหก 230,862 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ยกอุทธรณ์ของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์ที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 กับจำเลยนอกจากนี้ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นควรวินิจฉัยเสียก่อนเป็นประการแรกว่า ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 มานั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งหกและมีคำสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมว่า ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เมื่อจำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมดซึ่งรวมถึงโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ด้วย นอกจากจำเลยจะต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาแล้วจำเลยยังมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มาวางศาลพร้อมกับฎีกาของจำเลยด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ประกอบมาตรา 247 แต่จำเลยยื่นฎีกาโดยมิได้นำเงินค่าทนายความใช้แทนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 มาวางศาลพร้อมฎีกาแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยในส่วนทีเกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 มา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย

คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งหกฟ้องว่า จำเลยเป็นหัวหน้าวงแชร์ โจทก์ทั้งหกเป็นผู้ร่วมเล่น ต่อมาโจทก์ทั้งหกประมูลแชร์ได้แต่จำเลยส่งมอบเงินที่เก็บจากลูกวงให้โจทก์ทั้งหกเพียงบางส่วน คงค้างชำระโจทก์ที่ 1 จำนวน 15,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 67,733 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 56,533 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 56,753 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 42,293 บาท และโจทก์ที่ 6 จำนวน 22,530 บาท เช่นนี้ เห็นได้ว่า แม้โจทก์ทั้งหกจะร่วมเล่นแชร์วงเดียวกันซึ่งมีจำเลยเป็นหัวหน้าวง แต่โจทก์ทั้งหกต่างมิได้มีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกัน กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งหกมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 การคำนวณทุนทรัพย์ในการใช้สิทธิอุทธรณ์ย่อมต้องแยกตามจำนวนเงินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องให้จำเลยรับผิด หาใช่พิจารณาจากหนี้ที่โจทก์ทั้งหกเรียกร้องรวมกันดังที่จำเลยอ้างไม่ เมื่อคดีนี้จำนวนเงินที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 ไม่เกินห้าหมื่นบาท คดีระหว่างโจทก์ที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 กับจำเลย จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่งและอุทธรณ์ของจำเลยเป็นการโต้แย้งดุลพินิจศาลชั้นต้นในการรับฟังพยานหลักฐานอันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยและพิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวแล้ว จำเลยย่อมไม่มีสิทธิฎีกาว่าจำเลยเงินที่โจทก์ที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 ฟ้องเรียกร้องเกินกว่าจำนวนที่จำเลยต้องรับผิดจริงและขอให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ที่ 5 และที่ 6

อนึ่ง จำนวนเงินที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยให้จำเลยรับผิดชำระแก่โจทก์แต่ละคนเมื่อรวมแล้วเป็นเงิน 230,842 บาท แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งหกเป็นเงิน 230,862 บาท จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขและเห็นควรกำหนดความรับผิดจำเลยต่อโจทก์แต่ละคนให้ชัดเจน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 15,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 37,733 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 56,533 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 56,753 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 42,293 บาท และโจทก์ที่ 6 จำนวน 22,530 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฎีกาของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 คืนค่าฤชาธรรมเนียมศาลในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ให้แก่จำเลยค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาอื่นนอกจากนี้และค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์ที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 กับจำเลยให้เป็นพับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธณ์ภาค 7.

สรุป ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มาวางศาลพร้อมกับฎีกาของจำเลยด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ประกอบมาตรา 247 แต่จำเลยยื่นฎีกาโดยมิได้นำเงินค่าทนายความใช้แทนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 มาวางศาลพร้อมฎีกาแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยในส่วนทีเกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 มา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments