Home ทั้งหมด อายุความฟ้องคดีแชร์ มีอายุความกี่ปี

อายุความฟ้องคดีแชร์ มีอายุความกี่ปี

12981

การเล่นแชร์ คือ สัญญาชนิดหนึ่ง มีคู่ความ 2 ฝ่าย คือ นายวงแชร์ ฝ่ายหนึ่ง กับลูกวงแชร์ อีกฝ่ายหนึ่ง ปกตินายวงแชร์จะเป็นบุคคลเดียว ส่วนลูกวงแชร์จะมีหลายคน ในการเล่นจะกำหนดจำนวนเงินแต่ละงวดและวิธีการประมูลซึ่งวิธีการประมูลมี 2 ประเภท

คือ ประมูลหักดอกเบี้ย เช่น จำนวนเงินแชร์ 10,000 บาท หากลูกวงแชร์ผู้ประมูลให้ผลประโยชน์ 1,500 บาท เป็นดอกเบี้ยซึ่งสูงกว่าลูกวงแชร์อื่น ก็จะเป็นผู้ชนะการประมูล ลูกวงแชร์ที่ประมูลได้ก็ต้องรับเงินงวดนั้น 8,500 บาท แต่ถ้าเป็นแชร์ชนิดดอกตาม ลูกวงแชร์ที่ประมูลไม่ได้ก็ต้องชำระเต็ม 10,000 บาท แต่จะได้รับคืนจากผู้ประมูลได้ในภายหลัง ปกตินายวงแชร์ได้สิทธิพิเศษ คือ ได้รับเงินเต็มในเดือนแรก ตามตัวอย่างข้างต้นหากมีผู้เล่น 20 คน ผู้เข้าเล่นหรือลูกวงแชร์จะต้องชำระเงินคนละ 10,000 บาท ให้แก่นายวงแชร์ โดยนายวงแชร์ไม่ต้องเสียดอกแต่มีหน้าที่ที่จะใช้คืนลูกวงแชร์ทุกงวดๆ ละ 10,000 บาท และมีหน้าที่จัดการประมูลและรวบรวมเงินจากลูกวงแชร์ที่ประมูลไม่ได้ มอบให้แก่ผู้ที่ประมูลได้

มีข้อพิจารณาว่าหากผิดสัญญาเล่นแชร์ดังกล่าว คู่สัญญาจะต้องฟ้องคดีภายในกี่ปี

เนื่องจากสัญญาเล่นแชร์ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายไว้โดยเฉพาะ จึงต้องปรับข้อเท็จจริงในข้อสัญญาเข้ากับบทบัญญัติเรื่องอายุความ

กรณีผิดสัญญาเล่นแชร์เกิดขึ้นได้ 4 กรณี คือ

1. นายวงแชร์ผิดสัญญาไม่รวบรวมเงินมอบให้แก่ลูกวงแชร์ซึ่งประมูลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3882/2530 โจทก์ตกลงเล่นแชร์กับจำเลย จำเลยเป็นนายวงแชร์ เมื่อลูกวงแชร์คนใดเปียแชร์ได้จะได้รับเช็คจากจำเลยซึ่งเก็บมาจากลูกวงแชร์ทุกคนโดยจำเลยลงชื่อสลักหลังและรับผิดชอบกรณีเช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินไม่ได้ โจทก์เปียแชร์ได้และนำเช็คที่ได้รับจากจำเลยบางฉบับไปชำระหนี้แก่ ก. แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ต่อมา ก. ถึงแก่กรรม ว. ภริยา ก. ฟ้องจำเลยในฐานะผู้สลักหลังให้ชำระเงินตามเช็ค ศาลพิพากษายกฟ้อง โจทก์ชำระเงินตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่ ว. ไป เช่นนี้ ถือว่าโจทก์ยังไม่ได้รับเงินค่าแชร์ตามเช็คดังกล่าวจำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์ตามข้อตกลงในการเล่นแชร์ และอายุความของสิทธิเรียกร้องในกรณีผิดสัญญาเล่นแชร์นี้มีกำหนดสิบปี การที่โจทก์จำเลยมีข้อตกลงกันให้โจทก์นำเช็คที่ได้รับจากการเล่นแชร์ไปเรียกเก็บเงินดังกล่าวนั้นไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ และโจทก์มิใช่คู่ความในคดีที่ ว.ฟ้องเรียกเงินตามเช็คจากจำเลย ฟ้องของโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีที่ ว. ฟ้องจำเลยดังกล่าว

2. ลูกวงแชร์ผิดสัญญาไม่ชำระเงินค่างวดให้แก่นายวงแชร์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 655/2480 สัญญากู้เงินในเรื่องเล่นแชร์วิธีกำหนดเวลาที่ลูกวงจะต้องนำเงินส่งให้นายวงเป็นงวดๆ นั้น มีกำหนดอายุความฟ้องร้องเพียง 5 ปี นอกจากนี้ยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 182/2516 และ 284/2516

3. ลูกวงแชร์ผิดสัญญากันเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2013/2537 มูลหนี้ตามฟ้องโจทก์ไม่ใช่มูลหนี้การกู้ยืมเงินตามความหมายของ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี รวมอยู่ในมูลหนี้ จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว มูลหนี้เดิมเกิดจากจำเลยที่ 1 ร่วมเล่นแชร์กับโจทก์แล้วจำเลยที่ 1 ออกเช็คชำระหนี้ค่าแชร์ ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คถือว่าโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ค่าแชร์ การชำระหนี้ด้วยเช็คเช่นนี้ไม่ใช่การแปลงหนี้ใหม่ โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้จึงอาศัยมูลหนี้เดิมตามสัญญาการเล่นแชร์หาได้ฟ้องให้รับผิดตามเช็คไม่ อายุความเกี่ยวกับการฟ้องเรียกเงินค่าแชร์ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30 ใหม่) เมื่อนับตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2525 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทั้งสามชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์ครั้งสุดท้าย และเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2530 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

4. กรณีลูกวงแชร์ผิดสัญญา นายวงแชร์ชำระหนี้แทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1553/2537 โจทก์เล่นแชร์กับจำเลยโดยโจทก์เป็นนายวง จำเลยประมูลแชร์ได้และออกเช็คให้แก่ลูกวงคนอื่นๆ ไว้ เมื่อเช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้ โจทก์ในฐานะนายวงได้ชำระเงินตามเช็คไปแล้ว โจทก์ฟ้องเรียกเงินจากจำเลยอันเป็นการเรียกเงินที่ออกทดรองไปก่อนคืน สิทธิเรียกร้องเช่นนี้ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 3 กรณีแรกมีข้อสัญญาที่เหมือนกันอยู่ 2 กรณี คือ กรณีที่นายวงแชร์ผิดสัญญากับลูกวงแชร์ และลูกวงแชร์ผิดสัญญากันเอง กล่าวคือ ผู้ที่ผิดสัญญามีหน้าที่รับผิดชอบชำระหนี้ให้แก่อีกฝ่ายเพียงครั้งเดียว ส่วนกรณีลูกวงแชร์ผิดสัญญาต่อนายวงแชร์ กรณีนี้ลูกวงแชร์มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะชำระเป็นงวดๆ อายุความจึงต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1361/2552

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 31 มีนาคม 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,200 บาท ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 31 มีนาคม 2546) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,200 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2539 จำเลยที่ 2 ตั้งวงแชร์ 1 วง เป็นแชร์ดอกหัก มีสมาชิกร่วมเล่นแชร์ 21 คน มีหุ้น 31 หุ้น หุ้นละ 100,000 บาท โจทก์เล่นแชร์ 2 หุ้น ส่วนจำเลยที่ 1 เล่นแชร์ 1 หุ้น เริ่มชำระเงินค่าแชร์งวดแรกในวันที่ 20 มกราคม 2539 การชำระเงินค่าแชร์งวดแรกสมาชิกต้องสั่งจ่ายเช็คฉบับละ 250,000 บาท มอบให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 จะสั่งจ่ายเช็คจำนวนเงิน 250,000 บาท ให้แก่สมาชิกวงแชร์ทุกคน จำเลยที่ 2 มีสิทธิได้รับเงินประมูลงวดแรกโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยและมีหน้าที่รวบรวมเช็คจากสมาชิกวงแชร์ที่ประมูลได้ส่งให้แก่สมาชิกวงแชร์ที่ประมูลไม่ได้หรือที่ยังไม่ได้ประมูล สมาชิกวงแชร์สามารถนำเช็คไปเรียกเก็บเงินทุกวันที่ 25 ของเดือนที่มีการประมูลในงวดที่ 2 เป็นต้นไป สมาชิกวงแชร์ที่ประมูลได้จะต้องสั่งจ่ายเช็คจำนวนเงิน 100,000 บาท ให้แก่สมาชิกวงแชร์ที่ประมูลไม่ได้และที่ยังไม่ได้ประมูล จำเลยที่ 2 จะสลักหลังเช็คและนำเช็คของสมาชิกวงแชร์ที่ประมูลได้ไปมอบให้แก่สมาชิกวงแชร์ที่ประมูลไม่ได้และที่ยังไม่ได้ประมูล หากเช็คเงินวงแชร์ฉบับใดถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน สมาชิกวงแชร์ผู้สั่งจ่ายเช็คและจำเลยที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินตามเช็คนั้นให้แก่สมาชิกวงแชร์ผู้ทรงเช็ค หากวงแชร์ล้มหรือไม่สามารถเล่นต่อไปได้ไม่ว่ากรณีใดๆ สมาชิกวงแชร์ผู้สั่งจ่ายเช็คและจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมกันรับผิดจ่ายเงินค่าแชร์ตามเช็คแก่สมาชิกวงแชร์ผู้ทรงเช็คด้วย จำเลยที่ 1 ประมูลแชร์ได้ในงวดที่ 11 ประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 โดยเสนอดอกเบี้ย 24,500 บาท และได้ออกเช็คชำระหนี้ค่าแชร์จำนวนเงินฉบับละ 100,000 บาท 2 ฉบับมอบให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้สลักหลังเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้วนำไปมอบให้แก่โจทก์ซึ่งยังไม่ได้ประมูล ส่วนโจทก์สั่งจ่ายเช็คค่าแชร์ซึ่งหักดอกเบี้ยออกแล้วเป็นจำนวนเงิน 151,500 บาท มอบให้แก่จำเลยที่ 2 นำไปมอบให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 นำเช็คของโจทก์ไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงินได้แล้ว ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม 2540 วงแชร์ล้ม โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และสมาชิกวงแชร์ตกลงกันให้โจทก์นำเช็คที่ยึดถือไว้ 2 ฉบับ ไปเรียกเก็บเงิน ซึ่งสามารถเรียกเก็บเงินได้ 1 ฉบับ แต่อีก 1 ฉบับ ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ โดยธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 โดยให้เหตุผลว่า มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงิน

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) บัญญัติห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่า 300,000 บาท และมาตรา 7 บัญญัติว่า บทบัญญัติในมาตรา 6 ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกวงแชร์จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้น หาได้ให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ที่จะเรียกร้องระหว่างกันเองไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 เป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประชาชนและเพื่อมิให้มีการประกอบธุรกิจการเล่นแชร์ที่กระทบต่อการระดมเงินออมของสถาบันการเงินที่ทางราชการสนับสนุนและรับผิดชอบซึ่งส่งผลกระทบไปถึงระบบเศรษฐกิจโดยส่วนรวม แต่การเล่นแชร์ของประชาชนโดยทั่วไปที่มิได้ดำเนินการเป็นธุรกิจยังให้กระทำต่อไปได้ ดังนั้น มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงบัญญัติห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเช่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดใน 4 ประการ เช่น ตามมาตรา 6 (3) มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งกฎกระทรวง (พ.ศ.2534) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 กำหนดวงเงินไว้ 300,000 บาท และมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติเอาความผิดแก่นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่ฝ่าฝืนมาตรา 6 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าประสงค์จะเอาความผิดเฉพาะผู้เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้น ดังนั้น นิติกรรมการเล่นแชร์ของนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้นที่ตกเป็นโมฆะ แต่นิติกรรมการเล่นแชร์ของโจทก์และจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ไม่ตกเป็นโมฆะไปด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 สิทธิหรือหน้าที่ของสมาชิกวงแชร์มีความผูกพันตามกฎหมายอยู่อย่างไรความผูกพันย่อมมีอยู่เช่นนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ประมูลแชร์ได้และสั่งจ่ายเช็คเงินค่าแชร์มอบให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อนำไปมอบให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ที่ยังไม่ได้ประมูล เพื่อให้โจทก์นำไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงินถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงต้องรับผิดชำระเงินค่าแชร์แก่โจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้ว ศาลฎีกาไม่จำต้องกล่าวซ้ำอีก ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าการเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งเกิดจากการตกลงกันระหว่างผู้เล่น สามารถบังคับกันได้ตามกฎหมาย แต่อายุความเกี่ยวกับการฟ้องเรียกเงินค่าแชร์ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ข้อเท็จจริงได้ความว่า วงแชร์ล้มเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินในวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 และเช็คดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินในวันเดียวกัน โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้นับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป เมื่อนับถึงวันที่ 31 มีนาคม 2546 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป มีอายุความ 10 ปี

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

 

Facebook Comments