Home ทั้งหมด จดทะเบียนหย่าแล้วยังอยู่บ้านเดียวกัน ถือว่าการหย่าเป็นโมฆะหรือไม่ (มีฎีกา)

จดทะเบียนหย่าแล้วยังอยู่บ้านเดียวกัน ถือว่าการหย่าเป็นโมฆะหรือไม่ (มีฎีกา)

19396

จดทะเบียนหย่าแล้วยังอยู่บ้านเดียวกัน ถือว่าการหย่าเป็นโมฆะหรือไม่ (มีฎีกา)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8333/2560

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบบ้านเลขที่ 100/15 และ 100/18 หมู่ที่ 14 ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พร้อมโฉนดที่ดินเลขที่ 47731 และโฉนดที่ดินเลขที่ 168290 ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยปลอดภาระผูกพันใด ๆ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ให้จำเลยชำระเป็นเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์อัตราเดือนละ 40,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์จนครบถ้วน

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา ศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งให้โอนคดีนี้ไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรีเนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวกับครอบครัวตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท

โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับ ให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 47731 เลขที่ดิน 504 ตำบลบางบัวทอง (หนองเชียงโคต) อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ 59 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 100/15 หมู่ 14 ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินแปลงดังกล่าว โดยปลอดภาระจำนองให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากจำเลยไม่อาจดำเนินการได้ไม่ว่าเพราะกรณีใด ๆ ให้จำเลยใช้ราคาแทนเป็นเงิน 750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เงินเสร็จ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์และจำเลยฎีกา โดยโจทก์และจำเลยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นบุตรของนายสวง กับนางบุญกอง นายสวงบิดาโจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากัน โดยจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 ต่อมาวันที่ 12 ธันวาคม 2549 บุคคลทั้งสองได้จดทะเบียนหย่าขาดจากกันและทำบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า โดยในข้อ 3 ของบันทึกดังกล่าวระบุว่า บ้านพร้อมที่ดินเลขที่ 100/15 อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายชายคือนายสวง ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 47731 อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี มีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยซื้อมาจากนายวิรัช เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2545 บนที่ดินพิพาทมีบ้านเดี่ยวสองชั้นตั้งอยู่ 2 หลัง แต่เลขที่เดียวกัน คือ บ้านเลขที่ 100/15 ต่อมาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2551 จำเลยขอเลขที่บ้านสำหรับบ้านอีกหลังหนึ่งเป็นบ้านเลขที่ 100/18 หลังจากนั้นนายสวงถึงแก่ความตายด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2552 ก่อนตายนายสวงได้ทำพินัยกรรมลงวันที่ 23 มีนาคม 2551 ยกทรัพย์มรดกให้แก่จำเลย วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวนเงิน 1,500,000 บาท วันที่ 22 ตุลาคม 2553 จำเลยยื่นคำร้องขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็น 2 แปลง โดยที่ดินอีกแปลงหนึ่งคือโฉนดเลขที่ 168290 อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งมีบ้านเลขที่ 100/18 ตั้งอยู่และอยู่ทางทิศเหนือติดทางสาธารณะ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 47731 ซึ่งมีบ้านเลขที่ 100/15 ตั้งอยู่และอยู่ทางทิศใต้ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 ศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายสวง และมีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านของโจทก์ซึ่งยื่นคำร้องคัดค้านเข้าไปในคดีดังกล่าว ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2554 โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกว่ากระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกของนายสวงต่อศาลจังหวัดนนทบุรี และศาลจังหวัดนนทบุรีกับศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ที่ดินพิพาทพร้อมบ้านเดี่ยว 2 หลัง เป็นทรัพย์มรดกของนายสวงที่ตกทอดแก่โจทก์หรือไม่ ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า นายสวงกับจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากันตั้งแต่ปี 2533 และจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 ในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยได้ช่วยกันทำมาหากินและร่วมกันซื้อที่ดินพิพาท รวมทั้งร่วมกันปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดิน 2 หลัง จำเลยกับนายสวงจึงเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว เมื่อจำเลยกับนายสวงจดทะเบียนหย่าและทำบันทึกการหย่าโดยจำเลยตกลงยกที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ 100/15 ให้นายสวง จำเลยจึงถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างแทนนายสวง เมื่อนายสวงถึงแก่ความตายจึงเป็นทรัพย์มรดกของนายสวงซึ่งตกทอดแก่โจทก์ จำเลยฎีกาและนำสืบต่อสู้ว่า จำเลยซื้อ ที่ดินพิพาทก่อนจดทะเบียนสมรสกับนายสวง ซื้อด้วยเงินรายได้จากการทำโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าที่จำเลยลงทุนด้วยเงินที่จำเลยเก็บออมไว้จำนวนหนึ่ง จากการที่จำเลยเคยเดินทางไปทำงานที่ประเทศซาอุดิอารเบีย และจำเลยกู้ยืมเงินจากธนาคารโดยจำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 75882 และ 76883 ไว้เป็นหลักประกันเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2535 และที่ดินโฉนดเลขที่ 75875 จดทะเบียนจำนองเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2546 ที่ดินพิพาทพร้อมบ้านเดี่ยว 2 หลัง จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน แต่จำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยเปิดโรงงานเย็บผ้ามาก่อนที่จะอยู่กินฉันสามีภริยากับนายสวง จำเลยว่าจ้างรถรับจ้างเพื่อรับส่งเสื้อผ้า จึงรู้จักกับนายสวงซึ่งมีอาชีพขับรถรับจ้างตั้งแต่ปี 2533 และอยู่กินฉันสามีภริยาเมื่อปี 2534 จำเลยกับนายสวงย้ายภูมิลำเนาและย้ายโรงงานมาอยู่ที่อำเภอบางบัวทองเมื่อปี 2537 ได้ร่วมกันบริหารโรงงานโดยแบ่งงานกันทำ จำเลยซื้อที่ดินพิพาทเมื่อปี 2545 และต่อมาได้ร่วมกับนายสวงปลูกบ้าน 2 หลังบนที่ดินดังกล่าว เห็นว่า ขณะซื้อที่ดินพิพาทและปลูกบ้าน 2 หลัง จำเลยกับนายสวงได้ช่วยกันประกอบกิจการโรงงานเย็บผ้าแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส ดังนั้น ที่ดินพิพาทพร้อมบ้าน 2 หลัง จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับนายสวงทำมาหาได้ร่วมกัน จำเลยกับนายสวงจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการต่อมาว่า การจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยและนายสวงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ให้ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 142 (5) ข้อนี้จำเลยเบิกความรับว่า จำเลยจดทะเบียนหย่าและทำบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าโดยตกลงยกที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ 100/15 ให้แก่นายสวงบิดาโจทก์ แต่กระทำไปเพราะโมโหและประชดประชันที่นายสวงไปติดพันหญิงอื่น จำเลยไม่มีเจตนาที่จะหย่าและยกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทดังกล่าวให้แก่นายสวงแต่อย่างใด อีกทั้งนายสวงไม่มีเจตนาที่จะรับ เพราะนายสวงรู้ว่าตนเองมีความผิดที่ไปคบหาหญิงอื่น จึงไม่ไปแจ้งโอนหรือจดทะเบียนในที่ดินและบ้านจนกระทั่งนายสวงถึงแก่ความตาย และในชั้นพิจารณาก็ได้ความว่าหลังจากจดทะเบียนหย่าแล้ว จำเลยกับนายสวงก็ยังอยู่กินฉันสามีภริยากันต่อไป และจำเลยยังเป็นผู้ดูแลนายสวงที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง รวมทั้งรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จนนายสวง ถึงแก่ความตาย เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากทางนำสืบสอดคล้องกับข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวว่า ภายหลังจากที่จำเลยกับนายสวงจดทะเบียนหย่ากันแล้ว จำเลยกับนายสวงยังคงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาพักอาศัยอยู่ที่บ้านเดียวกัน ทั้งจำเลยยังเป็นผู้ดูแลนายสวงเมื่อยามเจ็บไข้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนกระทั่งนายสวงถึงแก่ความตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า การจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยกับนายสวงกระทำขึ้นโดยมีเจตนาที่จะไม่ประสงค์ให้ผูกพันตามนั้น จึงเป็นโมฆะใช้บังคับมิได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยจะเบิกความว่า เหตุที่จำเลยจดทะเบียนหย่าเพราะเหตุผลทางธุรกิจการค้าของจำเลย แตกต่างจากเหตุผลการหย่าในคำให้การก็ตาม ก็ไม่ทำให้ข้อต่อสู้ของจำเลยเสียไปเพราะเหตุผลการหย่าไม่ได้เป็นสาระสำคัญ สาระสำคัญอยู่ที่การแสดงเจตนา เมื่อการจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะ การสมรสยังคงมีอยู่ มีผลทำให้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเกี่ยวกับการยกที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่นายสวงจึงใช้บังคับมิได้ จำเลยอ้างความเป็นโมฆะดังกล่าวใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นทายาทรับมรดกของนายสวงที่จะต้องรับไปทั้งสิทธิและความรับผิดต่าง ๆ ได้ ประกอบกับโจทก์มิใช่บุคคลภายนอก อย่างไรก็ตาม ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาท เป็นทรัพย์สินที่นายสวงกับจำเลยทำมาหาได้ร่วมกัน จำเลยกับนายสวงจึงมีกรรมสิทธิ์คนละกึ่งหนึ่ง เมื่อนายสวงถึงแก่ความตาย ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมของนายสวงจึงเป็นทรัพย์มรดกซึ่งตกทอดแก่จำเลยผู้เป็นภริยาและโจทก์ผู้เป็นบุตรซึ่งมีสิทธิรับมรดกของนายสวงคนละกึ่งหนึ่ง จำเลยนำทรัพย์พิพาทไปจำนองประกันหนี้หลังจากนายสวงตายไปแล้ว หนี้ดังกล่าวมิใช่หนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับนายสวง กองมรดกของนายสวงจึงไม่ต้องรับผิด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นสมควรให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 47731 เนื้อที่ 59 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 100/15 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโดยปลอดภาระจำนองนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งหมด แต่ได้ความว่าโจทก์มีสิทธิเพียงหนึ่งในสี่ส่วน จำเลยจึงมีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์หนึ่งในสี่ส่วนของที่ดินทั้งสองแปลงโดยปลอดภาระจำนอง หากจำเลยไม่อาจดำเนินการได้ไม่ว่าเพราะกรณีใด ๆ ให้โจทก์กับจำเลยตีราคาทรัพย์พิพาท แล้วให้จำเลยใช้ราคาแทนแก่โจทก์หนึ่งในสี่ส่วน แต่ทั้งนี้ให้โจทก์ได้รับไม่เกิน 750,000 บาท ตามคำขอของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 47731 และเลขที่ 168290 ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยปลอดภาระจำนองให้แก่โจทก์หนึ่งในสี่ส่วน โดยให้โจทก์จำเลยแบ่งทรัพย์สินกันเอง เมื่อไม่สามารถแบ่งได้ให้ประมูลราคาระหว่างกันเอง ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาด ได้เงินสุทธิเท่าใดให้แบ่งให้โจทก์หนึ่งในสี่ส่วน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 ทั้งนี้ให้ไม่เกินจำนวน 750,000 บาท ตามที่โจทก์ขอมาในฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป ภายหลังจากจำเลยกับ ส. จดทะเบียนหย่ากันแล้ว จำเลยกับ ส. ยังคงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาพักอาศัยอยู่ที่บ้านเดียวกัน ทั้งจำเลยยังเป็นผู้ดูแล ส. เมื่อยามเจ็บไข้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนกระทั่ง ส. ถึงแก่ความตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า การจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยกับ ส. กระทำขึ้นโดยมีเจตนาที่จะไม่ประสงค์ให้ผูกพันตามนั้น จึงเป็นโมฆะใช้บังคับมิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยจะเบิกความว่า เหตุที่จำเลยจดทะเบียนหย่าเพราะเหตุผลทางธุรกิจการค้าของจำเลย แตกต่างจากเหตุผลการหย่าในคำให้การก็ตาม ก็ไม่ทำให้ข้อต่อสู้ของจำเลยเสียไป เพราะเหตุผลการหย่าไม่ได้เป็นสาระสำคัญ สาระสำคัญอยู่ที่การแสดงเจตนา เมื่อการจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะ การสมรสยังคงมีอยู่ มีผลทำให้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเกี่ยวกับการยกที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้ ส. ใช้บังคับมิได้ จำเลยอ้างความเป็นโมฆะดังกล่าวใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นทายาทรับมรดกของ ส. ที่จะต้องรับไปทั้งสิทธิและความรับผิดต่าง ๆ ได้

สรุปสั้น ถือเป็นโมฆะตามป.พ.พ. 155

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments