Home คดีครอบครัว ฟ้องหย่าสามีที่ติดคุก มีวิธีการอย่างไร

ฟ้องหย่าสามีที่ติดคุก มีวิธีการอย่างไร

9436

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1516  เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

คำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11702/2555

เหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/1) ที่ว่า “สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

ต้องเป็นกรณีที่โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินสมควรในระหว่างระยะเวลาที่จำเลยต้องโทษจำคุกและได้ถูกจำคุกเกิน 1 ปี หากจำเลยพ้นโทษจำคุกแล้ว ถือไม่ได้ว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินสมควรเพราะเหตุจำเลยต้องถูกจำคุกอีกต่อไป

เมื่อคดีดังกล่าวจำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและต้องโทษจำคุกเป็นเวลาเกิน 1 ปีมาแล้ว โดยความผิดดังกล่าวโจทก์มิได้มีส่วนก่อให้เกิดหรือยินยอมรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ดังนั้นโจทก์ย่อมฟ้องจำเลยด้วยเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4/1) ได้ แต่โจทก์ฟ้องคดีหลังจากที่จำเลยถูกจำคุกเกิน 1 ปี และพ้นโทษมาแล้วเป็นเวลาถึง 5 ปี ดังนั้นความเสียหายหรือเดือดร้อนของโจทก์จึงยุติลงแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยโดยอาศัยเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/1)

ขั้นตอนและวิธีการโดยย่อ

ติดต่อทนายความเพื่อฟ้องหย่า–>คัดเอกสารหมายจำคุกและหมายคดีถึงที่สุด–>ควรทำในช่วงที่สามีติดคุก–> ยื่นฟ้องหย่า–>ให้การต่อสถานพินิจกรณีมีบุตร–>ตรวจสอบว่าจำเลยยื่นคำให้การภายในกำหนดหรือไม่–>ยื่นให้ชนะคดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การ–>สืบพยานฝ่ายเดียว–>ศาลพิพากษาให้หย่า ->รอคดีถึงที่สุด30วัน–>นำคำพิพากษาไปจดทะเบียนหย่า

คำแนะนำจากทนายความ

1.ควรฟ้องในช่วงที่สามีติดคุกเพราะมีความจำเป็นและความเดือดร้อน

2.ก่อนฟ้องควรไปคัดถ่าย คำพิพากษาหมายขังและคำสั่งคดีถึงที่สุด

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

คำพิพากษาศาลฎีกาย่อยาว

จทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา โจทก์และจำเลยต่างสละประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การอื่น คงติดใจพิพาทกันประเด็นเดียวว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุที่จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกิน 1 ปี ในความผิดที่โจทก์ไม่ได้มีส่วนก่อหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (4/1) หรือไม่

ก่อนสืบพยาน โจทก์ จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรีในความผิดฐานทำร้ายร่างกายและชิงทรัพย์เมื่อปี 2544 (ที่ถูก ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาถึงที่สุดฐานพยายามชิงทรัพย์เมื่อปี 2545) แล้วจำเลยพ้นโทษเมื่อกลางปี 2547 โดยโจทก์มิได้มีส่วนก่อให้เกิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลย ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องสืบพยาน จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานโจทก์และจำเลย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยให้เสร็จสิ้นแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2539 ต่อมาปี 2545 จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์ จำเลยพ้นโทษมาเมื่อกลางปี 2547 อันเป็นความผิดที่โจทก์มิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2552

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การวินิจฉัยได้แล้วว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยโดยอาศัยเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (4/1) หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (4/1) บัญญัติว่า “สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้” เมื่อคดีดังกล่าวจำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและต้องโทษจำคุกเป็นเวลาเกิน 1 ปีมาแล้ว โดยความผิดดังกล่าวโจทก์มิได้มีส่วนก่อให้เกิดหรือยินยอมรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ดังนั้นโจทก์ย่อมฟ้องจำเลยด้วยเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4/1) ได้ โดยคดีดังกล่าวพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2544 ศาลจังหวัดกาญจนบุรีจำคุกจำเลย 4 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ศาลจังหวัดกาญจนบุรีอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2545 และจำเลยรับโทษจนพ้นโทษมาตั้งแต่กลางปี 2547 ดังนั้น หากโจทก์ใช้เหตุฟ้องหย่าจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (4/1) โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตั้งแต่เมื่อจำเลยถูกลงโทษจำคุกเกิน 1 ปี คือ หลังจากวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2545 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2552 หลังจากที่จำเลยถูกจำคุกเกิน 1 ปี และพ้นโทษมาแล้วเป็นเวลาถึง 5 ปี ดังนั้น ความเสียหายหรือเดือดร้อนของโจทก์จึงยุติลงแล้ว ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่พิพากษาให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตามมาตรา 243 (3) (ข) ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 คำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบแล้ว

พิพากษากลับให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

Facebook Comments