อายุความ หมายถึง ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลในคดีแพ่ง หากเจ้าหนี้มิได้ฟ้องคดีต่อศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หนี้นั้นจะกลายเป็น “หนี้ที่ขาดอายุความ” ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้มีสิทธิปฏิเสธการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ตามป.พ.พ.มาตรา 193/9 และมาตรา 193/10

อย่างไรก็ตาม หากลูกหนี้มิได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะยกฟ้องโดยอ้างว่าหนี้ขาดอายุความแล้วไม่ได้ ตามป.พ.พ.มาตรา 193/29

ดังนั้น ปัญหาเรื่อง “อายุความ” ในคดีแพ่ง แม้จะเป็น “ปัญหาข้อกฎหมาย” แต่ก็มิใช่ “ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน” หากลูกหนี้มิได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะยกอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ ตามป.พ.พ.มาตรา 193/29 ประกอบป.วิ.แพ่ง มาตรา 142 (5)

ฎ.7191/2558 ปัญหาว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ ไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) แต่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองจะต้องให้การต่อสู้คดี ทั้งคำให้การในคดีส่วนแพ่งจำเลยทั้งสองต้องแสดงโดยชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสองยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ซึ่งตามคำให้การของจำเลยทั้งสองแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35 โดยอ้างเหตุว่าจำเลยทั้งสองทำหนังสือรับสภาพหนี้หลังจากผิดนัดชำระค่าเช่าหลายปีเช่นนี้ เป็นกรณีจำเลยทั้งสองให้การว่ารับสภาพความผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35 จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (3) ประกอบมาตรา 193/14 (1) และ 193/15 ศาลจึงไม่อาจหยิบยกอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (3) ขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดได้ เพราะเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากคำให้การของจำเลยทั้งสอง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

“อายุความ” เป็นคนละเรื่องกับ “อำนาจฟ้อง”
นอกจากนี้ ป.พ.พ. บรรพ 2 เรื่องหนี้ในหมวดว่าด้วย “ความระงับแห่งหนี้” มิได้บัญญัติรวมถึงหนี้ที่ขาดอายุความด้วยแต่อย่างใด ดังนั้น การที่หนี้ขาดอายุความจึงไม่ทำให้หนี้ระงับ กล่าวคือ แม้หนี้จะขาดอายุความแล้วหนี้นั้นยังคงมีอยู่จริง สอดคล้องกับป.พ.พ. มาตรา 193/28 ซึ่งกำหนดว่า การชำระหนี้เมื่อหนี้ขาดอายุความแล้ว ลูกหนี้จะเรียกคืนไม่ได้ เจ้าหนี้จึงมีสิทธินำหนี้ที่ขาดอายุความแล้วมาฟ้องคดีต่อศาลได้ โดยลูกหนี้มีสิทธิยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่าหนี้ขาดอายุความแล้วได้ ในกรณีที่ลูกหนี้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ หากศาลเห็นว่า หนี้ขาดอายุความจริง ศาลต้อง “ยกฟ้อง” โดยไม่จำต้องคำนึงลูกหนี้ค้างชำระหนี้หรือไม่

ฎ.6853/2538 โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยให้ทำการย่อยและขนส่งหินคลุกกองรายทางใช้สำหรับราดยางในทางหลวง ตามสัญญาดังกล่าวกำหนดให้จำเลยส่งมอบงานงวดที่ 1 ให้เสร็จภายในวันที่ 3 ตุลาคม 2522 และส่งมอบงานงวดที่ 2 ให้เสร็จภายในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2522 เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้มาตั้งแต่ครบกำหนดส่งมอบงานงวดที่ 1 คือ วันที่3 ตุลาคม 2522 จำเลยจึงผิดนัดตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและบังคับตามสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยได้นับแต่วันที่จำเลยผิดนัดดังกล่าว ดังนั้น อายุความจึงต้องเริ่มนับแต่ขณะที่โจทก์อาจจะบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 เดิม (มาตรา 193/12ที่แก้ไขใหม่) โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2532จึงเกินกำหนด 10 ปี คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 164 เดิม|มาตรา 193/30 ที่แก้ไขใหม่) จำเลยจึงมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ตามมาตรา 188 เดิม(มาตรา 193/10 ที่แก้ไขใหม่) ให้ยกฟ้องโจทก์
แต่ถ้าลูกหนี้มิได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะยกฟ้องโดยอ้างว่าหนี้ขาดอายุความแล้วไม่ได้ ศาลมีหน้าที่ต้องพิพากษาไปตามรูปคดี

สรุป หนี้ที่ขาดอายุความแล้วเจ้าหนี้มีสิทธินำมาฟ้องคดีต่อศาลได้ ส่วนลูกหนี้มีสิทธิให้การต่อสู้ว่าหนี้ขาดอายุความได้ หากศาลเห็นว่าหนี้ขาดอายุความจริงศาลต้องยกฟ้อง แต่ถ้าลูกหนี้ไม่ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะยกฟ้องโดยอ้างว่าหนี้ขาดอายุความไม่ได้ ศาลต้องพิพากษาไปตามรูปคดี

ปรึกษาทีมงานทนายความ
ทนายอธิป 061-939-9935
ทนายเบส 091-939-4249
ทนายหนึ่ง 084-444-8952
ทนายตี๋ใหญ่ 088-021-7716

Facebook Comments