ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1471 วางหลักว่า สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส

คำพิพากษาฎีกาที่ 3943/2561

การที่ผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทแล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทก่อนที่ผู้ร้องกับจำเลยจะจดทะเบียนสมรสกัน ย่อมถือได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องมีอยู่ก่อนสมรสและเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) ส่วนการที่ต่อมาผู้ร้องนำที่ดินพิพาทที่ซื้อได้กรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของไปจดทะเบียนจำนองประกันหนี้เงินกู้ก็เป็นสิทธิที่ผู้ร้องสามารถทำได้ และการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาจะร่วมผ่อนชำระด้วยก็เป็นเพียงการช่วยชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ผู้ร้องเท่านั้น กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกับผู้ร้องในที่ดินพิพาท

บ้านพิพาทบนที่ดินพิพาทเป็นบ้านตึกสองชั้นที่ก่อสร้างขึ้นใหม่แทนบ้านหลังเดิมที่เป็นบ้านตึกชั้นเดียว แต่ยังคงใช้เลขที่บ้านเดิม และด้วยเงินที่ได้มาระหว่างสมรสของผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 และผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ใช้บ้านหลังดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยร่วมกัน พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าบ้านพิพาทก่อสร้างขึ้นโดยได้รับความยินยอมและอยู่ในความรู้เห็นของผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท อันถือได้ว่าเข้าข้อยกเว้นในกรณีที่ผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธิปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 และไม่ถือว่าบ้านพิพาทเป็นทรัพย์ส่วนควบของที่ดินอันตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องแต่ผู้เดียว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 หากแต่บ้านพิพาทเป็นสินสมรสไม่ใช่สินส่วนตัว จึงยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันของจำเลยที่ 1 กับผู้ร้อง

สรุป

ที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของสามี เมื่อสามีนำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองประกันหนี้เงินกู้ของตน โดยมีภริยาร่วมผ่อนชำระด้วย ถือว่าการช่วยผ่อนชำระนั้นเป็นเพียงการช่วยชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สามีเท่านั้น ดังนี้ ที่ดินสินส่วนตัวของสามีจึงยังคงเป็นสินส่วนตัวอยู่ดังเดิม ไม่กลับกลายเป็นสินสมรสแต่อย่างใด

ปรึกษาทีมงานทนายความ
ทนายอธิป 061-939-9935
ทนายเบส 091-939-4249
ทนายหนึ่ง 084-444-8952
ทนายไผ่ 095-781-9477
ทนายตี๋ใหญ่ 088-021-7716

Facebook Comments