กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 887 อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ

บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่ ในคดีระหว่างบุคคลผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัยนั้น ท่านให้ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย

อนึ่ง ผู้รับประกันภัยนั้นแม้จะได้ส่งค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว ก็ยังหาหลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลผู้ต้องเสียหายนั้นไม่ เว้นแต่ตนจะพิสูจน์ได้ว่าสินไหมทดแทนนั้นผู้เอาประกันภัยได้ใช้ให้แก่ผู้ต้องเสียหายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3444/2527

สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 คู่กรณีมีเจตนามุ่งหมายที่จะระงับข้อพิพาทที่จำเลยที่ 2 มีหน้าที่จะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายร่วมกับจำเลยที่ 1 ใน ฐานะที่เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้าง จึงมีผลให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 2 ในมูลละเมิดระงับสิ้นไปโดยโจทก์ได้สิทธิเรียกร้องใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นจำเลยที่ 3 มิได้ร่วมลงชื่อด้วยจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงยังต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยต่อโจทก์จนกว่าโจทก์จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยครบถ้วนตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
โจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงประนีประนอมยอมความกันโดยโจทก์ยอมรับค่าเสียหายเพียง 17,500 บาท จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนซึ่งจะต้องรับผิดต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ย่อมได้รับประโยชน์จากสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวด้วยจำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 17,500 บาท

กล่าวโดยสรุป

การทำสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมเป็นการก่อหนี้ขึ้นมาใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ถึงแม้ผู้รับประกันภัยมิได้รู้เห็นกับสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น แต่ผู้รับประกันภัยยังต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเช่นเดิม แต่รับผิดไม่เกินจำนวนเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น

หากเป็นกรณีผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็น ( นายจ้าง ) มิได้เป็นผู้ทำสัญญาประนีประนอมกับบุคคลภายนอก แต่ ( ลูกจ้าง ) ของผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้ทำละเมิดนั้นได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอก เช่นนี้ ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นนายจ้างนั้นหลุดพ้นความรับผิด เพราะหนี้ละเมิดที่นายจ้างจะต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างได้ระงับไปโดยสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นแล้ว

ปรึกษาทีมงานทนายความ
ทนายอธิป 061-939-9935
ทนายเบส 091-939-4249
ทนายหนึ่ง 084-444-8952
ทนายไผ่ 095-781-9477
ทนายตี๋ใหญ่ 088-021-7716

Facebook Comments