Home คดีครอบครัว ให้ข้อมูลในระหร่างที่ถูกคุมขัง สามารถขอลดโทษตามมาตรา 100/2ได้หรือไม่

ให้ข้อมูลในระหร่างที่ถูกคุมขัง สามารถขอลดโทษตามมาตรา 100/2ได้หรือไม่

2486

ให้ข้อมูลในระหร่างที่ถูกคุมขัง สามารถขอลดโทษตามมาตรา 100/2ได้หรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 ริบเมทแอมเฟตามีนและกระเป๋าสะพายสีเทาของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต และปรับคนละ 1,000,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 (ที่ถูก ประกอบมาตรา 53) คงจำคุกคนละ 25 ปี และปรับคนละ 500,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้กักขังแทนค่าปรับเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนและกระเป๋าสะพายสีเทาของกลาง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 1 ปรับบทลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 ด้วย ให้ลงโทษจำคุก 45 ปี และปรับ 800,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 22 ปี 6 เดือน และปรับ 400,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 นายสังวาล บิดาของจำเลยที่ 1 แจ้งต่อร้อยตำรวจโทรัฐพล เจ้าพนักงานตำรวจประจำกองกำกับการ 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 3 ว่า นายสังวาลได้ไปเยี่ยมจำเลยที่ 1 ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง จำเลยที่ 1 แจ้งต่อนายสังวาลว่า นายอาร์ท ไม่ทราบชื่อและนามสกุลจริง เครือข่ายของจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์จำหน่ายยาเสพติดให้แก่ลูกค้าในเขตจังหวัดนครราชสีมา และให้นายสังวาลแจ้งข้อมูลดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ร้อยตำรวจโทรัฐพลจึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ แล้วได้รับคำสั่งให้สืบสวนสอบสวนจนทราบว่านายอาร์ทมีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายยาเสพติดให้โทษที่ซอยหอพัก 30 กันยา ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาร้อยตำรวจโทรัฐพล จับกุมนายอาร์ทได้พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 400 เม็ด เป็นของกลาง ตามบันทึกการจับกุม มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ อันเป็นเหตุให้ลงโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ผู้ที่จะได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ต้องเป็นกรณีที่ผู้กระทำความผิดโดยตรงเป็นผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญ ซึ่งต้องตีความอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นหากมีผู้ใดซึ่งมิใช่ผู้กระทำความผิดให้ข้อมูลสำคัญต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ผู้กระทำความผิดก็ง่ายที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อขอรับประโยชน์ในการขอลดโทษได้ คดีนี้บิดาของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญต่อเจ้าพนักงานตำรวจ แม้บิดาจำเลยที่ 1 รับข้อมูลมาจากจำเลยที่ 1 ก็ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ของบทบัญญัติดังกล่าวนั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจโดยตรง แต่การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้แจ้งข้อมูลให้แก่นายสังวาลบิดาของจำเลยที่ 1 เพื่อให้นำข้อมูลดังกล่าวไปแจ้งต่อร้อยตำรวจโทรัฐพล จนสามารถจับกุมนายอาร์ทได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 400 เม็ด ตามข้อมูลที่จำเลยที่ 1 แจ้งต่อนายสังวาล พอถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผู้กระทำความผิดเป็นผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ระหว่างฎีกาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ.2559 ใช้บังคับ โดยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 30 และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งมาตรา 30 ที่แก้ไขใหม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงต้องใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองไม่ว่าทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

สรุป คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ส. บิดาของจำเลยที่ 1 แจ้งต่อร้อยตำรวจโท ร. ว่า ได้ไปเยี่ยมจำเลยที่ 1 ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางแล้วจำเลยที่ 1 แจ้งต่อ ส. ว่า อ. เครือข่ายของจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์จำหน่ายยาเสพติดให้แก่ลูกค้าในเขตจังหวัดนครราชสีมา และให้ ส. แจ้งข้อมูลดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ร้อยตำรวจโท ร. จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และได้รับคำสั่งให้สืบสวนสอบสวน ต่อมาร้อยตำรวจโท ร. จับกุม อ. ได้พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 400 เม็ด เป็นของกลาง เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจโดยตรง แต่การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้แจ้งข้อมูลให้แก่ ส. บิดาของจำเลยที่ 1 เพื่อให้นำข้อมูลดังกล่าวไปแจ้งต่อร้อยตำรวจโท ร. จนสามารถจับกุม อ. ได้ตามข้อมูลที่จำเลยที่ 1 แจ้ง พอถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผู้กระทำความผิดเป็นผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 แล้ว

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments