Home คดีอาญา เหตุผลใดที่ศาลฎีกา ตัดสินยกฟ้องวินิจฉัยว่าไม่ผิดรับของโจร เพราะเหตุใด

เหตุผลใดที่ศาลฎีกา ตัดสินยกฟ้องวินิจฉัยว่าไม่ผิดรับของโจร เพราะเหตุใด

5527

เหตุผลใดที่ศาลฎีกา ตัดสินยกฟ้องวินิจฉัยว่าไม่ผิดรับของโจร เพราะเหตุใด

ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  357  วรรคแรก วางหลักไว้ว่า “ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๒๗ วรรคสอง วางหลัก       ไว้ว่า “เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย”

        องค์ประกอบความผิดฐานรับของโจร

องค์ประกอบความผิดฐานรับของโจรที่สำคัญ จะต้องเป็นการกระทำโดยเจตนา กล่าวคือ ผู้กระทำผิดจะต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 วรรคสาม ว่าทรัพย์ที่ได้มานั้นเป็นทรัพย์ที่ได้มาจาก        การกระทำความผิด ไม่ใช่ว่าแค่ทรัพย์ของผู้อื่นมาอยู่ในครอบครองของเราแล้วจะเป็นการรับของโจรในทันที กล่าวคือ จะต้องรู้ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นของโจร หากไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด ถือว่าขาดเจตนาในทางกฎหมายอาญา        จะไม่เป็นความผิด  การจะรู้หรือไม่รู้ข้อเท็จจริง หรือ มีเจตนารับของโจรหรือไม่นั้น         มีหลักในการพิจารณาหลายประการ โดยจะพิจารณาจากพฤติการณ์ต่าง ๆ ยกตัวอย่าง เช่น การรับซื้อหรือรับจำนำทองคำ  หากได้รับซื้อหรือรับจำนำตามราคาปกติทั่วไป , การรับซื้อรถมอเตอร์ไซค์ หากไม่พบว่ามีรอยมีร่องรอยการโจรกรรม ไม่มีรอยงัดเบ้ากุญแจ และเป็นราคาที่ขายทั่วไปในท้องตลาด พร้อมทั้งมีสมุดคู่มือทะเบียนมาแสดง, การรับซื้ออาวุธปืน หากไม่มีการขูดลบเลขทะเบียน  และมีเอกสารทางทะเบียนมาแสดงถูกต้อง เป็นต้น  กรณีดังกล่าวผู้ที่รับซื้อหรือรับทรัพย์นั้นมาย่อมไม่รู้ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นของที่ได้มาโดยผิดกฎหมาย แม้ว่าจริงๆ แล้ว เป็นของที่ได้มาจากการกระทำผิดกฎหมายก็ตาม  ก็ถือได้ว่าไม่มีความผิดรับของโจร

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14359/2558

ในคดีความผิดฐานรับของโจรนั้น โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลย           รับทรัพย์ของกลางไว้ โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ ไม่ใช่ว่าเมื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ของกลางนั้น จำเลยจะต้องนำสืบแก้ตัวว่าตนไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด  เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยรับแหวนทองฝังเพชรรูปข้าวหลามตัด 1 วง กล่องทองเหลืองรูปทรงกลมมีข้อความ “นครหลวงไทย” 3 กล่อง ตะกรุด 4 อัน และพระเครื่อง 50 องค์ ของกลาง โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ลำพังคำรับของจำเลยที่ว่าจำเลย ได้ซื้อทรัพย์สินดังกล่าวมาจากชายคนหนึ่ง และคำรับของจำเลยตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ก็เป็นเพียงพยานบอกเล่า แต่จำเลยก็ได้ให้การปฏิเสธในชั้นศาลว่าจำเลยไม่รู้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด พยานหลักฐานโจทก์      จึงยังมีข้อสงสัยอยู่ตามสมควรว่า จำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจรหรือไม่            ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง

สรุปได้ว่า เนื่องจากโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยได้รู้ว่ารับทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย จำเลยไม่มีความผิดรับของโจร

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments