Home บทความคดีแพ่ง เปิดจุดสู้คดีจำเลยในชั้นอุทธรณ์ฎีกา ในคดีความผิดตามพรบ.เช็คมีอะไรบ้าง

เปิดจุดสู้คดีจำเลยในชั้นอุทธรณ์ฎีกา ในคดีความผิดตามพรบ.เช็คมีอะไรบ้าง

861

เปิดจุดสู้คดีจำเลยในชั้นอุทธรณ์ฎีกา ในคดีความผิดตามพรบ.เช็คมีอะไรบ้าง

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันเวลาใดไม่ปรากฎชัด จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเยาวราช รวาม 2 ฉบับ ลงวันที่ 31 มกราคม 2541 จำนวน 571,246 บาท และ ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2541 จำนวน 531,190 บาท ตามลำดับเพื่อชำระหนี้ค่าเคมีภัณฑ์ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที.ที.ซี. เพ้นท์ ซื้อไปจากโจทก์ ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ครั้นเช็คถึงกำหนดโจทก์นำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินทั้ง 2 ฉบับ อันเป็นการออกเช็คโดยเจตนามิให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น เหตุเกิดที่แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 เดือน 15 วัน รวาม 2 กระทง จำคุก 3 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวโดยสรุปได้ความว่า จำเลยลงมือชื่อออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าเคมีภัณฑ์ซึ่งสินค้าดังกล่าวห้างหุ้นส่วนจำกัด ที.ที.ซี. เพ้นท์ เป็นผู้ซื้อจากโจทก์กับบรรยายว่า หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและสามารถบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คพิพาททั้งสองฉบับถึงกำหนดชำระเงิน โจทก์นำเข้าเรียกเก็บ แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายทำให้เกิดเป็นความผิดขึ้นจึงเป็นฟ้องที่กล่าวถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมาย อันมีความหมายว่าจำเลยต้องร่วมกับบุคคลอื่นกระทำความผิดด้วยจึงจะเป็นความผิดและทำให้จำเลยหลงข้อต่อสู้นั้น เห็นว่า ที่ฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยร่วมกันกระทำความผิด แม้จะฟังว่าต้องมีบุคคลอื่นร่วมกระทำความผิดด้วย ทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าจำเลยร่วมกันกระทำความผิดกับผู้ใด ก็เป็นเพียงความผิดหลงเล็กน้อย ไม่ทำให้จำเลยหลงต่อสู้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยว่าเหตุใดจำเลยจึงออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์และเหตุใดจำเลยจึงต้องออกเช็คดังกล่าวชำระหนี้แทนห้างหุ้นส่วนจำกัด ที.ที.ซี. เพ้นท์ จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบพิสูจน์ในชั้นพิจารณาได้ไม่จำต้องบรรยายมาในคำฟ้องแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม

มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สองตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดและต้องรับผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เช็คพิพาททั้งสองฉบับตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.14 มีจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย เช็คทั้งสองฉบับระบุจำนวนเงินตรงตามสำเนาใบส่งสินค้าเอกสารหมาย จ.5 และ จ.13 และระบุวันสั่งจ่ายล่วงหน้าเป็นเวลาภายหลังครบกำหนด 90 วัน นับแต่วันส่งมอบสินค้าตามที่ตกลงกันในสำเนาใบส่งสินค้าเอกสารหมาย จ.5 และ จ.13 อันเป็นการผ่อนผันให้เวลาแก่ลูกค้าของโจทก์ที่สามารถชำระหนี้ได้ภายใน 90 วัน เมื่อเช็คพิพาททั้งสองฉบับถึงกำหนดชำระ โจทก์นำไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงินทันทีตามวันที่ลงในเช็ค แสดงให้เห็นถึงคู่กรณีทั้งสองฝ่ายอันได้แก่โจทก์และจำเลยว่าประสงค์ที่จะปฏิบัติการชำระหนี้ที่มีต่อกันให้สำเร็จลุล่วงไปซึ่งเป็นการปฏิบัติตามประเพณีการค้าขายตามปกติทั่วไปอีกทั้งจำเลยก็หาได้เป็นบุคคลภายนอกในกิจการซื้อขายสินค้าในครั้งนี้แต่อย่างใด แม้ว่าจำเลยไม่ได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนจำกัด ที.ที.ซี. เพ้นท์ ที่เป็นคู่สัญญาซื้อขายสินค้าครั้งนี้กับโจทก์แต่ก็เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.3 จึงถือได้ว่ามีความเกี่ยวข้องในกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว และน่าจะรู้เห็นความเป็นไปในกิจการตลอดจนการซื้อขายครั้งนี้ ดังนั้นการที่จำเลยจะเป็นผู้ออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพื่อชำระหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดที่ตนเป็นหุ้นห่วนคนหนึ่ง จึงไม่ใช่เป็นเรื่องผิดปกติวิสัยนัก ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าตามสำเนาใบส่งสินค้าเอกสารหมาย จ.5 และ จ.13 จริง จึงเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย หาใช่เป็นเช็คค้ำประกันไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีนายเผด็จ หุ้นส่วนผู้จัดการมาเบิกความเป็นพยานจำเลยยืนยันว่า เช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นเช็คค้ำประกัน เพราะพยานเป็นผู้ไปขอยืมเช็คจากจำเลยมาค้ำประกันหนี้ให้โจทก์ก็ดี เป็นผู้ลงวันที่สั่งจ่ายและจำนวนเงินในเช็คพิพาททั้งสองฉบับด้วยตนเองก็ดีหรือเป็นผู้โอนเงินชำระหนี้ให้โจทก์ก่อนเช็คถึงกำหนดก็ดี นั้น ปรากฎว่าในช่วงต้นปี 2541 ขณะมีการสั่งซื้อสินค้าครั้งนี้ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที.ที.ซี. เพ้นท์ ยังมีนายวิฑูรย์ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.3 ที่ออกให้โดยสำนักงานทะเบียนหุ้นบริษัทกรุงเทพมหานคร ระบุว่าออกให้เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2541 ฉะนั้นที่นายเผด็จเบิกความว่า ตนเข้ามาบริหารงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งนี้ตั้งแต่ต้นปี 2540 จึงไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น คำเบิกความของนายเผด็จจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง คำเบิกความของจำเลยปากเดียวที่กล่าวอ้างลอยๆ จึงไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า หนี้ตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับ โจทก์ได้รับชำระหนี้บางส่วนแล้วรวมเป็นเงิน 600,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 ทำให้มูลหนี้ตามเช็คพิพาทมีไม่ครบตามจำนวนเงินที่ลงในเช็คทำให้ขาดองค์ประกอบความผิดนั้น เห็นว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 เกิดขึ้นเมื่อมีการนำเช็คไปเรียกเก็บเงินและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้นหาได้เกี่ยวข้องกับการชำระเงินตามเช็คซึ่งเป็นคนละกรณีกันแต่อย่างใดการที่จำเลยกล่าวอ้างว่ามีการชำระหนี้บางส่วนตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับก่อนหรือหลังเช็คถึงกำหนด ไม่ทำให้ความผิดที่เกิดขึ้นแล้วไม่เป็นความผิด”

พิพากษายืน

สรุป

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยลงลายมือชื่อออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าเคมีภัณฑ์ ซึ่งสินค้าดังกล่าวห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. เป็นผู้ซื้อจากโจทก์ กับบรรยายว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและสามารถบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดโจทก์นำเข้าเรียกเก็บ แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงเป็นฟ้องที่กล่าวถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมกันกระทำความผิด แม้จะฟังว่าต้องมีบุคคลอื่นร่วมกระทำความผิดด้วย ทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าจำเลยร่วมกันกระทำความผิดกับผู้ใด ก็เป็นเพียงความผิดหลงเล็กน้อยไม่ทำให้จำเลยหลงต่อสู้ ส่วนที่ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยว่าเหตุใดจำเลยจึงออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ และเหตุใดจำเลยจึงต้องออกเช็คดังกล่าวชำระหนี้แทนห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบพิสูจน์ในชั้นพิจารณาได้ ไม่จำต้องบรรยายมาในคำฟ้อง ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม

ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 เกิดขึ้นเมื่อมีการนำเช็คไปเรียกเก็บเงินและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน มิได้เกี่ยวข้องกับการชำระเงินตามเช็คซึ่งเป็นคนละกรณีกัน การที่มีการชำระหนี้บางส่วนตามเช็คพิพาทก่อนหรือหลังเช็คถึงกำหนด ไม่ทำให้ความผิดที่เกิดขึ้นแล้วไม่เป็นความผิด

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานนคร สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ
สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ ถนนร่มเกล้า ซอย10 แขวง เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร
หมู่บ้านศุภาลัย พาร์ควิลล์3 ซอย4 (อยู่ระหว่างซอย10 และซอย 8)
บ้านเลขที่ 290/221 โทร 0899811406 ครับ
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://www.byslaw.com/
Facebook Comments