Home บทความคดีแพ่ง ความหมายของการฉ้อโกงประชาชน ตามคำพิพากษาศาลฎีกา

ความหมายของการฉ้อโกงประชาชน ตามคำพิพากษาศาลฎีกา

1525

ความหมายของการฉ้อโกงประชาชน ตามคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15505/2553

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายญา มาตรา 91, 341, 343 และให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 5,000 บาท ผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 25,000 บาท ผู้เสียหายที่ 5 จำนวน 3,000 บาท และผู้เสียหายที่ 6 จำนวน 6,000 บาท

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพในข้อหาฉ้อโกง แต่ปฏิเสธในข้อหาฉ้อโกงประชาชน

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 6 กระทง เป็นจำคุก 18 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาฉ้อโกง เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เป็นจำคุก 12 ปี ที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายทั้งหกนั้น เนื่องจากจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความจ่ายเงินคืนแก่ผู้เสียหายทั้งหกแล้ว จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ก่อนฎีกาข้ออื่น โดยจำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายเป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองและเป็นผู้พลัดถิ่นจึงไม่อยู่ในความหมายของคำว่าประชาชนทั่วไป และจำเลยแจ้งในที่ประชุมว่าหากใครอยากได้บัตรประจำตัวประชาชนให้เสียเงินแก่จำเลย 5,000 บาท เป็นการเจรจาชวนเชื่อไม่ได้ประกาศแก่ประชาชนทั่วไป จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนหรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน” คำว่า “ประชาชน” หมายถึงบุคคลทั่วไปไม่จำกัดตัวว่าเป็นผู้ใด แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งหกซึ่งเป็นคนต่างด้าวและคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านซึ่งจำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น โดยคนต่างด้าวดังกล่าวได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยชั่วคราว แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาหลอกลวงเฉพาะคนต่างด้าวกลุ่มดังกล่าวเท่านั้น อันเป็นการจำกัดตัวผู้ถูกหลอกลวงว่าเป็นผู้ใดมิใช่หลอกลวงบุคคลทั่วไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 คงมีความผิดตามมาตรา 341 ตามที่จำเลยให้การรับสารภาพเท่านั้น ซึ่งความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของผู้เสียหายทั้งหกว่าจำเลยได้ชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายทั้งหกแล้ว และผู้เสียหายทั้งหกไม่ติดใจดำเนินคดีนี้แก่จำเลยอีก ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ถือเป็นการยอมความตามกฎหมาย ดังนี้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยอีกเพราะไม่มีผลให้คำพิพากษานี้เปลี่ยนแปลง

พิพากษาแก้เป็นว่ให้ยกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก จำหน่ายคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 จากสารบบความและยกคำขอให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายทั้งหก

สรุป หลอกลวงเฉพาะกลุ่มไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน และคดีนี้จำเลยชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายด้วยน

ปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานนคร สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ
สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ ถนนร่มเกล้า ซอย10 แขวง เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร
หมู่บ้านศุภาลัย พาร์ควิลล์3 ซอย4 (อยู่ระหว่างซอย10 และซอย 8)
บ้านเลขที่ 290/221 โทร 0899811406 ครับ
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://www.byslaw.com/
Facebook Comments