Home ข่าวสาร จุดที่ศาลฎีกาใช้พิจารณาอายุความในคดีรับเหมาก่อสร้าง พิจารณาจากเหตุใดบ้าง

จุดที่ศาลฎีกาใช้พิจารณาอายุความในคดีรับเหมาก่อสร้าง พิจารณาจากเหตุใดบ้าง

1065

จุดที่ศาลฎีกาใช้พิจารณาอายุความในคดีรับเหมาก่อสร้าง พิจารณาจากเหตุใดบ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22850/2555

โจทก์บรรยายฟ้องว่า ตามสัญญาจ้างเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้าบกระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 5 ข้อ 4 เกี่ยวกับการส่งมอบงานงวดที่ 3 อันเป็นงวดสุดท้าย คู่สัญญาทั้งผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างต้องมีการทดลองระบบทุกระบบที่ติดตั้งให้คณะกรรมการตรวจการจ้างรับว่าใช้ราชการได้ดี แต่ในการตรวจรับงานงวดที่ 3 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ได้ทำการทดลองทุกระบบ รวมทั้งไม่ได้ทดลองจ่ายไฟฟ้าบกให้แก่เรือรบหลวงตามสัญญาอันจะทำให้ทราบว่าระบบไฟฟ้าบกใช้ราชการได้ดีหรือไม่ และต่อมาเมื่อมีการใช้ระบบไฟฟ้าบกแก่เรือรบหลวง ปรากฏว่าไม่สามารถใช้ได้ตามสัญญา เป็นเหตุให้เรือรบหลวง 5 ลำ ต้องเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในเรือซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น ค่าบำรุงรักษา และค่าสึกหรอของเครื่องยนต์กำเนิดไฟฟ้าสูงกว่าการใช้ระบบไฟฟ้าบกเป็นเงิน 4,591,790.07 บาท นั้น เห็นได้ว่า คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 5 ปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้าบกไม่ครบถ้วน และไม่มีประสิทธิภาพตามสัญญา อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญา และเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากเหตุที่ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างทำของ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงเป็นกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ที่บัญญัติให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี โดยสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องดังกล่าวมิใช่สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 5 รับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องในตัวทรัพย์อันจะมีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 601 แต่อย่างใด ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์รับมอบงานจากจำเลยที่ 5 ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2531 วันดังกล่าวจึงเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้จากการที่จำเลยที่ 5 ผิดสัญญา การที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 5 เพราะเหตุปฏิบัติผิดสัญญาต่อโจทก์ในวันที่ 25 กันยายน 2540 จึงไม่ขาดอายุความ

โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 5 ให้ติดตั้งระบบไฟฟ้าบกก็เพื่อให้สามารถส่งกระแสไฟฟ้าจากภาคพื้นดินให้แก่เรือรบหลวงที่จอดเทียบท่าเทียบเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ ทำให้เรือรบหลวงนั้นไม่ต้องใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้ต้องสิ้นเปลืองค่าน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น และเครื่องยนต์สึกหรอ และงานการติดตั้งระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าตามรูปแบบที่กำหนดตามสัญญาดังกล่าวก็มีรายละเอียดมาก ทั้งงานทั้งระบบก็มีมูลค่าค่าจ้างสูงถึง 5,600,000 บาท ย่อมมีเหตุผลที่โจทก์จะต้องตรวจสอบระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งหมดให้ใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ในการจ้างติดตั้งระบบไฟฟ้าบกดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพสมบูรณ์ โดยมีการกำหนดเป็นข้อสัญญาว่า ต้องมีการทดลองระบบไฟฟ้าที่ติดตั้งทุกระบบ ให้คณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจสอบและรับว่าใช้ราชการได้ดีด้วยนั้นเป็นข้อสำคัญที่จำเลยที่ 5 ต้องปฏิบัติตามข้อสัญญานี้ โดยต้องทดลองในสภาพเช่นเดียวกับการใช้งานจริงตามวัตถุประสงค์ของสัญญาที่มีการจ่ายกระแสไฟฟ้าผ่านระบบนี้ให้แก่เรือรบหลวงด้วย มิใช่เพียงทดลองตรวจสอบระบบที่ติดตั้งโดยไม่ต้องทดลองจ่ายไฟฟ้าแก่เรือรบหลวงดังที่จำเลยที่ 5 ให้การแต่อย่างใด จำเลยที่ 5 มิได้ทดลองจ่ายไฟฟ้าตามระบบที่ติดตั้งนี้ให้แก่เรือรบหลวงที่จอดเทียบท่าเทียบเรือแหลมเทียนว่าใช้งานได้เรียบร้อยดีหรือไม่ ย่อมเป็นการที่จำเลยที่ 5 ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามข้อสัญญาดังกล่าว อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาแล้ว

คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 363/2537 ของศาลทหารกรุงเทพ ซึ่งกองทัพเรือโจทก์ในคดีนี้เป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 โดยอัยการศาลทหารกรุงเทพดำเนินคดีแทนโจทก์ ดังนั้น โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในคดีอาญาจึงเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีนี้ และปัญหาข้อเท็จจริงในคดีอาญาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์คดีนี้หรือไม่ จึงเป็นประเด็นโดยตรงที่โจทก์นำมาฟ้องในทางแพ่งเป็นคดีนี้ ขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันรับผิดในมูลละเมิดอันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในคดีอาญาดังกล่าว และปรากฏตามคำพิพากษาคดีอาญาว่า มีการกล่าวอ้างและสืบพยานหลักฐานในปัญหาข้อเท็จจริงนี้แล้ว ซึ่งในที่สุดศาลทหารกรุงเทพก็ได้วินิจฉัยถึงสัญญาจ้างเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้าบกว่า คณะกรรมการตรวจการจ้างมีหน้าที่ต้องให้ผู้รับจ้างทดลองระบบทุกระบบรวมถึงการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่เรือด้วย และวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้รับจ้างไม่ได้ทดลองระบบทุกระบบต่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่ได้ทดลองจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่เรือ ทั้ง ๆ ที่ในวันตรวจรับงานมีเรือจอดที่ท่าเทียบเรือ การตรวจรับงานงวดที่ 3 ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นเหตุให้ทางราชการกองทัพเรือได้รับความเสียหาย และเมื่อคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามสิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดที่เกิดจากการกระทำความผิดอาญาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในคดีดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาซึ่งศาลทหารกรุงเทพได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพจึงย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในคดีนี้ และศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาของศาลทหารกรุงเทพดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 54 จึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จงใจกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ตามคำฟ้อง

สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการยื่นฟ้องคดีแพ่งคดีนี้ย่อมเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดอันมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 และ ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสาม ไม่ใช่มีกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือ 10 ปี นับแต่วันทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด

ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์นั้น ไม่ใช่กรณีที่ต้องถือข้อเท็จจริงตามคดีอาญาของศาลทหารกรุงเทพ หากแต่ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในทางแพ่งเกี่ยวกับความรับผิดในค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง และ ป.พ.พ. มาตรา 424

จำเลยที่ 5 ไม่ได้ทดลองจ่ายไฟฟ้าในระบบไฟฟ้าบกแก่เรือจริง แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ก็ยังยอมรับมอบงานและรับรองว่างานถูกต้องตามสัญญาอันเป็นการเอื้อต่อการปฏิบัติผิดสัญญาของจำเลยที่ 5 โดยมิชอบ จนเกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในเรือรบหลวงในช่วงเวลาที่ต้องตรวจสอบเหตุบกพร่องของระบบไฟฟ้าบกที่จำเลยที่ 5 รับจ้างโจทก์ติดตั้ง อันมีเหตุแห่งความเสียหายและลักษณะแห่งความเสียหายเดียวกัน ย่อมมีผลให้มีจำนวนค่าเสียหายจำนวนเดียวกัน โดยตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ก็ไม่มีเหตุที่ควรกำหนดค่าเสียหายแตกต่างกัน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท เช่นเดียวกับที่จำเลย ที่ 5 ต้องรับผิดจากการผิดสัญญา โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ผู้ร่วมกันทำละเมิดต้องรับผิดร่วมกันอย่างลูกหนี้ร่วม แต่สำหรับจำเลยที่ 5 แม้ต้องรับผิดในหนี้จำนวนเดียวแต่เป็นหนี้เงินซึ่งมิใช่หนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกกันชำระได้ ทั้งมูลเหตุแห่งความรับผิดในมูลละเมิดและการผิดสัญญาก็แตกต่างกัน จำเลยที่ 5 จึงมิใช่ลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 290

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2555)

  • มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายวิศวะ

    โทร 086-807-5928

    อ่านบทความเพิ่มเติม https://www.englawyers.com/

Facebook Comments